ชุมพร - ผบ.มทบ.44 นำทัพลงลุยพื้นที่เอง ลุยสำรวจเชิงลึกเก็บข้อมูลแยกแยะผู้ยากจน หรืออยากจน แก้ปัญหาบุกรุกป่าพรุกระชิงกว่าพันไร่ ที่ยืดเยื้อมานานนับสิบปี
วันนี้ (4 ต.ค.) จากกรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนมณฑลทหารบก 44 (มทบ.44) เรื่องป่าชายเลนพรุกระชิง ซึ่งเป็นป่าพรุน้ำจืด มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ เป็นป่าชายเลนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2530 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2543 ให้เป็นป่าอนุรักษ์ทั้งหมดอยู่ในเขตหมู่ที่ 2, 3, 4, 5 ตำบลปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร แต่ที่ผ่านมา ถูกบุกรุกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้วกว่า 1 ไร่ ยังไม่มีการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จนชาวบ้านต้องร้องเรียนไปยังทหารยุค คสช.ดังกล่าว
กระทั่ง พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 ได้ตั้งชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ นำโดย พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว นายทหารยุทธโยธา พ.ต.สังคม รองมาลี นายทหารฝ่ายกิจการพลเรือน บก.ควบคุม มทบ.44 พร้อมนำกำลังออกหาข่าวข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่จนทราบแน่ชัดมีผู้บุกรุกครอบครองอยู่ทั้งหมด 82 ราย เป็นบุคคลในท้องถิ่น ต่างถิ่น และจังหวัดใกล้เคียง และพบว่า ทั้ง 82 ราย ไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่บุกรุกครอบครองป่าพรุกระชิงแต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือต่อๆ กันมา จากการตรวจสอบผู้ชื่อครอบครองมีทั้งพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน
กรณีดังกล่าว นายประกิต แข่งขัน รองนายก อบต.ปากคลอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกวันหยุดเสาร์ และอาทิตย์ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 นายประไพ กาละ ปลัดอำเภอปะทิว นายพิภพ เรืองธัมรงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลปากคลอง เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 43 ปะทิว และกำลังชุดเฉพาะกิจ มทบ.44 รวมทั้งตนด้วย ได้เข้าไปเก็บข้อมูลประวัติอาชีพของแต่ละรายเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าพรุกระชิง ที่ยืดเยื้อมานานนับสิบปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เป็นถึง ผบ.มทบ.44 ได้ลงพื้นที่สำรวจซักถามเก็บข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงด้วยตัวเองเพื่อจะแยกแยะว่าผู้บุกรุกที่ดินของรัฐมีฐานะยากจนจริงหรือไม่ ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 60 ราย ซึ่งบางรายมีฐานะร่ำรวยยินยอมคืนพื้นที่บุกรุกให้แต่โดยดีบ้างแล้วก็มี ยังเหลืออีกราว 20 ราย คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้คงจะเรียบร้อยทั้งหมด จากนั้นจะนำข้อมูลข้อเท็จจริงไปใช้พิจารณาในการแก้ปัญหาทั้งหลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ให้สอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาล และ คสช.กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นแบบอย่างสามารถนำไปใช้ได้ทั่วประเทศเพราะจะเป็นการแก้ปัญหาได้ตามความเป็นจริง