ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดหนังสือภาคประชาชน 2 ฉบับจี้ “นายกรัฐมนตรี” ไล่เรียงลงมายัน “ผู้ว่าฯ สงขลา” ให้ทบทวนกระบวนการศึกษา EHIA ที่พิกลพิการ พร้อมให้สั่งการยกเลิกการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่กำลังจะจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน ค.1 ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล เลขที่ 1 ม.2 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา เปิดเผย “MGR Online ภาคใต้” ถึงการเข้าร่วมกิจกรรมเดินจากโรงแรมบีพี สมิหลา บีช รีสอร์ต ไปยังศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ส่งผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.) ว่า ในส่วนของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล ได้มีหนังสือเรียกร้องให้ทบทวนกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (บ้านสวนกง) โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
ภายใต้ยุทธศาสตร์โครงการเชื่อมเส้นทางการคมนาคมสองฝั่งทะเล (อันดามัน-อ่าวไทย) หรือที่เรียกว่าโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ได้ทำการศึกษาและออกแบบการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบา จ.สตูล ท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จ.สงขลา และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งหมดนี้ได้มีการศึกษาออกแบบโครงการ และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ไปบ้างแล้ว หากแต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้มีการเสร็จสิ้นในกระบวนการทางกฎหมาย และในขณะนี้กำลังจะมีการจัดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ของท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง ในขณะที่มีความคิดเห็นแตกต่าง และคำถามต่างๆ ต่อโครงการทั้งหมดนี้หลายคำถาม และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนพอจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดทำโครงการทั้งหมดนี้ พบข้อบกพร่องจำนวนมาก จึงส่งผลให้ประชาชนชาวสตูล และสงขลามีการก่อตัวรวมกลุ่ม และออกมาแสดงท่าทีคัดค้านโครงการอย่างชัดเจนมากขึ้น ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.กระบวนการมีส่วนร่วมที่อ้างว่า มีการทำเวทีประชาพิจารณ์แล้ว เป็นการมีส่วนร่วมแท้จริงในทุกระดับขั้นตอนหรือไม่ และเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร 2.พบว่าผู้รับผิดชอบโครงการพยายามแยกส่วนโครงการนำเสนอให้ชาวสตูล และสงขลารับรู้ทีละเรื่อง และยังแยกศึกษาทีละโครงการ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคือ ชุดโครงการที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น ตามที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานนโยบายแลแผนสิ่งแวดล้อมการขนส่งจราจรทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า โครงการรถไฟจะไม่เกิดขึ้น ถ้ายังไม่มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2
3.การศึกษา EIA ของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ได้ทำไปแล้วก็การศึกษาที่ไม่รอบด้านทั่วถึง และมีข้อบกพร่องต่อการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ผิดพลาด ซึ่งอาจจะสร้างความคลาดเคลื่อนต่อแนวทางในการการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ได้ ซึ่งจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นในอนาคตระยะยาว และในเวลานั้น กรมเจ้าท่า ตลอดจนรัฐบาลต้องมีคำสั่งให้ทบทวนกระบวนการดังกล่าวเสียใหม่ 4.การเผยแพร่ และเปิดเผยข้อมูลในทุกโครงการไม่กระจายทั่วถึง เลือกที่จะเปิดข้อมูลเพียงบางด้านที่เป็นผลดีเท่านั้น และมีเจตนาปกปิดข้อมูลสำคัญ ทั้งยังทำให้กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง และยังมีเจตนาปล่อยให้มีการนำข้อมูลดังกล่าวนี้ไปเผยแพร่ผ่านกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ จนยิ่งสร้างความสับสนให้แก่สังคมทั่วไป และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนผู้เห็นต่างด้วยกันเอง และ 5.ไม่มีการประเมินการใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจอย่างละเอียดพอ นั่นหมายถึงความเสี่ยงการลงทุน และเสี่ยงต่อความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นหลังการก่อสร้างที่ยังไม่มีการคำนวณถึงความสูญเสียด้านอื่นๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในพื้นที่ไป
การออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าวของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ด้วยเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะทำเกิดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนสตูล และสงขลาในหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม หากแต่ในเอกสารโครงการกับไม่กล่าวถึงผลกระทบเหล่านี้แต่อย่างใด และที่สำคัญคือ การละเลยที่จะรับฟังความคิดความเห็นของภาคประชาชนในพื้นที่ และอาจจะมีแนวโน้มว่าในกระบวนการจัดการศึกษา EHIA ที่กำลังจะมีการดำเนินอยู่นี้ก็จะเป็นเวทีปิดที่อาจจะไม่เปิดกว้างให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และทั่วถึงจริง
เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล จึงมีความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาดังนี้ 1.ให้ระงับการจัดเวที ค.1 ศึกษา EHIA ของโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (บ้านสวนกง) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.2559 นี้ ไว้ก่อน 2.ให้ทบทวนกระบวนการจัดการศึกษา EHIA ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ซึ่งจะต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และจะต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มากกว่าขึ้น
“ข้อเสนอดังกล่าวนี้เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายความไม่เข้าใจของสังคมทั่วไป และเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งจากความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะหากมีการทำกระบวนการดังกล่าวอย่างถูกต้องโปร่งใส และตรงไปตรงมาแล้ว เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นเป็นไปด้วยดีแน่นอน” หนังสือของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล ระบุไว้ในตอนท้าย
ด้าน นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ เลขที่ 76/5 หมู่ที่ 11 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ทางสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ก็ได้ส่งหนังสือแจ้งขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (บ้านสวนกง) ต่อ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเช่นกัน โดยมีเนื้อหาสำคัญได้แก่
ด้วย อ.จะนะ เป็นอำเภอที่มีทรัพยากรที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย ควน ป่า นา เล คลอง และนกเขาชวาเสียงที่ติดอันดับโลก และกว่า 20 ปีที่ชุมชนชายฝั่งทะเลจะนะ ได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูจนทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ มีการทำอูหยำ สร้างบ้านให้ปลา ดูแลไม่ให้เครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายเข้ามาในพื้นที่ เช่น อวนลาก อวนรุน การทำโป๊ะ ซึ่งเป็นการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน และได้มีการทำข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะขึ้นมา โดยพบว่า ทะเลจะนะ มีปลาเศรษฐกิจ 94 ชนิด กุ้ง 12 ชนิด หมึก 7 ชนิด ปู 10 ชนิด หอย 21 ชนิด ที่สำคัญคือ ทะเลแห่งนี้มีสัตว์น้ำอนุรักษ์อย่างโลมา และเต่าทะเล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
อาหารทะเลสดๆ เหล่านี้คือ ความมั่นคงทางอาหารที่หล่อเลี้ยงให้คนสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงได้บริโภคได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงจะนะ ปีละไม่ต่ำกว่า 3 ร้อยล้านบาท ทั้งยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล
ฐานข้อมูลดังกล่าวได้มีการร่วมกันผลักดันให้ทะเลจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลา และอาเซียน และได้มีการลงนามปฏิญญาทะเลจะนะว่าด้วยการเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลาและอาเซียนขึ้นในวันที่ 31 มี.ค.2556 โดยการลงนามของตัวแทนผู้ว่าฯ สงขลา นายกเทศมนตรี ต.นาทับ รองนายก อบต.ตลิ่งชัน นายก อบต.สะกอม และเครือข่ายประชาชน จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งผู้ว่าฯ สงขลา ในขณะนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ระบบอาหาร จ.สงขลา ขึ้น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ภาครัฐเห็นความสำคัญต่อแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล
ในขณะที่รัฐบาลกำลังออกแบบให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมหนักในอนาคต ผ่านโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล อันประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 บ้านสวนกง ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ประตูสู่อุตสาหกรรมหนักทั้ง 2 จังหวัด โดยในวันที่ 15 ธ.ค.2559 นี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) ของโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 (บ้านสวนกง)
สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ในฐานะตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านที่ทำกิน และดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านสวนกง และแนวทะเลชายฝั่ง อ.จะนะ ตลอดถึงภาคประชาชนทั่วไป มีความเห็นว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 จะสร้างความเสียหายทั้งแหล่งทรัพยากร แหล่งรายได้ และฐานชีวิตบนวิถีวัฒนธรรมของผู้คนโดยรวมอย่างแน่นอน จึงขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนยกเลิกโครงการดังกล่าวตามเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ การพัฒนาใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องตั้งอยู่บนฐานศักยภาพของชุมชน และจะต้องเคารพความคิดความเห็นของประชาชนในพื้นที่ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเท่านั้น