ผู้จัดการรายวัน 360 - เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าชื่อดัง เผยมูลค่ารวมของตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท แต่เงินทุกๆ 100 บาทที่คนไทยใช้จ่ายในแต่ละวัน มีเพียง 50 สตางค์เท่านั้นที่เป็นการใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์ ระบุคนไทยเข้าเว็บไซต์มากกว่าเดินห้างถึง 41 เท่า ชี้ยังจำเป็นต้องปั้นฐานลูกค้าในยุคคอนเทนต์ครองเมือง
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้า เปิดเผยว่า วงการอี-คอมเมิร์ซในปี 2559 มีเทรนด์หลักที่น่าสนใจ 5 ด้านคือ 1.Brand.com - เมื่อแบรนด์เบนเข็มเข้าหาลูกค้าโดยตรงผ่านทางช่องทางต่างๆ ก็สามารถใช้ฐานข้อมูลลูกค้าในมือเพื่อสร้าง หรือรักษาความได้เปรียบเอาไว้
2.สิ้นสุดเส้นแบ่งออฟไลน์-ออนไลน์ นอกจากแบรนด์เจ้าของสินค้าแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ ในประเทศไทยมีคนเข้าเว็บไซต์มากกว่าคนเดินห้างถึง 41 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จะไม่พลาดโอกาสในการจับจองส่วนแบ่งตลาดในช่องทางออนไลน์ไว้
3.ลบล้างทุกพรมแดนกับ “เส้นทางสายไหม 2.0” ปัจจุบันจากเงินทุกๆ 100 บาทที่คนไทยใช้จ่ายในแต่ละวัน พบว่ามีเพียง 50 สตางค์เท่านั้นที่เป็นการใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์ แต่มูลค่ารวมของตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยในปัจจุบันก็ยังสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้
“หากเราลองชายตามองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะพบว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งอาจมีอัตราส่วนการใช้จ่ายสูงถึง 10% จากยอดรวมทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าการซื้อขายสินค้าในโลกออนไลน์เป็นช่องทางที่ล้ำค่า ไม่ต่างจากเส้นทางสายไหมที่จุดประกายสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศจีนเมื่อหลายศตวรรษก่อน ตลาดในบ้านเราก็ต้องรับมือกับการมาถึงของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะยักษ์สัญชาติจีนอย่าง JD, Alibaba หรือ Lightinthebox ที่หันมารุกตลาดอาเซียนกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา”
4.ปั้นฐานลูกค้าในยุคคอนเทนต์ครองเมือง ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซต้องปั้นแต่งเนื้อหาบนหน้าร้านให้น่าสนใจ เพราะคอนเทนต์เหล่านี้มีบทบาทเป็นเหมือนกับพนักงานขายในโลกดิจิตอลนั่นเอง อย่างการเปิดบล็อกเพื่อแบ่งปันเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสินค้าบางประเภท บอกเล่าประสบการณ์การใช้งานผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ หรือการถ่ายทำรีวิวสินค้าในรูปแบบวิดีโอ เป็นต้น
5.ลูกค้าอยู่ที่ไหนไปที่นั่น สำหรับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ การนำสินค้าไปปรากฏอยู่บนช่องทางต่างๆ ที่หวังผลได้ให้มากที่สุดเป็นอีกกลยุทธ์ในการสร้างรายได้และการเติบโต โดยนอกจากเว็บไซต์หลักและหน้าร้านที่เป็นตลาดใหญ่แล้ว ยังควรพิจารณาช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา เป็นต้น
“ปัจจุบันมีธุรกิจอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถปรับทิศทางของตนเองให้เข้ากับโลกยุคนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในวงการค้าปลีกออนไลน์ที่ต้องคอยขยับขยายและเปลี่ยนแปลงกันไม่หยุดยั้งเพื่อไล่จับกับเทรนด์ต่างๆ ให้ทัน ทั้งในฝั่งของผู้บริโภคและกลยุทธ์จากแบรนด์สินค้ามากมายในตลาด” นายธนาวัฒน์ กล่าวเสริม