xs
xsm
sm
md
lg

“ดาบตำรวจแห่งระนอง” เกษตรกรดีเด่นปี 55 ผู้เดินตามรอยเท้าพ่อ และอยู่อย่างพอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ด.ต.สมนึก โมราศิลป์ อยู่บ้านเลขที่ 1/9 บ้านห้วยปลิง หมู่ที่ 7 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ปี 2555 ผู้เดินตามรอยเท้าพ่อ กล่าวถึงอดีตว่า ก่อนจะถึงวันนี้ ตนรับราชการตำรวจ และเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด เมื่อปี 2543 เมื่อออกจากราชการก็หันมาทำสวน แรกเริ่มเข้าทำประโยชน์ในที่ดินผืนนี้ เดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จึงปรับปรุงดินแล้วปลูกไม้สน ในเนื้อที่ 80 ไร่ จนเวลาผ่านไป 8 ปี ตัดไม้สนขายได้ ส่วนต้นที่ไม่ได้ขนาดก็นำมาเผาถ่าน ซึ่งมีเตาเผาเอง 3 เตา ก็ได้เงินค่าขายไม้สน และจากการขายถ่านมาจำนวนหนึ่ง

จากนั้นก็เริ่มลงมือปลูกปาล์มน้ำมัน บนเนื้อที่แห่งนี้แทน ด้วยความที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ความรู้ด้านการเกษตรมีน้อย ทำให้ต้องแสวงหาความรู้ เข้ารับการอบรมด้านการเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ต่อมา ก็ได้ปลูกยางพารา และไม้ผล ได้แก่ มังคุด ลองกอง เงาะ ทุเรียน ปลูกผักพื้นบ้านทุกอย่างที่ชอบกิน ที่เหลือแจกจ่ายเพื่อนบ้าน พร้อมกับเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ซึ่งช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้
 

 
จากความขยันหมั่นเพียร ทำให้ปัจจุบันสวนของ ด.ต.สมนึก เต็มไปด้วยพืชเศรษฐกิจหลายชนิด มีการปลูกพืชเลียนแบบป่าธรรมชาติ และได้รับผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจมาก สร้างรายได้จนสามารถขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มรวมเบ็ดเสร็จ ปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว 100 ไร่ กว่า 2,200 ต้น เรียกได้ว่า การปลูกปาล์มน้ำมันของ ด.ต.สมนึก เป็นการปลูกแบบพี่เลี้ยงน้อง หมายความว่า ปาล์มน้ำมันแปลงแรกปฏิบัติดูแล บำรุงรักษาอย่างดี ก่อเกิดรายได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จนนำรายได้ไปเลี้ยงน้องรุ่น 2 และรุ่น 3 เป็นการขยายผลการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยอาศัยรายได้จากปาล์มน้ำมัน จึงเรียกว่า ปลูกปาล์มแบบพี่เลี้ยงน้อง

ด.ต.สมนึก บอกว่า การทำสวนต้องใช้หลักวิชาการผสมผสาน กับประสบการณ์ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ มีการบันทึกรายรับรายจ่าย และลดต้นทุนการผลิต เพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ เริ่มตั้งแต่การดูแล บำรุงรักษาด้วยการใส่ปุ๋ยเคมี ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ก่อนใส่ปุ๋ยเคมีจะนำดินไปวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารก่อน จากนั้นใส่ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน โดยการผสมปุ๋ยใช้เองโดยการใช้ปุ๋ยหมัก และกากทะลายปาล์มน้ำมันมาปรับปรุงบำรุงดิน
 

 
ส่วนการตัดแต่งทางใบจะตัดแต่งทุก 15 วัน แล้วนำไปวางในช่องว่างระหว่างต้นให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย และรักษาความชื้นให้แก่สวนปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ ได้นำรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กมาใช้งานในสวน ทั้งการตัดหญ้า การใส่ปุ๋ย การบรรทุกผลผลิตปาล์มน้ำมัน การบรรทุกปุ๋ยเข้าสวน ทำให้สะดวกรวดเร็ว เพื่อลดต้นทุนการผลิตด้านค่าแรงงาน

นอกจากนี้ รายได้ประจำที่ได้นั้นมาจากการเพาะชำต้นผักเหลียงจำหน่ายต้นละ 25 บาท ซึ่งปลูกอยู่ในร่องสวนปาล์ม จำนวน 2,000 ต้น ซึ่งรายได้แต่ละวันในการเก็บผักเหลียงขายกำละ 15 บาท สามารถเลี้ยงคนงานได้อย่างไม่เดือดร้อน
 

 
ด.ต.สมนึก บอกว่า ตนเองไม่เสพอบายมุขทุกชนิด กินในสิ่งที่ตนปลูก ปลูกในสิ่งที่ตนเองชอบกิน ที่เหลือแจกจ่าย เมื่อครั้งยังรับราชการตำรวจ จะออมโดยหย่อนใส่กระปุกออมสิน วันละ 50 บาท ปัจจุบันจะออมวันละ 150 บาท และนำเงินไปเป็นกองทุนให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนกู้ร้อยละ 1 บาท โดยดอกเบี้ยที่ได้จากเงินกู้จะนำซื้อของแจกจ่ายให้แก่เด็ก และผู้สูงอายุในชุมชนในโอกาสพิเศษ เช่น วันสงกรานต์ หรือนำไปทำนุบำรุงศาสนา

“ชีวิตผมไม่มีหนี้สิน อยู่อย่างพอเพียง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้มีเงินเหลือเก็บ และได้แบ่งปันให้แก่ผู้อื่น รู้สึกมีความสุขมาก” ด.ต.สมนึก กล่าว
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น