xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ชาวบ้านเมืองตรัง พลิกฟื้นสวนยางกว่า 6 ไร่ สร้างศูนย์การเรียนรู้ตามหลัก ศก.พอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรัง - อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ปราชญ์ชาวบ้านชื่อดัง พลิกฟื้นสวนยางกว่า 6 ไร่ สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงมากว่า 12 ปีแล้ว จนกลายเป็นบุคคลต้นแบบที่ต่อสู้ชีวิตในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ

วันนี้ (24 ต.ค.) นายวิรัตน์ กาญจพรหม อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ปราชญ์แห่งบ้านหนำควาย ต.นาท่ามเหนือ อ.เมือง จ.ตรัง ได้พลิกฟื้นพื้นที่สวนยางพารากว่า 6 ไร่ มาสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับตั้งแต่ปี 2547 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ด้วยใจรักส่วนตัว และความตั้งใจที่จะเผยแพร่ความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการเกษตรออกไปสู่สังคม กระทั่งประสบความสำเร็จ และกลายเป็นต้นแบบของบุคคลที่ต่อสู้ชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ

เพราะสิ่งที่อาจารย์คนนี้คิดทำ มิใช่แค่การเรียนรู้ภาคทฤษฎี แต่สามารถนำทุกอย่างมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติจริงจนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับตั้งแต่การปลูกพืชผักเสริมลงไปจนเต็มพื้นที่สวนยางพารา ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์นานาชนิด ส่งผลให้มีอาหารในการดำรงชีวิตประจำวัน และเหลือส่งขายเป็นอาชีพเสริม โดยไม่ต้องง้อรายได้จากยางพาราอย่างเดียวอีกต่อไป จนเป็นแบบอย่างที่ดีให้เกษตรกรที่สนใจมาเยี่ยมชมดูงานไม่ขาดสายในแต่ละวัน

พืชผักพื้นบ้านที่ปลูกแซมระหว่างต้นยางพารานั้น จะเน้นชนิดที่รับประทานได้ทุกวัน ส่วนสัตว์ที่เลี้ยง เช่น ปลา กบ ไก่ แพะ วัว ก็สามารถผสมผสานได้อย่างลงตัว โดยที่ยังคงกรีดยางพาราได้ตามปกติ แต่มีเงินไหลเข้ามาสู่ครอบครัว หรือวันไหนที่กรีดยางไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังกินอิ่ม เพราะผลผลิตจากพืช และสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากในชีวิตจริงของชาวใต้ ปีหนึ่งๆ จะกรีดยางได้แค่ 4 เดือนเท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือต้องเผชิญต่อปัญหาฝนตก และฝนแล้ง ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นจึงจะสามารถนำพาให้เกษตรกรอยู่รอดได้
 

กำลังโหลดความคิดเห็น