ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต เดินหน้าขยายผลระบบ “สารสนเทศเพื่อการศึกษา” ยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ Phuket City 4.0 พัฒนาเด็กด้อยโอกาส เปิดประตูสู่โลกสัมมาชีพ
เทศบาลนครภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมหาวิทยาลัยนเรศวร เดินหน้าขยายผล “ระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา” เดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ Phuket City 4.0 ตาม “พิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020” หลังพบว่า ระบบสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในสถานศึกษาได้ตรงจุด ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสได้เป็นรายบุคคล และส่งผลดีต่อการวางแผนการจัดการศึกษาให้สอดรับต่อทิศทางการพัฒนาของจังหวัด และเพื่อการมีงานทำ ล่าสุด จับมือ “เทศบาลเมืองกระทู้” ขยายผลการดำเนินงานเพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่
น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก และเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเรา ซึ่งข้อมูล และระบบสารสนเทศเป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา และช่วยในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
ข้อมูลจากระบบสารสนเทศจะช่วยเอกซเรย์เด็กเป็นรายบุคคลว่าต้องการอะไร ทั้งการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ด้านกีฬา หรือวิชาการ หรือแม้แต่แก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ การว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษา ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนสามารถรู้ได้ว่าเด็กที่เรียนไม่ครบจำนวนเท่าไหร่ เกิดจากปัจจัยอะไร เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ข้อมูลยังช่วยในการบริหารจัดการสถานศึกษา ลดเวลาการทำงานของครูด้านงานเอกสาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งระบบฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาไปสู่การร่วมออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษาของนครภูเก็ตร่วมกัน เพราะการจัดการศึกษานับจากนี้ไม่ได้มุ่งหวังแค่การเรียนจบ หรือมีวุฒิการศึกษา แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ต้องตอบสนองทิศทางการพัฒนาของจังหวัด และการมีงานทำ
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลจากการนำร่องใช้ระบบสารสนเทศในสถานศึกษาทั้ง 7 แห่ง ของเทศบาลนครภูเก็ต ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดทำ “พิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020” ซึ่งพิมพ์เขียวที่ได้นั้นถูกนำเข้าบรรจุเป็นแผนเทศบาลและแผนงบประมาณอีกด้วย นอกจากนี้ การจัดทำพิมพ์เขียวด้านการศึกษาในครั้งนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันการใช้ระบบสารสนเทศการศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการวางแผนพัฒนาการศึกษาบนพื้นฐานของข้อมูล หรือ Evidence-based Educational Planning สำหรับประเทศไทยในอนาคต
การปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่นั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ซึ่งแผนพัฒนาการศึกษาส่วนใหญ่นั้นประกอบด้วย ข้อมูลตัวชี้วัด 3 ด้าน ดังต่อไปนี้ คือ 1) ตัวชี้วัดด้านโอกาส 2) ตัวชี้วัดด้านคุณภาพ และ 3) ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างประเทศบราซิลที่มีพัฒนาด้านคุณภาพการศึกษาวัดโดยคะแนนสอบ PISA เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลกนั้นเกิดขึ้นเพราะใช้ระบบสารสนเทศและข้อมูลมาสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดการศึกษาสู่สาธารณะเพื่อดึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาคเอกชน และประชาสังคมมาร่วมออกแบบ และพัฒนาการศึกษาร่วมกัน
ล่าสุด เทศบาลนครภูเก็ต จับมือกับเทศบาลเมืองกระทู้ ขยายผลการจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต และเมืองกระทู้ (Phuket and Kathu Cities’ Education Blueprint 2020) นำ “ระบบสารสนเทศการศึกษา” ไปใช้ในทุกสถานศึกษาในสังกัด เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาใช้การออกแบบพัฒนาและวางแผนการจัดการศึกษาให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเพื่อการมีงานทำ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในการบริหารจัดการสถานศึกษาได้ตรงจุด ช่วยเหลือสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสได้เป็นรายบุคคล โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจาก สสค. และมหาวิทยาลัยนเรศวร
นายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกระทู้ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองกระทู้มียุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เมืองกระทู้เป็นที่น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ที่จะใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษาที่สอดรับต่อความต้องการคนกระทู้
“ผมอยากให้โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองกระทู้เป็นทางเลือกของคนกระทู้ ไม่ต้องมีความจำเป็นที่เด็กกระทู้ต้องเข้าไปเรียนในตัวเมืองภูเก็ต ซึ่งการเดินทางออกไปเรียนต่างพื้นที่นั้นนำมาสู่ปัญหาต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาในการร่วมงานกับ สสค.และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้เห็นตัวอย่างที่น่าสนใจจากเทศบาลนครภูเก็ต เมืองกระทู้จึงต้องการข้อมูลเพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการวางแผนยุทธศาสตร์ในการศึกษาเพื่อเด็ก และเยาวชนกระทู้เช่นกัน โดยปัจจุบันได้เริ่มนำระบบร่องใช้ในโรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง และบรรจุไว้เป็นแผนพัฒนาด้านการศึกษาของเทศบาลกระทู้แล้ว และจะขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กอนุบาล และปฐมวัย”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.กล่าวว่า ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาล้วนใช้ระบบสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของฝ่ายนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ที่ใช้ระบบสารสนเทศและข้อมูลเป็นตัวชี้เป้าในการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยเวียดนามใช้เงินลงทุนด้านการศึกษาเฉลี่ยรายหัวต่ำกว่าไทย แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี โดยมีอันดับคะแนน PISA อยู่ในลำดับที่ 17 สูงกว่าประเทศไทยถึง 33 อันดับ ขณะที่มาเลเซีย ใช้ข้อมูลในการออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษาแห่งชาติปี 2013-2025 เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมาเลเซียก้าวออกจากกับดักรายได้ชั้นกลางได้ภายในเวลา 15 ปี
เทศบาลนครภูเก็ต ถือเป็นที่แรกของประเทศที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดทำแผนการศึกษาบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมออกแบบ และกำหนดทิศทางการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งประกาศใช้ระบบสารสนเทศการศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งพลังของข้อมูลถือว่าเป็นกุญแจที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาในยุค Education 4.0 ที่เข้าสู่สังคมดิจิตอล ฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษาสู่ Phuket City 4.0 หากมีการจัดเก็บข้อมูล และมีระบบที่ดีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและแก้ปัญหาได้ตรงจุด นอกจากนี้ การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนสูงขึ้น
ทิศทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลจากระบบสารสนเทศการศึกษา เพื่อตอบโจทย์นโยบายของรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ สอดคล้องไปกับแนวทางการพัฒนาในด้านต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต รวมไปถึงความต้องการด้านแรงงานของภาคเอกชน บนความคาดหวังของภาคประชาชนในพื้นที่ จึงมีความน่าสนใจ และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งนับจากนี้