xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยชี้ “หมอกควันเผาป่า” แดนอิหนา ทำให้กว่า 100,000 คน ในอินโดฯ, มาเลย์, สิงคโปร์ ต้องตายก่อนวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) เฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ทิ้งระเบิดน้ำเข้าดับไฟป่าในจังหวัดสุมาตราใต้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ขณะที่ งานศึกษาชิ้นใหม่จากนักวิจัยอเมริกันชี้ปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่าในอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 100,000 รายในสามประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์
เอเจนซีส์ - งานศึกษาชิ้นใหม่จากนักวิจัยอเมริกัน ชี้ ปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่าในอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 100,000 ราย ในสามประเทศ คาด รายงานชิ้นนี้จะเพิ่มความกดดันให้แดนอิเหนาจัดการกับ “หมอกควันมรณะ” อย่างจริงจังมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการร่วมมือในภูมิภาคเพื่อจัดการวิกฤตสาธารณสุขนี้

ในวันจันทร์ (19 ก.ย.) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาที่มีการประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 91,600 คน ในอินโดนีเซีย ในบริเวณที่ใกล้การเผาป่า และ 6,500 คน ในมาเลเซีย กับอีก 2,200 คน ที่สิงคโปร์

ตัวเลขประมาณการล่าสุดนี้ ซึ่งมาจากโมเดลการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน และครอบคลุมการเสียชีวิตจากโรคในระบบทางเดินหายใจและสาเหตุอื่น ๆ แตกต่างราวฟ้ากับดินกับตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ระบุไว้มีคนตายไปเพียง 19 ราย โดยครอบคลุมเฉพาะการป่วยและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในแดนอิเหนา

ยูยุน อินดราดี จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” ในอินโดนีเซีย วิจารณ์ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หมอกควันมรณะจะทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมากปีแล้วปีเล่า และความล้มเหลวในการหยุดยั้งการสูญเสียชีวิตในทันทีอาจถือเป็นอาชญากรรม

ทางด้านโฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ ต่อรายงานชิ้นนี้

ก่อนหน้านี้ ทางการอิเหนายืนยันว่า ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับวิกฤตหมอกควัน เช่น การห้ามการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับที่ดินเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน และการตั้งหน่วยงานฟื้นฟูป่าพรุที่ถูกทำลาย

วิกฤตหมอกควันพิษเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีจากการเผาป่าไม้และป่าพรุในอินโดนีเซีย เพื่อเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน สำหรับการปลูกปาล์มน้ำมันและพืชที่ใช้ทำเยื่อกระดาษ

การเผาป่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเกาะสุมาตรา ทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว ในส่วนที่เป็นของแดนอิเหนา โดยที่ลมมรสุมจะพัดพาหมอกควันไปปกคลุมสิงคโปร์และมาเลเซีย

ไฟป่าปีที่แล้วถือว่ารุนแรงที่สุด โดยส่วนหนึ่งได้แรงกระตุ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และทำให้หลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำลักหมอกควันนานหลายสัปดาห์ ส่งผลให้คนจำนวนมากป่วย และความสัมพันธ์ทางการทูตตึงเครียด

ผลงานการศึกษาชิ้นใหม่นี้ ซึ่งกำหนดเผยแพร่ในวารสารเอนไวรอนเมนทัล รีเสิร์ช เล็ตเตอร์ส ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลจากดาวเทียม รวมทั้งโมเดลผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสหมอกควัน และค่าที่อ่านได้จากสถานีตรวจสอบมลพิษ และประเมินว่า ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากไฟป่า 100,300 คนในสามประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

กรีนพีซนั้นแสดงความชื่นชมการศึกษาที่นำไปสู่ผลลัพธ์ใหม่นี้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการแยกย่อยการเสียชีวิตจากไฟป่าเมื่อปีที่แล้วอย่างละเอียด แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขที่แสดงเป็นการประเมินแบบอนุรักษนิยม โดยมุ่งเน้นเพียงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใหญ่ และผลกระทบจากอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 เท่านั้น แต่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบที่มีต่อเด็กและหนุ่มสาว หรือสารพิษอื่นที่เกิดจากการเผาไหม้

นูร์ไซยัม อิบราฮิม จากสมาคมแพทย์อินโดนีเซียในบอร์เนียวสาขาจังหวัดเวสต์กะลิมันตัน ตั้งข้อสังเกตว่า ในความเป็นจริงนั้น ทารกเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากหมอกควันมากที่สุด

ราจาเซคฮาร์ บาลา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญหนึ่งในห้าที่ตรวจสอบรายงานฉบับนี้ให้ทางสำนักข่าวเอพี แสดงทัศนะว่า รายงานของนักวิจัยอเมริกันยังเป็นเพียงการศึกษาขั้นต้น และเกี่ยวข้องกับงานที่ท้าทายในการวิเคราะห์แหล่งที่มาและการกระจายของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กในหลายประเทศ และระยะเวลายาวนาน แต่ก็ถือว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้อินโดนีเซียดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในการป้องกันการเผาป่า และการร่วมมือภายในภูมิภาคเพื่อจัดการกับวิกฤตสาธารณสุขนี้

ผลการศึกษาของนักวิจัยอเมริกัน ยังระบุว่า มีการเผาป่าพรุในพื้นที่สัมปทานไม้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เทียบกับปีที่มีหมอกควันพิษรุนแรงครั้งก่อนหน้า คือ ปี 2006 ขณะที่การเผาป่าในสวนปาล์มน้ำมันลดลง

แชนนอน โคปลิตซ์ นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดที่ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ แสดงความหวังว่า โมเดลที่พัฒนาขึ้นมานี้อาจช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการวิกฤตหมอกควันประจำปี ตัดสินใจดำเนินการอย่างฉับไวขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น