xs
xsm
sm
md
lg

ข้อถกแถลงว่าด้วย “ภูมิภาคนิยม ท้องถิ่นนิยมและความคลุมเครือ-เคลือบแคลง” ในแวดวงวิชาการไทย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จรูญ หยูทอง (ซ้าย) ยุกติ มุกดาวิจิตร (ขวา)
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
สายๆ ของวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าร่วมเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๑๐ เรื่อง “ความคลุมเครือ ความเคลือบแคลง เส้นแบ่งและพรมแดนในมนุษยศาสตร์" จัดโดย คณะมนุษยศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และ สกว. ที่โรงแรมราชมังคลา สงขลาเมอร์เมด
 
ขณะจะหย่อนก้นลงนั่งแถวหน้าๆ ของห้องประชุมสุวรรณมัจฉา อันเป็นห้องประชุมใหญ่ ตามการต้อนรับของฝ่ายปฏิคม บนเวทีกำลังเป็นช่วงอภิปรายเรื่อง “ภูมิภาคนิยม : ความเป็นไปได้ เรื่องเล่า เส้นแบ่งและความเคลือบแคลง” ของวิทยากรคนดังจากส่วนกลางคือ ผศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร ขณะที่ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือไพฑูรย์ ธัญญา พูดจบไปแล้ว และ ศ.ชวน เพชรแก้ว วิทยากรอีกคนหนึ่งไม่มาร่วมงาน
 
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า อ.ยุกติ รู้จักข้าพเจ้าหรือไม่ แต่ข้าพเจ้ารู้จักท่านดี เพราะติดตามอ่านผลงาน และการแสดงทัศนคติทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ท่านกำลังตั้งคำถามเชิงวิพากษ์นักวิชาการ และผลงานของนักวิชาการภาคใต้แบบท้าทาย พร้อมทั้งเอ่ยนามข้าพเจ้า และ อ.ชวน เพชรแก้ว ว่า
 
“ทำไมนักวิชาการภาคใต้จึงไปไม่พ้นความเป็นท้องถิ่น ...คนใต้ไม่ได้ต่อต้านอำนาจรัฐ แม้ว่าจะมีคำกล่าวว่า “ไม่รบนายไม่หายจน” ...ภาคใต้จงรักภักดีกับสยามมากกว่าภาคอื่น ...สังคมภาคใต้เป็นสังคมที่มีเกราะสังคมอุปถัมภ์ ...คนใต้ชอบโต้เถียง แต่จะโต้เถียงกันจนจบ หรือแตกหักจนถึงที่สุด เพราะกังวลเรื่องเครือข่ายอุปถัมภ์ ...คนใต้ชอบเรียนกฎหมาย แต่ไม่ทำตามกฎหมาย ...ทำไมความไม่ไว้วางใจส่วนกลางของคนใต้จึงไม่เกิดขึ้น ...หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภาคใต้เชื่อมโยงกับส่วนกลางโดยการเมือง ระบบราชการไม่ตัดขาดจากส่วนกลาง ...การเมืองภาคประชาชนในภาคใต้ แม้จะแข็งแกร่ง แต่ยังสร้างการเมืองอุปถัมภ์กับการเมืองระดับชาติ ...คนใต้จงรักภักดีกับส่วนกลางมาก ...ทำไมงานวิชาการภาคใต้ไม่มีงานที่สัมพันธ์กับชาวเล ชาวน้ำ หรือชาวหมู่เกาะเลย ...เราถามความเป็นท้องถิ่นของเราแค่ไหน... ฯลฯ”
 
แฟ้นภาพ
 
นี่คือบางส่วนที่ข้าพเจ้าพอสรุปได้จากคำกล่าวเชิงวิพากษ์ของ อ.ยุกติ ในวันนั้น ซึ่งข้าพเจ้าไม่อยากต่อล้อต่อเถียง เพราะเห็นว่าอาจารย์คงไม่ได้อ่าน หรือติดตามงานวิชาการของนักวิชาการชาวใต้อย่างพวกเรา โดยเฉพาะ ศ.สุุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคณะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้าง และพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา
 
ประจวบกับนักวิชาการภาคใต้รุ่นใหม่หลายคนที่คบค้าสมาคม และสมาทานแนวคิดแบบนิยมจดจำชื่นชมฝรั่งมังค่า จนกลายเป็นอาณานิคมทางวิชาการ ก็มองงานวิชาการของคนบ้านเองว่า “แช่แข็งสังคม วัฒนธรรม” บ้าง “ท้องถิ่นนิยม” ไปไม่ถึงไหนบ้าง ทั้งๆ ที่คนพวกนี้ไม่เคยสนใจศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นตนเอง หรือทำความเข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของตนเอง
 
แต่ทะนงตนว่าได้อ่านหนังสือจากความคิดของนักคิดชาวตะวันตกในยุคโพสต์โมเดิร์น เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก็นำมาเอ่ยอ้าง สร้างราคาให้กับตัวเอง ให้ดูดีมีอารยะ เป็นคนสมัยโลก ทันต่อเหตุการณ์ ดูถูกดูแคลนนักคิดระดับศาสดาเอกของโลกอย่าง นบี มูฮัมหมัด / เยซู / สิทธัตถะ / ขงจื๊อ / เม่งจื๊อ ฯลฯ ที่มีวิสัยทัศน์ล้ำยุคกว่านักวิชาการชั้นรองระยะหลังเหล่านั้น
 
ความจริงฝรั่งที่ถูกนักวิชาการไทยนำมาเทิดทูนไว้เหนือหัวเหล่านั้น กว่าจะมีหลักคิด ทฤษฎี ข้อสรุปในวันนี้ พวกเขาก็ได้ศึกษาหลักคิด ทฤษฎีจากโลกตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่กลับเป็นแหล่งอารยธรรมโลก เช่น ลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย ลุ่มน้ำคงคา ลุ่มน้ำฮวงโห-แยงซี ลุ่มน้ำโขง ล่มน้ำแดง ลุ่มน้ำอิรวดี และลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ลูกหลานไทยกลับไม่ให้ค่าความเป็นตะวันออกของตนเอง
 
กล่าวให้ถึงที่สุด “คำว่าภูมิภาคนิยม” “ท้องถิ่นนิยม” “การแช่แข็งทางวัฒนธรรม” หรืออื่นๆ ในความหมายของคนพวกนี้คือ “ความไม่เป็นตะวันตก” หรือ “ความไม่เป็นสมัยใหม่” ไม่สอดคล้องกับที่ฟูห์โก โดยไม่สนใจศึกษาข้อเท็จจริง บริบทที่พวกเราพยายามนำเสนอข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ให้ลูกหลานคนใต้รุ่นหลังได้ศึกษาเข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ รากเหง้าทางวัฒนธรรม และพลวัตของสังคมวัฒนธรรมไทยในช่วงสองสามชั่วอายุคน 
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
พวกเราไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม เชิดชูชาติพันธุ์คนใต้ว่า เป็นเผ่าพันธุ์ที่สุดยอด เช่น เยอรมัน ยิว อย่างที่ อดอฟฮิตเลอร์ ทำ เพียงแต่ให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า คนใต้แตกต่างจากคนภาคอื่นอย่างไร และเพราะอะไร และคนใต้เองมีข้อจำกัดในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่กลับถูกกล่าวหาว่า “ท้องถิ่นนิยม” ไปไม่ถึงไหน
 
ความเป็นท้องถิ่น แม้แต่สหประชาชาติยังยอมรับในความเป็นท้องถิ่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นว่า มีความสำคัญในการพัฒนาในทุกประเทศทั่วโลก จึงเน้นการจัดการศึกษาแบบสหวิทยาการแบบองค์รวม ทำความเข้าใจสังคมท้องถิ่นประเทศชาติจากวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเทศพัฒนาแล้วที่พวกนักวิชาการเหล่านี้นำมาบูชาอยู่ เขาก็มีท้องถิ่นของเขา แต่เขาเป็นประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรม จึงสามารถทำวัฒนธรรมท้องถิ่นของเขาให้เป็นสากลได้
 
พวกคุณมีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องดูถูกเหยียบย่ำความเป็นนักวิชาการท้องถิ่นของใครต่อใคร ถ้าพวกคุณมีรากเหง้า มีตัวตนที่ชัดเจนอย่างนักคิดทุสำนักที่พวกคุณกราบไหว้บูชา คนอย่างข้าพเจ้า อย่างอาจารย์ชวน อาจารย์สุธิวงศ์ และกัลยาณมิตร แม้จะล้าหลัง ไปไม่ถึงไหน แต่เมื่อกงล้อประวัติศาสตร์เคลื่อนเปลี่ยนไป พวกเราก็มีรองรอยความเป็น “ตัวตน” แบบที่ “ไพบูลย์ บุตรขัน” และใครต่อใครมีต่อวงการเพลงลูกทุ่ง ก่อนจะมาสู่ยุคปัจจุบันที่ลูกทุ่งอมตะขับขานแต่บทเพลงเก่าๆ 
 
เช่นเดียวกับนักวิชาการสมัยใหม่ที่ทำได้แค่เป็น “สาวก” ของนักคิดชาวตะวันตก ขณะที่พวกเราคือ “เชิงอรรถ” ของวัฒนธรรมท้องถิ่น
 
ถ้าพวกคุณติดตามอ่าน ศึกษาผลงานของนักวิชาการท้องถิ่นอย่างอาจารย์สุธิวงศ์ อาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม อาจารย์กลิ่น คงเหมือนเพชร อาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ พี่เอนก นาวิกมูล อาจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง อาจารย์ศิรพร ณ ถลาง ฯลฯ พวกคุณคงไม่กล้าลบหลู่ว่า พวกเขาเหล่านี้ “ไปไม่ถึงไหน”
 
ถ้าจะถามกลับด้วยคำถามเดียวกันแบบว่าท้าทายตามที่พวกคุณนิยมกัน “แล้วพวกคุณล่ะ ไปถึงไหนกันบ้างแล้ว”
 
หน้าที่ของนักวิชาการในประเทศด้อยพัฒนาหลักๆ ก็คือ การปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาส เป็นอาณานิคมในทางวิชาการจากชาติตะวันตก ที่เขามีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์น้อยกว่าเรา มีภูมิปัญญา หรือต้นทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าเรา ไม่ใช่นำพาสังคมไปสู่การศิโรราบให้แก่ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของประเทศที่มีอายุเก่าแก่แค่กรุงรัตนโกสินทร์ของเราเท่านั้น
 
เพราะตั้งแต่เรามีมหาวิทยาลัยขึ้นมา เราเริ่มจากการลอกตำรา จำขี้ปากฝรั่งมาสอนกันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ และคงอีกยาวนาน นักวิชาการท้องถิ่นอาจจะเป็นฐานให้พวกคุณต่อยอดได้ ถ้าพวกคุณไม่ทำลายมันเสียก่อนโดยไม่จำเป็น
 
ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิเสธความจำเริญก้าวหน้าทางวิชาการ แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธวิธีวิทยาที่พวกนักวิชาการชาวอาณานิคมกำลังสมาทานกันอยู่ อย่างไม่สำเหนียกถึงศักดิ์ศรีของความเป็นตัวของตัวเองในทางวิชาการเท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น