คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ผมได้เขียนบทความเรื่อง “อีกไม่เกิน 15 ปี ระบบผลิตไฟฟ้า และการขนส่งในปัจจุบันจะเจ๊ง : นักวิชาการ U. Stanford” ปรากฏว่ามีผู้อ่านมากเป็นพิเศษถึงเกือบ 9 หมื่นคน มากที่สุดตั้งแต่ผมเคยเขียนมา และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา นักวิชาการที่ผมได้อ้างถึง คือ Tony Seba จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รับเชิญให้มาบรรยายพิเศษในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หัวข้อที่บรรยายก็คล้ายๆ กับชื่อบทความที่ผมตั้งนี่แหละครับ
ผมไม่ทราบว่า สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งสนใจเรื่องปิโตรเลียม) กำลังคิดอะไรอยู่ แต่ผมทราบว่า ในหลายประเทศกำลังมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกันอย่างขนานใหญ่ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง พร้อมกับขยายความเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ซึ่งจะเป็นต้นเหตุให้น้ำมันต้องกลายเป็นสิ่งที่พ้นสมัย
จากรายงานของบริษัท Bloomberg (ซึ่งทำธุรกิจด้านการเงิน การสื่อสาร และเทคโนโลยี มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สรุปได้ว่า “การปฏิวัติด้านรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และบริษัทน้ำมันจะได้ตระหนักรับรู้ ผลงานวิจัยใหม่ได้แนะนำว่า การลดลงของราคาแบตเตอรี่รถยนต์ ในช่วง ค.ศ.2020 ถึง 2029 จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซลในเกือบทุกประเทศ แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม”
รายงานนี้ได้พยากรณ์ว่า ในปี 2040 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนจะมีประมาณ 1 ใน 4 ของรถยนต์ทั้งหมด จะสามารถลดการใช้น้ำมันดิบลงได้ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปัจจุบัน ทั้งโลกใช้น้ำมันดิบวันละ 95 ล้านบาร์เรล) โดยจะหันไปใช้ไฟฟ้าแทน ซึ่งไฟฟ้าก็สามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน หรือพลังงานฟอสซิล
คราวนี้มาดูแนวโน้มของราคาแบตเตอรี่รถยนต์กันบ้างครับ พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2010-2015) ราคาได้ลดลงมาเฉลี่ยปีละ 13% และในปี 2030 ราคาแบตเตอรี่จะลดมาเหลือประมาณ 90-120 ดอลลาร์ต่อหน่วยไฟฟ้า (รถยนต์ 1 คันใช้ประมาณ 24-50 กิโลวัตต์) ในขณะที่จำนวนความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 เท่าตัว
ผมไม่แน่ใจว่าคุณ Tony Seba เอาข้อมูลมาจากไหน แต่เขาพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว และเขียนเป็นหนังสือชื่อ Clean Disruption of Energy and Transportation ตั้งแต่ปี 2014
กรุณาอย่าหาว่าผมโฆษณารถยนต์ไฟฟ้าเลยนะครับ ผมได้นำราคารถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ มาลงให้ดูด้วยครับ (Tesla Model 3 เป็นราคาส่งมอบปี 2017 - ไม่รวมภาษี ปัจจุบันผลิตได้สัปดาห์ละ 2 พันคัน) เพื่อจะได้ทราบราคาคร่าวๆ ในอนาคต ถ้าเราเทียบกับราคาแบตเตอรี่ (ดังกราฟข้างต้น) เราก็พอจะประเมินได้ว่า ในปี 2025 ราคารถยนต์เหล่านี้ก็น่าจะประมาณไม่เกินครึ่งของราคาที่แสดงในภาพนี้ ในขณะที่ราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันมีแต่จะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รายงานของ Bloomberg ได้สรุปว่า “ภายในปี 2022 ราคาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารวมค่าใช้จ่ายเรื่องเชื้อเพลิงการบำรุงรักษาจะถูกกว่าการมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”
เท่าที่ผลตรวจสอบดู รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง สามารถแล่นได้ 340 กิโลเมตร โดยใช้ไฟฟ้าเพียง 60 หน่วย ถ้าค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท ค่าใช้จ่ายก็ไม่ถึง 0.75 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่ใช้ก๊าซธรรมชาติค่าเชื้อเพลิงประมาณ 1.50 บาทต่อกิโลเมตร
ที่กล่าวมาแล้วเป็นผลการศึกษาเรื่องราคาแบตเตอรี่รถยนต์ (โดย Bloomberg) ที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 3 เท่าตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมน้ำมันจึงเป็นสิ่งที่พ้นสมัย เพราะคนจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้าก็สามารถผลิตได้จากแสงแดด
คราวนี้มาดูการลดลงของราคาแผงโซลาร์เซลล์ และจำนวนการติดตั้งที่เพิ่มขึ้นกันบ้าง พบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ราคาแผงโซลาร์เซลล์ได้ลดลง 160 เท่าตัว ลงมาเหลือ 22 บาทต่อวัตต์ ในขณะที่จำนวนการติดตั้งทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 32,000 เท่าตัว ในปี 2015
เรามาดูการเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ว่าเป็นไปในทำนองเดียวกับคำพยากรณ์ของ Tony Seba หรือไม่
ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศผลิตน้ำมัน (มีมูลค่า 15% ของจีดีพีในปี 2015) ขณะนี้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วประมาณ 24% ของรถยนต์ทั้งประเทศ กำลังจะสั่งห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินภายในปี 2025 (ตามข้อตกลงของพรรคการเมืองชั้นนำ จำนวน 4 พรรค) และหลังจากปี 2030 รถยนต์ขนาดใหญ่ รถบัส และรถบรรทุกจะต้องเป็น Zero Emission หรือไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง (เว็บไซต์ Ecowatch)
เมื่อปี 2558 รัฐสภาประเทศนอร์เวย์ ได้ลงมติให้กองทุนที่เรียกว่า “กองทุนบำนาญของรัฐบาล (The Government Pension Fund)” ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ ให้ถอนการลงทุนจากธุรกิจถ่านหินทั้งหมดซึ่งมี 122 บริษัททั่วโลก เหตุผลที่ใช้ประกอบถอนการลงทุนครั้งนี้มี 2 ข้อสั้นๆ คือ (1) เสี่ยงต่อปัญหาโลกร้อน และ (2) เสี่ยงทางการเงิน
ประเทศจีน คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2016 จะเพิ่มเป็น 6 แสนคัน คิดเป็น 2 เท่าของปี 2015 ซึ่งทางรัฐบาลกำลังเร่งก่อสร้างสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอ (ข่าวรอยเตอร์ มี.ค. 2016)
ประเทศเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 95% ภายในปี 2050 ทางรัฐบาลจึงได้ออกระเบียบว่า รถยนต์ใหม่ (ยกเว้นรถบรรทุก) ที่จะจดทะเบียนในปี 2030 จะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อให้เกิดแรงจูงใจรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนคันละ $4,500 สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน และ $3,400 สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ Hybrid โดยคาดว่าจะใช้เงินในการนี้ทั้งหมด $1,100 ล้าน ทั่วประเทศ (http://inhabitat.com/all-new-cars-in-germany-must-be-emissions-free-after-2030)
ก็น่าจะยังน้อยกว่าโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่มีสาระสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณะแม้แต่น้อย
ที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมเพียงแต่ได้นำเสนอผลการศึกษา และสถิติต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้จริงแนวคิดของ Tony Seba ที่ว่า “น้ำมันจะเป็นสิ่งพ้นสมัยภายในปี 2030” ซึ่ง Tony Seba บอกว่าจะเริ่มเห็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบการเผาไหม้ภายในจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจนในปี 2017 ถึง 2018 หรืออีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพพลังงานในรถยนต์ที่เผาไหม้ภายใน พบว่า พลังงานประมาณ 80% ของพลังงานที่ใส่เข้าไปจะกลายเป็นความร้อนที่เกิดกับหม้อน้ำ (ซึ่งเราทราบกันดีแล้ว) ที่เหลืออีกประมาณ 20% เท่านั้น ที่จะทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ได้ แต่ในกรณีรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งใช้มอเตอร์มันจะสลับกันครับ ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะสูงมาก ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ก็ผลิตจากแสงอาทิตย์ซึ่งต้นทุนการผลิตก็ถูกมาก
ในแง่ของการบำรุงรักษา รถยนต์ไฟฟ้ามีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่เพียง 18 ชิ้นเท่านั้น ในขณะที่รถยนต์ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 พันชิ้น ดังนั้น ค่าบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าจึงต่ำมาก ด้วยเหตุนี้ รถยนต์ Tesla Model S จึงรับประกันอุปกรณ์ (warranty) ทุกชิ้นโดยไม่จำกัดจำนวนไมล์
Elon Musk ซีอีโอของบริษัท Tesla กล่าวว่า “Tesla Model S ไม่ใช่รถยนต์ แต่มันคือคอมพิวเตอร์หรูที่วางอยู่บนล้อ” ซึ่งผลิตโดยบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ไม่ใช่บริษัทรถยนต์ที่เราคุ้นหู อย่างไรก็ตาม นิตยสารที่เกี่ยวกับยานยนต์ได้ยกย่องให้ รถยนต์ Tesla Model S เป็นรถยนต์ที่ดีที่สุดในบรรดารถยนต์ทุกคันที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์
เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์ เราคงเข้าใจนะครับว่า มันมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคากลับลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้น คำเปรียบเทียบของ Elon Musk ดังกล่าว จึงได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ชัดเจนเป็นอย่างดี
ในเชิงวิชาฟิสิกส์ องค์ความรู้ที่ใช้ในการทำงานของรถยนต์ธรรมดาที่เผาไหม้ภายใน เป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่า “ฟิสิกส์แบบดั้งเดิม (Classical Physics)” อาศัยทฤษฎีพื้นฐานของนิวตัน และกฎของเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และความเร็วไม่มาก แต่การทำงานของคอมพิวเตอร์ต้องใช้องค์ความรู้เรียกว่า “ฟิสิกส์แบบควอนตัม (Quantum Physics)” ซึ่งเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดเล็กมาก และเคลื่อนที่ความเร็วสูงใกล้ความเร็วแสง องค์ความรู้ในวิชาฟิสิกส์แบบควอนตัม ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้รับรางวัลโนเบล
สตีฟ จอบส์ เคยอธิบายไว้เมื่อปี 2526 ว่า “คอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องมือง่ายๆ อย่างหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือชนิดใหม่ที่เกียร์ และลูกสูบได้ถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอน ซึ่งจะมีอิเล็กตรอนนับล้านๆ ตัวเคลื่อนที่ไปมา โดยที่มันสามารถทำงานได้รวดเร็วมาก”
เมื่อนำคำเปรียบเทียบดังกล่าวของ สตีฟ จอบส์ มาอธิบายเรื่องรถยนต์ เราจึงได้ข้อสรุปว่า รถยนต์ธรรมดาเป็นผลผลิตของฟิสิกส์แบบดั้งเดิม ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นผลผลิตของฟิสิกส์แบบควอนตัมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพสูงกว่าเยอะ
ผมได้อธิบายนอกเหนือไปจากสิ่งที่คุณ Tony Seba บรรยายค่อนข้างเยอะครับ ทั้งนี้ ก็เพื่อความเข้าใจถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดของเขา
คุณ Tony Seba ยังได้พยากรณ์ว่า ในอนาคตความจำเป็นในการเป็นเจ้าของรถยนต์จะลดลงมาก แต่จะใช้บริการรถยนต์ร่วมกันโดยใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งสามารถสื่อสารผ่านเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันรถยนต์ส่วนบุคคลจะจอดเฉยๆ 96% ของเวลาทั้งหมด จึงเกิดปัญหาที่จอดรถไม่พอ
เราคงเคยได้ยินคำพูดของรัฐมนตรีน้ำมันประเทศซาอุดีอาระเบีย (Sheikh Zaki Yamani) เมื่อประมาณ 40 ปีก่อนว่า “ยุคหินไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะหินมันหมด ดังนั้น ยุคน้ำมันก็จะสิ้นสุดลงนานก่อนที่น้ำมันจะหมด”
มาถึงยุคนี้ คุณ Tony Seba ได้กล่าวว่า “ยุคของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและนิวเคลียร์ จะสิ้นสุดลง ไม่ใช่เพราะว่า เราหมดปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือยูเรเนียม แต่จะสิ้นสุดลงเพราะว่า (1) การพลิกโฉมของเทคโนโลยีชั้นยอด Disruption by Superior Technology) (2) สถาปัตยกรรมของผลิตภัณฑ์ (Product Architecture) และ (3) ตัวแบบเชิงธุรกิจ (Business Model)”
ผมเองยังไม่กระจ่างชัด ในปัจจัยที่ (2) และ (3) ของคุณ Tony Seba มากนัก แต่สำหรับปัจจัยที่ (1) คือ การพลิกโฉมของเทคโนโลยีชั้นยอด ผมคิดว่า ผมเข้าใจดีครับ เพราะได้เคยเจอมากับตัวเองแล้วตั้งแต่ปี 2516 ในกรณีเครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์เมนเฟรม รวมทั้งตัวอย่างอื่นๆ ในช่วง 5-6 ปี เช่น ฟิล์มถ่ายรูป และโทรศัพท์บ้าน เป็นต้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พวกที่คุมนโยบายของรัฐ แต่ยังมีความคิดที่ล้าหลังครับ
สุดท้ายขอเสนอภาพรถยนต์ไฟฟ้าจอดใต้แผงโซลาร์เซลล์ พร้อมๆ กับการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ทุกท่านได้มั่นใจว่า ยุคน้ำมันเป็นสิ่งพ้นสมัยอยู่ไม่ไกลครับ