เอเอฟพี - องค์กรสูงสุดด้านศาสนาอิสลามของอินโดนีเซียประกาศให้การจุดไฟเผาป่าโดยเจตนาเป็นการกระทำที่ “ผิดหลักศาสนา” โดยหวังว่าคำตัดสินนี้จะช่วยยับยั้งการเผาพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตหมอกควันพิษเป็นประจำทุกปี
คำตัดสินทางศาสนา (ฟัตวา) โดยสภาอุลามาอ์แห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Ulema Council) ระบุว่า การที่มุสลิมจงใจจุดไฟเผาป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรมนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ตามกฎหมายอิสลาม
“คัมภีร์อัลกุรอานระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้มุสลิมทำลายสิ่งแวดล้อม และการเผาป่านั้นไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำลายสุขภาพของประชาชนด้วย แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังร้องเรียนมา” ฮูแซมะห์ ทาฮิโด ยังโก หัวหน้าสภาฟัตวา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี
ไฟป่าและหมอกควันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้ง โดยมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปทั้งบนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวฝั่งอินโดนีเซีย เนื่องจากการจุดไฟเผานั้นเป็นวิธีเร็วและลงทุนน้อยสำหรับชาวบ้านที่ต้องการเคลียร์ที่ดินเพื่อเพาะปลูกปาล์มน้ำมันหรือต้นกระดาษ
วิกฤตไฟป่าในปีที่แล้วนับว่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้บางพื้นที่ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทย ถูกปกคลุมด้วยหมอกควันพิษอยู่นานหลายสัปดาห์
ซีตี นูร์บายา บาการ์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซีย ได้แสดงความชื่นชมต่อคำตัดสินของสภาอุลามาอ์ พร้อมเรียกร้องให้บรรดาอิหม่ามช่วยกระจายข่าวแก่ชาวบ้านในชุมชนของตน
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการเผยแพร่คำตัดสินนี้ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง” เธอกล่าว
คำฟัตวานั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อห้ามปรามมิให้ชาวมุสลิมที่เคร่งครัดกระทำการบางอย่างที่ผิดหลักการศาสนา
สภาอุลามาอ์อินโดนีเซียเคยออกคำฟัตวาปกป้องสิ่งแวดล้อมมาแล้วในอดีต เช่น ห้ามการล่าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย หรือการค้าสัตว์ป่าหายาก เป็นต้น ซึ่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่าเป็นชาติมุสลิมประเทศแรกในโลกที่มีคำตัดสินเช่นนี้ออกมา
รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามหามาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาหมอกควันเลวร้ายเหมือนอย่างปีที่แล้ว โดยมีแผนงดให้สัมปทานที่ดินเพิ่มเติมแก่บริษัทปาล์มน้ำมัน รวมถึงจัดตั้งสำนักงานฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุ (Peatlands Restoration Agency) เพื่อดูแลที่ดินหลายล้านเฮกตาร์ที่อุดมไปด้วยคาร์บอน และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า