xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ประยุทธ์ กับนายกฯ นาจิบ ราซะก์ : กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนถึงความไม่ปกติในการทำหน้าที่ของประธานคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ศึกษาปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ โดยผมตั้งชื่อบทความว่า “เรื่องสำคัญของชาติขนาดนี้จะใช้วิธีการ “กาถูก กาผิด” กระนั้นหรือ? (ตอนที่ 1)” ในสัปดาห์นี้ ถือเป็นตอนที่ 2 แต่เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านผมจึงตั้งชื่อใหม่ครับ

ในบทความที่แล้วผมได้เล่าว่า ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพลังงานหมุนเวียนได้สรุปร่วมกันว่า จังหวัดกระบี่ มีศักยภาพที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้เกิน 100% อย่างชัดเจน นอกจากนี้ แม้คณะอนุฯ ยังไม่ได้สรุปร่วมกัน แต่ผมเองได้พบงานวิจัยที่น่าเชื่อถือว่า วัตถุดิบที่ใช้ทำเชื้อเพลิงก็มีมาก ราคาก็ถูกกว่าค่าไฟฟ้าที่เราคนไทยต้องจ่ายในปัจจุบันสอดคล้องต่อผลงานวิจัยที่กระทรวงพลังงาน มีส่วนร่วมทำวิจัยเอง แต่กลับปิดเงียบไม่ยอมนำมาใช้ประโยชน์ และสอดคล้องต่อผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก คือ University of California, Berkley แต่น่าเสียดายมากที่ “ความชัดเจนดังกล่าวก็ถูกทำให้พร่ามัว” ด้วยกระบวนการประชุมที่ผิดปกติ

วันนี้ผมจะเปรียบเทียบสถานการณ์ของประเทศไทย กับประเทศมาเลเซีย เมื่อ 6-7ปีก่อน ซึ่งถือว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของนายกรัฐมนตรี ของทั้ง 2 ประเทศ


เมื่อประมาณปี 2550 รัฐบาลมาเลเซีย ได้ประกาศว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 300 เมกะวัตต์ ในรัฐซาบาห์ (ดูแผนที่ในภาพประกอบ) 
 

 
แต่พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญต่อชาวประมง และการเพาะเลี้ยง ผลการศึกษาหลายชิ้น รวมทั้งของ University Malaysia Sabah พบว่า“ทรัพยากรทางทะเล และน้ำทะเลจะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” และผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก็ถูกตีตกไปซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะพบเห็นในประเทศไทยที่การศึกษาอีไอเอเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น และในเวลาต่อมา รัฐบาลแห่งรัฐซาบาห์ ก็ปฏิเสธโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นห่วงด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ทางการไฟฟ้าของรัฐซาบาห์ ก็ได้เสนอให้ย้ายไปที่แห่งใหม่ (ดูรูป) แต่ก็ได้รับการคัดค้านอีก เพราะอยู่ใกล้กับศูนย์ปกป้องลิงอุรังอุตังที่สำคัญของโลก

ในปี 2552 นายกฯ นาจิบ ราซะก์ ก็ได้เสนอพื้นที่แห่งใหม่ที่อยู่ในย่านที่มีสวนปาล์มน้ำมัน และชุมชนไม่หนาแน่น

เพียงหนึ่งเดือนต่อมา ได้เกิดกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ชื่อ Green SURF (Sabah Unite to Re-Power the Future - การรวมตัวเพื่อพลิกฟื้นพลังใหม่เพื่ออนาคต) ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรเรียกร้องให้รัฐบาลมองหาพลังงานสะอาดเป็นทางเลือก

ต่อมา ทาง Green SURF ได้ประสานให้ University of California, Berkley มาทำวิจัยเรื่อง “ทางเลือกพลังงานสะอาด : การวิเคราะห์สภาพพร้อมใช้ประโยชน์ของทรัพยากรและต้นทุน” ผลงานวิจัยพบว่า เฉพาะกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มในรัฐซาบาห์ มีจำนวนมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 380 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ก็มีการผลิตแล้วถึง 30 เมกะวัตต์

เมื่อผลการวิจัยเป็นอย่างนี้ ทาง Green SURF จึงต้องการให้รัฐบาลหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะขัดต่อสัตยาบันที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ ได้ประกาศในเวทีการประชุมสหประชาชาติ ที่กรุงโคเปนเฮเกน หรือที่เรียกว่า COP15 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% เมื่อเทียบกับปี 2005 ภายในปี 2020

ก่อนหน้านี้ ในปี 2553 รัฐบาลของนายกฯ นาจิบ ราซะก์ ได้จัดงบประมาณ จำนวน 1,500 ล้านริงกิต (15,000 ล้านบาท) เพื่อจัดตั้งกองทุนส่งเสริมพลังงานสีเขียวในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องลงทุน 17,000 ล้านบาท

ในที่สุด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ทางผู้บริหารสูงสุดของรัฐซาบาห์ ได้ประกาศว่า “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐซาบาห์จะถูกยกเลิก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน” 

ในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“นายกรัฐมนตรีเข้าใจความจริงที่ว่า หนึ่งในทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัฐซาบาห์ คือ สิ่งดึงดูดทางธรรมชาติที่ยังมีความบริสุทธิ์ทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่รัฐซาบาห์ มีความจำเป็นต้องเพิ่มอุปทานด้านพลังงานเพื่อให้ทันต่อการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่อาจให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติต้องเผชิญต่อความเสี่ยงได้

ในฐานะรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญในลำดับต้นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน และเราจำเป็นต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในรัฐซาบาห์ด้วย” 

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผมนะครับว่า ท่านนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้กระทำในสิ่งที่คล้ายคลึงกันมาก กล่าวคือ เป็นผู้ประกาศเจตนารมณ์ในเวทีสหประชาชาติเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก อันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติ ต่างกันที่ท่านนายกฯ นาจิบ ราซะก์ ได้ตัดสินใจยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ยังอยู่ในระหว่างการรอข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านยังได้กล่าวต่อคนไทยทั้งประเทศด้วยความภูมิใจว่า

“ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับกับการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่า COP21 ซึ่งแต่ละประเทศได้ตกลงร่วมกันว่าจะมุ่งมั่นในการรักษาการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสนะครับ รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคต”

ย้อนหลังไปอีก 1 สัปดาห์ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ยังได้กล่าวในรายการเดียวกัน (ในขณะที่อยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ) ว่า ต่างชาติรู้สึกชื่นชมประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังได้ฝากมาชื่นชมบทบาทของประเทศไทยใน 3 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การลงนามเพื่อลดภาวะโลกร้อน ผมรู้สึกว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ มีความตั้งใจในเรื่องที่สำคัญของโลกนี้มากทีเดียว

แต่ปัญหาที่น่าวิตกก็คือ ท่านนายกฯ จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยหรือไม่ เพราะผมได้สัญญาณบางอย่างว่าอาจจะมี “ศรีธนญชัย” มา “ทำความชัดเจนให้พร่ามัว” อีกแล้ว

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

คำว่า “ก๊าซเรือนกระจก” หมายถึงก๊าซ 3 ชนิดที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่กลายมาเป็น “ผ้าห่มโลก” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อน ก๊าซดังกล่าวคือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 72, 18 และ 9 ตามลำดับ (ข้อมูลของประเทศไทยเราเองถือว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนร่วม 73%)

สำหรับที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ร้อยละ 65 เกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิล ที่เหลืออีก 7% เกิดจากการเผาชีวมวล แต่ก็มีผู้โต้แย้งที่มีเหตุผลว่า การเผาชีวมวลแม้จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จริง แต่ตลอดอายุของต้นไม้ที่ถูกเผาไปนั้นได้ช่วยดูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากบรรยากาศไปแล้ว การเผาชีวมวลจึงไม่ถือว่าเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด จึงมีแต่การเผาพลังงานฟอสซิลอย่างเดียวเท่านั้น

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงาน (น้ำมัน ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ) ในปี 2558 จำนวน 254 ล้านตัน โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.6% ผมได้เขียนกราฟมาให้ดูเพลินๆ ด้วยครับ
 

 
ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ประกาศในเวที COP21 ว่า “จะลดก๊าซเรือนกระจก 20% เมื่อเทียบกับระดับที่พยากรณ์ไปในอนาคต โดยไม่ได้มีโครงการอะไรเป็นพิเศษ (Business as usual) ภายในปี 2030” (Thailand intends to reduce its greenhouse gas emissions by 20 percent from the projected business-as-usual (BAU) level by 2030)

ปัญหาก็คือ ไทยเราไปประกาศอิงกับระดับในอนาคต ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แทนที่จะอิงกับระดับในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว 

เพื่อจะพยากรณ์ไปถึงปี 2030 เราจะใช้อัตราการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด ถ้าใช้ค่าเฉลี่ย 15 ปี ก็เท่ากับ 4.6% ต่อปี แต่ถ้าใช้ค่าเฉลี่ยใน 2 ปีสุดท้ายก็เท่ากับ 2.7% ต่อปี

ถ้าใช้อัตราการเติบโต 4.6% ต่อปี เราจะได้ว่าในปี 2030 การปล่อยก๊าซจะเท่ากับ 499 ล้านตัน ถ้าลดลงมา 20% ก็จะสามารถปล่อยได้เยอะถึง 399 ล้านตัน แต่ถ้าใช้ 2.7% ต่อปี ก็จะเท่ากับ 379 ล้านตัน ถ้าลดลงมา 20% ก็จะปล่อยได้แค่ 303 ล้านตัน ตัวเลขมันต่างกันเยอะ

นี่คือปัญหาครับ ที่ผมเรียกว่า “ศรีธนญชัย” 

มันเป็นแบบเดียวกับการซื้อขายสินค้าทั่วไป ผู้ขายจะติดราคาให้สูงเกินจริงไว้ แล้วประกาศลดราคาลงมาเยอะๆ ลูกค้าจะรู้สึกดี ทั้งๆ ที่ได้ซื้อสินค้าแพงกว่าปกติ

ประเทศจีนก็ประกาศในลักษณะเดียวกับไทยเรา แต่มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และชิลี เขาชัดเจนไม่คลุมเครือครับ

ประเทศชิลี ได้ประกาศจะลด 30% เมื่อเทียบกับระดับที่ได้เกิดขึ้นแล้วในปี 2007 ภายในปี 2030 แล้วก็มีปฏิบัติการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาขนาดไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ ด้วยระบบ Net Metering ในขณะที่ประเทศไทยเราไม่ยอมเด็ดขาด แต่กลับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคาแพงมากๆ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ คงไม่ได้ตั้งใจจะประกาศให้มันกำกวม หรือคลุมเครืออย่างนี้ เพราะข้าราชการเป็นผู้เตรียมให้ท่าน และปฏิบัติกันอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว

เรามาทำความเข้าใจในรายละเอียดของการปล่อยก๊าซกันอีกสักนิดครับ

ในบรรดาคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการใช้พลังงานนั้น ภาคการผลิตไฟฟ้ามีส่วนในการปล่อยมากที่สุดถึง 37% รองลงมาคือ ภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 28 และ 27 ตามลำดับ (ดังภาพประกอบที่ผมได้มาจากเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน) 
 

 
ในเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อเราทราบว่า ปัจจัยใดมีส่วนสำคัญที่สุดที่ก่อปัญหา เราก็ควรจะมุ่งแก้ปัญหาที่ปัจจัยนั้น ในที่นี้ ภาคการผลิตไฟฟ้ามีส่วนมากที่สุด นำโด่งปัจจัยอื่นๆ อย่างชัดเจนมาก เราจึงต้องมุ่งไปที่ภาคการผลิตไฟฟ้า 

คำถามสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร ในเมื่อแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าได้กำหนดว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 7,390 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ (จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2562) และโรงไฟฟ้าเทพา 2,000 เมกะวัตต์ ทยอยเข้าระบบในปี 2564 และ 2567 คราวละครึ่ง

กราฟข้างล่างนี้คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ถ่านหิน หรือลิกไนต์ผลิตไฟฟ้าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ท่านที่สนใจคงจะได้ประโยชน์มากครับ 
 

 
ผมเริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบระหว่างไทยกับมาเลเซีย แต่ผมอยากจะสรุปด้วยข่าวจากประเทศเมียนมาร์ครับ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ข่าวไทยพีบีเอสได้ออกข่าวว่า รัฐบาลใหม่ ได้ประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดทั่วประเทศ (http://program.thaipbs.or.th/watch/xEXfnB)


ผมสนใจข่าวชิ้นนี้มาก เป็นรายงานข่าวของ “นักข่าวพลเมือง” ที่ได้ลงไปในพื้นที่จริง ผมพยายามค้นข่าวจากอินเทอร์เน็ตเพื่อหารายละเอียดเพิ่มเติมแต่ไม่พบ ผมจึงได้สอบถามไปยังเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเขามีเพื่อนเป็นกรรมาธิการพลังงานของรัฐสภา ได้ความว่า เขายืนยันตามนั้น คือรัฐบาลยกเลิกโครงการทั้งหมด

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ครับ โอกาสเป็นของท่านแล้ว ประตูสวรรค์กับประตูนรกอยู่ใกล้กันนิดเดียว 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น