เชียงราย - กลุ่มสินค้าน้ำตาล และเนื้อแช่แข็งที่เคยส่งออกผ่านชายแดนเชียงแสน-แม่น้ำโขงปีละหลายพันล้านบาทยอดลดฮวบฮาบ หลังพม่า-จีนปิดท่าเรือสบหลวย พร้อมคุมเข้มด่าน 240 ช่องทางขนส่งสินค้าไทยผ่านแผ่นดินพม่า ก่อนเข้า สป.จีน
วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาลใหม่พม่า รวมถึงทางการจีนห้ามเรือสินค้าเข้าเทียบท่าเรือสบหลวย ริมฝั่งน้ำโขง เหนือสามเหลี่ยมทองคำ ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 200 กม.ที่เคยเป็นช่องทางขนสินค้าจากไทยเข้าพม่า และจีนตอนใต้ มาตลอด เพราะเป็นท่าเรือที่อยู่นอกข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ 4 ชาติในแม่น้ำโขงตอนบน (ไทย พม่า ลาว จีน)
นอกจากนี้จีนยังเข้มงวดการนำเข้าสินค้าผ่านด่าน 240 ชายแดนเขตปกครองพิเศษที่ 4 พม่า-จีน ที่เคยเป็นช่องทางนำสินค้าที่ขึ้นจากท่าเรือสบหลวย ผ่านพม่า เข้าจีนตอนใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
จนเป็นผลทำให้เรือสินค้าสัญชาติจีน และ สปป.ลาวที่เคยวิ่งรับ-ส่งสินค้าผ่านแม่น้ำโขงกันอย่างคึกคักต้องจอดริมฝั่ง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว หลายร้อยลำเพื่อรอประเมินสถานการณ์นั้น (http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000071614)
นายสันติ วิสุทธิ์สิริ พาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.เชียงราย ได้หยิบยกเข้าหารือในที่ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะทราบกันโดยทั่วไปว่าเมืองท่าสบหลวยของประเทศพม่าเป็นช่องทางเชื่อมโยงการค้าทั้งในประเทศพม่า และจีนตอนใต้
โดยมีสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยผ่านช่องทางนี้จำนวนมากมานานแล้ว เพราะมีความสะดวกมากกว่าการขนส่งไปยังท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านของจีนตอนใต้ โดยตรง รวมทั้งยังเกี่ยวพันกับเรื่องอัตราภาษีอากร ซึ่งทางจีน-พม่า และจีน-สปป.ลาว มีข้อตกลงเรื่องการลดอัตราภาษีในฐานะประเทศที่มีดินแดนติดต่อกันด้วย ขณะที่ไทย เคยขอสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากจีน
ทั้งนี้ ตามสถิติการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสน พบว่าในปี 2557 มีการส่งออกไปยังประเทศจีน 3,352.72 ล้านบาท สปป.ลาว 6,894.71 ล้านบาท พม่า 3,285.99 ล้านบาท, ปี 2558 มีการส่งออกไปยังประเทศจีน 3,352.72 ล้านบาท สปป.ลาว 6,894.71 ล้านบาท พม่า 3,285.99 ล้านบาท และปี 2559 (ต.ค. 2558-มิ.ย. 2559) มีการส่งออกไปยังประเทศจีน 2,386.81 ล้านบาท สปป.ลาว 8,169.51 ล้านบาท และพม่า 2,243.64 ล้านบาท
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในปีที่ผ่านๆ มาจนถึงปี 2557 สินค้าที่มีการส่งออกมากคือ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง โคมีชีวิต น้ำมันดีเซล ฯลฯ โดยปี 2557 สินค้าที่ส่งออกไปมากอันดับ 1 คือ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง มูลค่า 3,478.88 ล้านบาท โคมีชีวิต มูลค่า 900.99 ล้านบาท น้ำมันดีเซล มูลค่า 734.44 ล้านบาท ส่วนเนื้อกระบือแช่แข็ง มีมูลค่าเพียง 680.67 ล้านบาท ยางแผ่นรมควันมูลค่า 596.36 ล้านบาท และน้ำตาลทรายมูลค่า 592.70 ล้านบาท ฯลฯ
ขณะที่ในปี 2558 พบว่าน้ำตาลทรายกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยมีการส่งออกมากถึง 211.506 ตัน มูลค่า 2,586.71 ล้านบาท รองลงมาคือ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง น้ำหนัก 35,400 ตัน มูลค่า 2,585.14 ล้านบาท, เนื้อกระบือ-ชิ้นส่วนกระบือแช่แข็ง น้ำหนัก 11,906 ตัน มูลค่า 1,378.53 ล้านบาท, โคมีชีวิต มูลค่า 1,082.02 ล้านบาท, สุกรมีชีวิต มูลค่า 948.48 ล้านบาท, น้ำมันดีเซล มูลค่า 842.57 ล้านบาท, รถยนต์ใหม่ มูลค่า 512.23 ล้านบาท, ลำไยอบแห้ง มูลค่า 392.10 ล้านบาท, กระบือมีชีวิต มูลค่า 349.05 ล้านบาท, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง มูลค่า 371.35 ล้านบาท และสินค้าเบ็ดเตล็ดมูลค่า 4,766.24 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อทางการจีนเข้มงวดสินค้านำเข้านอกระบบทั้งที่ด่าน 240 ชายแดนจีน-พม่า พรมแดนเขตปกครองพิเศษที่ 4 ดังกล่าว และด่านโมฮาน ชายแดนจีน-สปป.ลาว บนถนนอาร์สามเอ พบว่ามูลค่าสินค้าประเภทน้ำตาล และเนื้อแช่แข็งลดลงตามลำดับ
แหล่งข่าวชายแดนกล่าวว่า กรณีการยกเลิกเมืองท่าสบหลวยดังกล่าว สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากคือ น้ำตาลทราย และเนื้อแช่แข็ง ซึ่งเคยถูกทางการจีนจับตาจนถึงขั้นส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้าขาเข้าที่ด่าน 240 ซึ่งห่างจากท่าเรือสบหลวยประมาณ 40 กิโลเมตร อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สินค้าเข้าสู่ระบบ หรือมีการขนส่งสินค้าไปยังเมืองท่ากวนเหล่ย ที่เหนือท่าเรือสบหลวยขึ้นไปประมาณ 100 กิโลเมตรแทน
ขณะที่เนื้อแช่แข็งก็พบว่าไม่ใช่สินค้าที่มีอยู่ในข้อตกลงการค้าไทย-จีน และส่วนใหญ่ถูกส่งต่อมาจากประเทศที่สาม เช่น อินเดีย ฯลฯ ส่วนน้ำตาล ก็เป็นสินค้าผ่านแดนที่มีการจำกัดโควตาโดยไม่ใช่สินค้าส่งออกปกติ
“เมื่อสินค้าเหล่านี้ถูกทางการจีนเข้มงวดบางครั้งก็ส่งออกไม่ได้ ต้องนำย้อนกลับมาประเทศไทย และถูกเจ้าหน้าที่ไทยตรวจยึดได้หลายครั้งตามที่ปรากฏเป็นข่าวคราวมาแล้ว”
จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าการค้าชายแดน-การค้าผ่านแดน ผ่านแม่น้ำโขงตอนบนจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะเมืองท่าสบหลวย ช่องทางการค้าสำคัญที่เคยคึกคักมายาวนานเป็นช่องทางขนส่งสินค้าสำคัญอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ทั้งของเขตปกครองพิเศษที่ 4 เมืองลา ของกลุ่มไทใหญ่ และ บก.ปางซาง เขตปกครองพิเศษที่ 2 ของกลุ่มว้า ด้วย