xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าโล่งอกที่รัฐบาลหม่องระงับสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เพื่อผลิตพลังงานขายไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวมะริดโล่งอกรัฐบาลพม่าสั่งระงับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินส่งขายไทย เผยสั่งชะลอทั่วประเทศตามข้อร้องเรียนของประชาชน
 
วันนี้ (17 ส.ค.) คณะสื่อมวลชนไทย-พม่า ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ รวมถึงนักเขียนได้ลงพื้นที่ที่หมู่บ้านมเวชอง (Mwe Shawng) จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า เพื่อเก็บข้อมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ลงนาม MOU กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า ขนาดกำลังผลิต 2,640 เมกะวัตต์ ร่วมกับอีก 3 บริษัท มูลค่าโครงการ 170,000 ล้านบาท โดยมีแผนส่งไฟฟ้าขายให้ประเทศไทย แต่ชาวมะริดในหลายหมู่บ้านไม่เห็นด้วย และทำหนังสือคัดค้านเสนอไปหลายหน่วยงาน และหลายครั้ง กระทั่งรัฐบาลชุดเก่าที่มี นายเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี ได้ประกาศชะลอโครงการไปแล้วเมื่อปี 2015
 

 
นายอาว พุก ตัวแทนชาวบ้านมเวชอง กล่าวว่า ตนรู้สึกมีความหวัง และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะไม่นำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาสร้างในชุมชนเป็นแน่ ถ้าจะนำเข้ามาใหม่ขอเป็นรูปแบบพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทนจะดีกว่า ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ได้เป็นตัวแทนไปศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใกล้ชายแดนจีน พบว่า ชุมชนที่นั่นมีโรงไฟฟ้า ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
 
“อย่างเช่นกรณีผลการตรวจสุขภาพในทารกแรกเกิดพบว่า มีความผิดปกติทางร่างกาย และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง ส่วนสตรีมีครรภ์ที่ได้รับมลพิษทั้งควันพิษ ทั้งน้ำเสียที่เกิดจากโรงไฟฟ้าจะมีสุขภาพอ่อนแอ ทำให้เด็กในครรภ์ได้รับอันตราย” 
 
นายอาว กล่าวด้วยว่า นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ก็ยังมีผลกระทบต่อพืช เช่น ในชุมชนที่โรงไฟฟ้าปล่อยน้ำเสียลงคลอง เมื่อปลูกต้นไม้แล้วเอาน้ำเหล่านั้นมารดต่อเนื่องจะพบว่า ต้นไม้โต แต่มีความผิดปกติ แสดงว่าต้นไม้ได้รับพิษจากโรงไฟฟ้าแน่นอน ชาวบ้านจึงมั่นใจว่าชุมชนที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช
 
“ผมคิดว่ายังไงโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้จำเป็นไปกว่าการมีข้าวกิน มีผัก ผลไม้ มีแม่น้ำที่สะอาด การมีคนเจ็บตาย แต่ไฟฟ้าสว่างแจ้ง จะมีไปทำไมกัน ตอนนี้ก็ดีใจที่รัฐบาลประกาศชะลอ และถ้ามีโรงไฟฟ้าประเภทอื่นเข้ามาก่อสร้างภายหลัง ชาวบ้านจะขอดูก่อนว่ามันสะอาดพอไหม มีผลอย่างไรต่อชุมชน” นายอาว กล่าว
 

 
ด้านนายทุน จี ชาวบ้านมเวชอง กล่าวว่า ข้อมูลบางส่วนระบุว่า อัตราเด็กแรกเกิดที่รอดชีวิตในพื้นที่ซึ่งมีโรงไฟฟ้ามีแค่ 3 ใน 10 คนเท่านั้น ตรงนี้ก็น่ากังวลอย่างมาก อยากย้ำว่าควันที่โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยออกมาลอยไปสู่อากาศนั้น เมื่อถึงเวลาชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นก็จะต้องสูดดม มลพิษทางอากาศก็กลับมาสู่คนทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
 
นายทุน กล่าวต่อว่า กระบวนการต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2012 และในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศชะลอโครงการเมื่อปี 2015 เมื่อชาวบ้านรู้ถึงพิษภัยของโรงไฟฟ้าแล้ว ส่วนหนึ่งจะมีเวทีประชุมหมู่บ้านร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า จะรับหรือไม่รับโรงไฟฟ้า  อีกส่วนหนึ่งจะมีการเดินสายไปตามหมู่บ้านอื่นๆ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการโรงไฟฟ้าจากแต่ละหมู่บ้าน พร้อมกระจายข้อมูลข่าวสารด้านดี ด้านเสียของโรงไฟฟ้า จากนั้นจะสรุปข้อมูลแล้วทำหนังสือส่งถึงหน่วยงานของรัฐเพื่อยืนยันความคิดเห็นว่าชาวบ้านไม่ต้องการโรงไฟฟ้า
 
ขณะที่นักกิจกรรมทางสังคมพม่าในเมืองมะริด และเป็นอดีตนักศึกษากลุ่ม 88 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันระงับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด และโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดทั่วประเทศแล้ว โดยรองมุขมนตรีภาคตะนาวศรี มีคำสั่งระงับการดำเนินโครงการที่มะริด ตามคำสั่งรัฐบาล เพราะรัฐบาลพม่าชุดนี้มาจากการเลือกตั้งจึงต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ ในสมัยรัฐบาลทหารที่นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ชาวบ้าน และภาคประชาชนได้ให้ข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจและสาธารณะอย่างมาก มีกิจกรรมรณรงค์ ส่งจดหมายถึงรัฐบาล และบริษัทเอกชนผู้ลงทุนในโครงการด้วย
 
“ประชาชนชาวมะริดได้ประกาศมาตลอดว่าไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินใดๆ ผมเชื่อว่าบริษัทเอกชนใดๆ ที่จะเข้ามาลงทุนย่อมรับทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่แล้ว พม่ามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ก๊าซธรรมชาติในทะเล แต่ที่ผ่านมากลับส่งออก” นักกิจกรรมทางสังคม กล่าว
 

 
อดีตนักศึกษากลุ่ม 88 กล่าวด้วยว่า จังหวัดมะริด มีความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเพียงประมาณ 5 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 20เมกะวัตต์  เพราะเป็นจังหวัดที่มีประชากรเพียง 1.5 ล้านคน และขณะนี้รัฐบาลพม่ามีแผนในการสร้างระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีการเดินสายส่งมายังรัฐมอญ แต่ภาคตะนาวศรียังเป็นพื้นที่ห่างไกล
 
แกนนำกลุ่มนักศึกษาพม่า88 กล่าวว่า ปัจจุบันในพม่าซึ่งมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียง 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ที่เมืองเกาะสอง ภาคใต้สุดของพม่า และอีกโรงที่รัฐฉานตอนล่าง ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โรงรัฐบาลพม่าได้หยุดดำเนินการแล้วทั้ง 2 โรง เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้คัดค้านอย่างหนักเนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน โครงการใหญ่อย่างเขื่อนมิตส่ง บนแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นการลงทุนจากจีน ก็ยังต้องหยุดไป เพราะผลกระทบที่จะเกิดต่อลุ่มน้ำอิรวดี ซึ่งเป็นไปเพื่อจิตวิญญาณของประชาชนชาวพม่า 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น