คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
“เมื่อประวัติศาสตร์ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ตัดสินอดีต เพื่อใช้อดีตนั้นเข้าใจปัจจุบัน และเพื่อส่องทางต่อไปในอนาคต...นักประวัติศาสตร์จึงจำเป็นต้องแสดงแต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น” (รังเก นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ศตวรรษที่ ๑๙)
“ผู้เขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จึงควรมีความซื่อสัตย์ต่อสังคม นั่นก็คือ การไม่บิดเบือนความจริง ให้ผิดแผกไปจากสิ่งที่ควรเป็น และต้องไม่คำนึงว่า ข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษต่อเรื่องราวของบุคคลใดๆ” (อรณ เวชสุวรรณ. ๒๕๕๕ : คำนำ)
เหตุการณ์ล้อมฆ่านิสิต นักศึกษา และประชาชน เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำอันเจ็บปวดของคนที่รักความเป็นธรรม และมีมนุษยธรรม
แต่ฝ่ายที่ไม่สนใจไยดีต่อชะตากรรมของประชาชนผู้ต่อสู้ และเรียกหาประชาธิปไตยด้วยมือเปล่า กลับเสนอความเห็นแบบเสียดเย้ยว่า “ให้ลืมกันไป” โดยเฉพาะคนพวกนี้ไม่อยากให้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ “๖ ตุลามหาโหด”
ตั้งแต่วันที่ผมเป็นนิสิตที่ มศว สงขลา คนที่บอกให้เราลืมๆ กันไปในวันนั้น เมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้วคือ พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น
ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนไทยมีที่มาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเรามีปัญญาชนสยามที่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่จากประเทศตะวันตก ได้ไปเห็นความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเมือง การปกครองในประเทศเหล่านั้น บุคคลเหล่านั้น ได้แก่ เทียนวรรณ ปัญญาชนผู้พยายามเรียกร้องประชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่ ๕ คณะกบฏ ๑๓๐ สมัยรัชกาลที่ ๖ คณะราษฎร สมัยรัชกาลที่ ๗ นิสิตนักศึกษาและประชาชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนถึงพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕และมวลมหาประชาชน ๒๕๕๗
ในขณะเดียวกัน กระบวนการปิดหู ปิดตา และปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนก็เกิดขึ้นควบคู่คู่ควบกับกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเช่นเดียวกัน เช่น สมัยรัชกาลที่ ๖ ห้ามสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ห้ามอ่านหนังสือบางเล่ม เช่น หนังสือทรัพยศาสตร์ ของ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) และห้ามอ่านหนังสืออีกนับร้อยรายการในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลหอยของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
สมัยรัชกาลที่ ๕ มีนักคิดนักเขียนที่เป็นปัญญาชน เช่น เทียนวรรณ ได้ออกหนังสือพิมพ์ และเขียนบทความเพื่อเรียกร้องให้มีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลแบบตะวันตก เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์รายปักษ์ “ตุลวิภาคพจนกิจ” ต่อมา เปลี่ยนเป็นหนังสือรายเดือนชื่อ “ศิริพจนภาค”
เทียนวรรณเสนอความคิดเห็น ผลดีของการปกครองที่ให้ราษฎรมีส่วนร่วมคือ มีระบอบประชาธิปไตย ให้ถือว่าราษฎรคือ สายโลหิตของแผ่นดิน พร้อมทั้งตำหนิติเตียนประเพณีที่ล้าหลังต่างๆ เช่น การหมอบคลาน ชอบรับสินบน ชอบเล่นการพนัน ชอบคดโกง และการนิยมมีภรรยามากของบุคคลชั้นสูงในขณะนั้น
จากการต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องของเทียนวรรณ ทำให้ท่านถูกจับ ถูกตีตรวน จนถึงกับมีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลตามขา ติดคุกอยู่ถึง ๑๗ ปี ออกจากคุกด้วยสภาพตาบอด ไม่สามารถเขียนหนังสือแสดงความคิดเห็นอะไรได้อีก
ก.ร.ศ.กุหลาบ เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีประวัติคล้ายเทียนวรรณ ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “สยามประเภท” เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ต่อต้านความงมงายจากลัทธิไสยศาสตร์ เผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตย จนถูกชนชั้นปกครองสมัยนั้นหาว่า บ้า-เพี้ยน เป็นคนโกหกหลอกลวง ชื่อกุหลาบ ได้ใช้เป็นไวพจน์ของคำว่า โกหก เพื่อให้ ก.ร.ศ.กุหลาบ ขาดความน่าเชื่อถือ
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นเชื้อพระวงศ์อีกองค์หนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในทวีปยุโรปหลายประเทศ ต่อมา ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีสิทธิในการปกครองตนเองบ้าง พระองค์ได้ถูกลงโทษ และถูกบีบให้ออกจากจากตำแหน่ง ต้องลี้ภัยไปบวชที่ประเทศลังกาเป็นเวลานาน เมื่อกลับมาประเทศไทยก็ถูกจับสึก และบั้นปลายของชีวิตมีฐานะยากจน ขัดสน และสิ้นพระชนม์อย่างยากไร้
จากการเคลื่อนไหวของปัญญาชนสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงกบฏ ร.ศ.๑๓๐ การยึดอำนาจของคณะราษฎร ๒๔๗๕ เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย จนถึงการลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหารครั้งใหญ่ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และการถูกล้อมปราบ และเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อนในเหตุการณ์ ๖ ตุลามหาโหด (๖ ตุลาคม ๒๕๑๙) ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี ๒๕๓๕ และเหตุการณ์มวลมหาประชาชน ๒๕๕๗
เหล่านี้คือ ต้นทุนทางสังคม ที่ประชาชนคนไทยได้ทุ่มเทให้แก่การเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
จากปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ต่างเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่า กงล้อประวัติศาสตร์เคลื่อนมาได้จนถึงวันนี้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนจะได้มาซึ่งสิ่งที่ใฝ่หา ด้วยการคุกเข่าร้องขอ แต่ล้วนได้มาด้วยการต่อสู้ และแลกมาด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต และอิสรภาพของประชาชน
มวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการ ศัตรูของประชาชนส่วนใหญ่ มาจากประชาชนนิรนาม โดยมีปัญญาชนคนสำคัญเพียงไม่กี่คนเป็นต้นแบบทางความคิด มีบทเพลงเพื่อชีวิตเป็นเชื้อไฟอุดมการณ์ปลุกเร้าให้มีความมุ่งมั่นสืบทอดภารกิจในการต่อสู้
ในวาระครบรอบ ๔๐ ปี เหตุการณ์ “๖ ตุลามหาโหด” ขอคารวะจิตใจคนเดือนตุลาคมทุกท่าน ทั้งที่เสียสละ หรือละจากโลกนี้ไปแล้ว และที่ยังอยู่ ไมว่าท่านจะยืนอยู่กับฝ่ายไหนในวันนี้ แต่ท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศนี้ เราจะศึกษา เรียนรู้ “ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์” ด้วยความซื่อสัตย์ต่อข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ใครไม่อาจจะบิดเบือน หรือบงการให้เป็นได้