จากผลสำรวจของ “วีซ่า” จัดทำโดย บริษัท มูดี้ส์ อนาไลติคส์ (Moody’s Analytics) แสดงให้เห็นว่าจำนวนธุรกรรมและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยถึง 3.18 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.13 แสนล้านบาทโดยประมาณ) หรือสูงขึ้น 0.19% ในอัตราการเติบโตของ GDP ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2554-2558 ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่เพิ่มสูงที่สุดในทวีปเอเชีย รองลงมาคือเวียดนาม 0.14% และสิงคโปร์ 0.1% โดยประเทศไทยยังได้รับผลพลอยได้จากการเติบโตของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยสร้างงานกว่า 75,730 อัตราต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว
เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อัตราการเติบโตของ GDP ที่เป็นผลมาจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยถือว่าเติบโตมากกว่าถึง 3 เท่า นอกจากนั้น ระบบ “อี-เพย์เมนต์” ยังดัน GDP ของภูมิภาคเอเชียโดยรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.06%
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่างๆ ของระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทุกประเทศทั่วโลกด้วย โดยผลสำรวจยังระบุให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาระบบชำระเงินที่เปิดกว้างและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งยังส่งผลถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานอีกด้วย
“ในประเทศไทย วีซ่าได้ร่วมมือกับสถาบันทางการเงิน ร้านค้า บริษัทด้านเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและจับต้องได้ รวมไปถึงการเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยขยายร้านค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการนำประโยชน์ในการชำระเงินผ่านบัตรมาให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ”
ผลสำรวจโดย “มูดี้ส์ อนาไลติคส์” ยังได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในด้านการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจาก 70 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี 2554-2558 เผยให้เห็นว่าการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพด มีส่วนเพิ่มมูลค่าให้ GDP ถึง 296 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังส่งผลต่อการบริโภคสินค้าและบริการในระดับครัวเรือนโดยเฉลี่ย 0.18% ต่อปี
นักเศรษฐศาสตร์ของ “มูดี้ส์ อนาไลติคส์” ยังประเมินจำนวนเฉลี่ยของงานที่เกิดจากระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2.6 ล้านงานต่อปีภายใน 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลครอบคลุม 70 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 95% ของ GDP ของโลก
นายมาร์ค แซนดี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ “มูดี้ส์ อนาไลติคส์” กล่าวว่า การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนเป็นอย่างมากในการสนับสนุนการบริโภคภายใน การเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคส่วนอุตสาหกรรม การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ และการสร้างงาน ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่มีการใช้บัตรสูง จะมีอัตราการเจริญเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจที่สูงตามมา
ผลสำรวจดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในรายงาน “ผลกระทบของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะเอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งและเปิดโอกาสให้กับอีกหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ยังมีส่วนช่วยลดจำนวนของเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งเป็นลักษณะการทำธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลักและไม่ได้รวมอยู่ในสถิติทางราชการ โดยผลที่ได้จากการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนนี้คือ รัฐจะมีรายได้ที่มาจากการจ่ายภาษีมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมด้วยเงินสด สร้างความมั่นใจทางการเงินให้แก่ร้านค้า และทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น
สาระสำคัญจากผลวิจัย
โอกาสในการเจริญเติบโต
การเข้าถึงบัตร :การบริโภคที่แท้จริงมีการเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ตั้งแต่ปี 2554-2558 โดยจำนวน 0.01% นั้นเป็นผลมาจากการใช้บัตรที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันถือได้ว่าการใช้บัตรกระตุ้นการบริโภคที่ 0.4% ของอัตราการเจริญเติบโต ดังนั้นยอดการเติบโตของการบริโภคโดยเฉลี่ยในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงมีความรวดเร็วยิ่งขึ้นจากการเพิ่มบัตรในตลาด
การใช้บัตร : ประเทศที่พบว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรสูงจะมีค่า GDP ที่สูงตามด้วย ดังเช่น ฮังการี (0.25%) สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (0.23%) ชิลี (0.23%) ไอร์แลนด์ (0.2%) โปแลนด์ (0.19%) และออสเตรเลีย (0.19%) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มีอัตราการใช้งานผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ประโยชน์ต่อการจ้างงาน : อัตราการใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นมีส่วนช่วยเพิ่มงานโดยเฉลี่ยกว่า 2.6 ล้านอัตราต่อปี ใน 70 ประเทศวิจัยทั่วโลกในระหว่างปี 2554-2558 โดยประเทศที่มีอัตราว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นคือจีน มีการว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 4.27 แสนอัตรา และอินเดียมีการว่าจ้างงาน 3.36 แสนอัตรา เพราะศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมีจำนวนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น
ตลาดเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว : กลุ่มตลาดที่เกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้วต่างเห็นถึงปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังมีจำนวนการใช้บัตรสูง โดยในตลาดเกิดใหม่นั้นการใช้บัตรที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยเพิ่มการบริโภคถึง 0.2% และสูงถึง 0.14% ในประเทศที่พัฒนาแล้วในระหว่างปี 2554-2558 ซึ่งส่งผลถึงค่า GDP เพิ่มขึ้น 0.11% ในตลาดเกิดใหม่ และ 0.08% ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากว่าไม่มองถึงอัตราการเข้าถึงการใช้บัตรแล้วเมื่อประเทศใดมีการใช้บัตรที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลต่อจำนวนการบริโภคที่สูงขึ้นตามไปด้วย
โอกาสการเติบโตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จากผลการสำรวจของ “มูดี้ส์ อนาไลติคส์” ใน 70 ประเทศพบว่า ทุกๆ การเพิ่มขึ้น 1%ในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับด้านการบริโภคสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละราว 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากยังสามารถคงปัจจัยทั้งหมดนี้ได้ต่อไปในอนาคต สัดส่วนของการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะมีส่วนช่วยดันให้เพิ่ม GDP สูงถึง 0.04% ต่อปี
ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าลำพังการขยายช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้ทีเดียว หากต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะต้องมีโครงสร้างการเงินที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี พร้อมระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
ผลงานวิจัยนี้ยังแนะนำถึงการพัฒนาว่าควรต้องเริ่มในระดับมหภาค โดยนโยบายภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะข้อบังคับที่เปิดกว้างมีประสิทธิภาพ สร้างโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง อันจะนำไปสู่การกระตุ้นการบริโภคภายในที่ดียิ่งขึ้นต่อไป