xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านหนำควาย” ต้นแบบสวนเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง ณ เมืองตรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นายวิรัตน์ กาญจพรหม อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง และปราชญ์แห่งบ้านหนำควาย ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง ได้พลิกฟื้นพื้นที่สวนยางพารากว่า 6 ไร่ ของครอบครัวมาสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นับตั้งแต่ปี 2547 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ด้วยใจรักส่วนตัว และความตั้งใจที่จะเผยแพร่ความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการเกษตรออกไปสู่สังคม กระทั่งประสบความสำเร็จ และกลายเป็นต้นแบบของบุคคลที่ต่อสู้ชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่ยางพารามีราคาตกต่ำอย่างมากเฉกเช่นทุกวันนี้
 

 
เพราะสิ่งที่เขาคนนี้คิดทำมิใช่แค่การเรียนรู้ภาคทฤษฎี แต่สามารถนำทุกอย่างมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติจริงจนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับตั้งแต่การปลูกพืชผักเสริมลงไปจนเต็มพื้นที่สวนยางพารา ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์นานาชนิด ส่งผลให้มีอาหารในการดำรงชีวิตประจำวัน และเหลือส่งขายเป็นอาชีพเสริม โดยไม่ต้องง้อรายได้จากยางพาราอย่างเดียวอีกต่อไป จนเป็นแบบอย่างที่ดีให้เกษตรกรที่สนใจมาเยี่ยมชมดูงานไม่ขาดสายในแต่ละวัน
 

 
พืชผักพื้นบ้าน และพืชผักสวนครัว ที่ปลูกแซมระหว่างต้นยางพารานั้น จะเน้นชนิดที่รับประทานได้ทุกวัน เช่น บวบหวาน ฟัก ผักหวาน ผักกูด ถั่วพู ตำลึง โดยเฉพาะผักเหลียง ที่มีอยู่ 300 ต้น ก็สามารถทำรายได้ให้แก่เจ้าของสวนตลอดทั้งปี ซึ่งล้วนเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีกระบวนการที่ปราศจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงในสวนแห่งนี้มากที่สุดก็คือ ปลาน้ำจืด ทั้งปลาดุก ปลาหมอ ปลานิล ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลาไหล และกบ
 

 
นอกจากนั้น ยังนำพื้นที่ที่ต้นยางพาราโตมากแล้วไปเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้เสริมสำหรับครอบครัว เช่น วัว แพะ ไก่ ห่าน ซึ่งก็สามารถผสมผสานทุกอย่างภายในสวนอย่างลงตัว โดยที่ยังคงกรีดยางพาราได้ตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอาหาร และเงินไหลเข้ามาสู่ครอบครัว หรือวันไหนที่กรีดยางไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังกินอิ่ม เพราะผลผลิตจากพืชผัก และสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากในชีวิตจริงของชาวใต้ ปีหนึ่งๆ จะกรีดยางได้แค่ 4 เดือน หรือ 120 วันเท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือต้องเผชิญต่อปัญหาฝนตก และฝนแล้ง
 

 
อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ท่านนี้เชื่อว่า ภาคใต้ยังคงต้องทำสวนยางพาราต่อไป เนื่องจากเป็นพืชที่เหมาะที่สุดแล้วต่อสภาพฝนตกชุก เพียงแต่เกษตรกรจะต้องปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเลิกพึ่งพารายได้จากสวนเท่านั้น โดยให้ทุกคนหันมาสร้างมูลค่าจากพื้นที่ว่างเปล่าในทุกๆ ตารางนิ้วที่มี ควบคู่กับการลดรายจ่ายจากการซื้อหาสินค้าที่ผลิตขึ้นเองได้ภายในครัวเรือน เช่น น้ำยางล้างจาน ขัดพื้น ยิ่งในยุคที่ยางพารามีราคาตกต่ำเช่นนี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นจึงจะสามารถนำพาให้เกษตรกรอยู่รอด
 

 
ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นการสืบสานตามพระราชปณิธาน และพระราชดำริของ “พ่อหลวง” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งทุกวันนี้ลูกทุกคนยังน้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
 








 

กำลังโหลดความคิดเห็น