สตูล - เกษตรกรชาวสตูลแบ่งพื้นที่ทำกินส่วนหนึ่ง จำนวน 9 ไร่ จากพื้นที่ 19 ไร่ ปลูกป่าใหญ่หลากหลายตระกูลคืนสู่ธรรมชาติ ตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันนี้ (2 ก.ค.) เกษตรกรชาว อ.ควนกาหลง จ.สตูล แบ่งพื้นที่ทำกินส่วนหนึ่งเพื่อมาปลูกป่า จำนวน 9 ไร่ จากพื้นที่ 19 ไร่ เพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวคิดของ นายอดิศักดิ์ จงวิไลเกษม หรือพี่เอียด อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 178 หมู่ที่ 6 บ้านน้ำหรา ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล ที่มีความตั้งใจในการปลูกป่าบนพื้นที่ของตนเองมานานร่วม 10 ปีแล้ว
วันนี้ ต้นตะเคียนทอง ต้นไม้สัก ต้นพะยอม ต้นมะฮอกกานี เทียม และต้นจำปา ไม้เนื้อแข็งยืนต้นขนาดใหญ่ที่สูงตระหง่านปกคลุมพื้นที่ สร้างความร่มรื่น ร่มเงา และชีวิตชีวา เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่พี่เอียดคาดหวังไว้ว่า จะปลูกป่าจากพื้นที่ทำกินของตนแห่งนี้ส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งบุตรสาวก็ได้ขานรับว่า จะไม่ตัดโค่นป่าที่พ่อปลูก และพร้อมจะดูแลปกป้องไม่ให้ใครมาทำลาย
ซึ่งทุกคนในครอบครัว “จงวิไลเกษม” ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผืนป่าที่ปลูกมากับมือด้วยความภาคภูมิใจ และเห็นว่า “การปลูกต้นไม้จะให้ชีวิต ส่งถึงลูกหลาน ต้นไม้ก็จะรักษาคนปลูก” ซึ่งไม่สามารถจะประเมินราคาทางด้านจิตใจของผู้ปลูกได้
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.สตูล ได้เชิญหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลา-บาลา ลงทำการวิจัย และเก็บวัดค่าคาร์บอนเครดิตผืนป่าแห่งนี้ เพื่อทำวิจัย และได้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของหลายหน่วยงานหมุนสลับสับเปลี่ยนกันมาร่วมชื่นชม
นายอดิศักดิ์ จงวิไลเกษม เล่าว่า การปลูกต้นไม้ในครั้งนี้ปลูกขึ้นมาเพื่อเป็นการตอบแทนแผ่นดิน ปลูกขึ้นมาโดยใช้หลักตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าปัจจุบันมีการทำลายป่าไม้ และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศ หรือว่าตามโรงงานต่างๆ ก็ค่อนข้างจะเยอะ รวมทั้งเรื่องของน้ำเสียก็เช่นกัน ทางครอบครัวเลยมีแนวความคิดว่า น่าจะปลูกป่าไม้ดีกว่า ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้ปลูกคือ ต้นตะเคียนทอง ไม้สัก หลุมพอ มะฮอกกานี สะเดา เทียม จำปา ไม้พะยูง ยางแดง แล้วก็ยางนา และปลูกมาแล้วกว่า 10 ปี
ซึ่งปีนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว สาเหตุที่เลือกปลูกต้นไม้เหล่านี้เพราะว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่หันมาช่วยกันปลูกต้นไม้ ต่อไปโลกของเราไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร อย่างเช่น พายุฤดูร้อน ภัยแล้ง ภัยตรงนี้ก็เจอกันเกือบทุกจังหวัด การปลูกต้นไม้ถือว่าไม่เป็นการสูญเปล่า เพียงแค่เสียสละพื้นที่ 1 ไร่ ในแต่ละครัวเรือน เพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ ใช้ได้เยอะมาก
คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะทำร่วมกัน ตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานให้การตอบรับ และให้ความสนใจค่อนข้างเยอะ เพราะป่าไม้ตอนนี้ก็ถือว่ากระแสมาค่อนข้างจะแรง สำหรับในพื้นที่ 19 ไร่ ก็ได้ปลูกปาล์มเพื่อที่จะได้มีรายได้จากจุดนี้มาจุนเจือครอบครัว แล้วก็ยังสามารถส่งบุตรเรียนได้ทั้ง 2 คน
คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ได้รับการนำมาใช้เพื่อเป็นกลไกเพื่อประเทศที่พัฒนาแล้วจะประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซ สามารถซื้อโควตาคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการพัฒนาที่สะอาดที่เรียกว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก
โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีสิทธิขายคาร์บอนเครดิต ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการเผาทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น