ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ไม่เอาอีกแล้ว! ชาวขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา ลุกฮือขึ้นป้ายต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 2 หลังโรงแรกเปิดใช้งานผ่านไปแค่ 6 เดือน ปล่อยมลพิษอื้อ ส่งผลกระทบต่อทั้งคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
วันนี้ (1 มิ.ย.) ชาวชุมชน ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา รวมตัวกันขึ้นป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลขุนตัดหวาย โรงที่ 2 และออกแผ่นปลิว เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 1 ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว เปิดใช้งานผ่านไป 6 เดือน ปรากฏว่า ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มีหน่วยงานไหนสามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัด แม้ว่าจะมีการส่งหนังสือร้องเรียนไปแล้วหลายครั้งก็ตาม แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับเพิกเฉย
น.ส.สศศิธร เจริญศรี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลขุนตัดหวาย โรงที่ 1 ทางโรงไฟฟ้าชีวมวล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแอบดำเนินการ เมื่อชุมชนทราบก็สร้างเสร็จแล้ว หลังจากเปิดดำเนินการผ่านไปได้ 6 เดือน เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง มีทั้งการปล่อยน้ำเสียลงลำคลองสาธารณะของชุมชน กลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง สัตว์น้ำตายอย่างต่อเนื่อง ควันพิษ และฝุ่นกระจายไปทั่วชุมชน มีคนป่วยระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนโดยไม่มีหน่วยงานใดรู้สึกว่ามีส่วนต้องออกมารับผิดชอบ แต่สุดท้ายคนขุนตัดหวาย ต้องรับกรรมที่ไม่ได้มีส่วนก่อขึ้น แต่คนและหน่วยงานที่มีส่วนในการสร้างผลกระทบดังกล่าวไม่มีสำนึกว่ามีความผิด ยังเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีมวล โรงที่ 2 อีก
น.ส.ศศิธร กล่าวเพิ่มเติม วันนี้ชาวขุนตัดหวาย ได้ไปขึ้นป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ในชุมชนให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อต้องการยืนยันว่า ชาวขุนตัดหวาย ไม่ต้องการมลพิษเพิ่มอีกแล้ว เพราะมลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 1 ก็สาหัสแล้วสำหรับคนขุนตัดหวาย จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ให้คิดถึงสุขภาพของชาวขุนตัดหวายด้วย ความทุกข์ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนทางสังคมที่ไม่เคยถูกคิดในการดำเนินโครงการต่างๆ แต่เป็นต้นทุนทางสังคมที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้น ขอเรียกร้องให้หยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 2 และขอร้องเรียนให้แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 1 โดยเร่งด่วนด้วย
ที่ผ่านมา ทางชุมชนได้ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นคำถามที่ทางชาวบ้านได้สอบถามไปยังผู้รับผิดชอบของทางโรงฟ้าชีวมวล โรงที่ 1 และเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ดังนี้
1.ความจำเป็น หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น 2 โรง ในพื้นที่ตำบลเดียวกัน ไฟฟ้าขาดแคลนจริงหรือไม่
2.ปริมาณเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ (เศษไม้ยางพารา หรือไม้อื่นๆ) มีเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงหรือไม่ หากขาดแคลนเชื้อเพลิง การจัดการต่อไปจะทำอย่างไร ทางชุมชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการลักลอบนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงด้วย
3.แหล่งน้ำ และระบบนิเวศในชุมชนเริ่มมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสื่อมโทรมจากการดำเนินการผลิตไฟฟ้าของโรงที่ 1 หากมีโรงที่ 2 เกิดขึ้นผลกระทบดังกล่าวจะเพิ่มเป็นทวีคูณ ดังนั้น ทางชุมชนจึงเสนอให้ทางบริษัทดังกล่าวจัดการระบบนิเวศให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เช่นเดิมก่อนการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้า โรงที่ 2
4.ปริมาณฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ส่งผลกระทบต่อชุมชน ถึงแม้ว่าทางโรงไฟฟ้า โรงที่ 1 จะมีการตรวจวัด และรายงานผกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การกระทำดังกล่าวมีความถี่ในการตรวจวัดปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับการผลิต และผลกระทบที่ชุมชนได้รับ
5.โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 1 เดินเครื่องแล้วส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมาก ไม่เหมือนอย่างที่แจ้งไว้ตอนก่อนจะสร้าง มีทั้งเสียงดัง ควันดำ ส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่นเขม่าดำ ที่ดูด้วยตาเปล่าก็น่าจะเดาได้ว่าเกินมาตรฐาน มลพิษที่ออกมาทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง สะสมในร่างกาย ในน้ำ ในอากาศ ในนาข้าว ไม่นานชาวขุนตัดหวายจะตายเร็ว โรงงานโรงแรกก็ยังไม่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีได้ ควรทำโรงแรกให้ดีก่อนไหม พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นก่อนไหม จึงค่อยมาคิดจะสร้างโรงที่ 2
6.โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 2 ทำไมเลือกสร้างใกล้มากจากโรงแรก ห่างเพียง 1 กิโลเมตร จากเดิมที่มี 9.9 เมกะวัตต์ มาสร้างอีก 9.9 เมกะวัตต์ เช่นนี้แล้ว เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพราะกฎหมายกำหนดว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เลยสร้างที่ 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหนีการศึกษา EIA สำหรับกรณีนี้ที่สร้างใกล้กันขนาดนี้ วรต้องนับรวมเป็น 19.8 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องมีการศึกษา EIA จึงจะเป็นธรรมแก่ชุมชน แต่นี่ชัดเจนว่า ต้องการหลบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ไม่กล้าทำ EIA
7.กระบวนการขออนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 2 โรงนั้น ต่างก็มีความไม่โปร่งใส ชาวบ้านมีโอกาสได้ซักถามให้ความเห็นน้อยมาก การมีส่วนร่วมของชาวบ้านแทบจะเป็นศูนย์ บริษัทมุ่งแต่การเลี้ยงดูปูเสื่อผู้นำทางการของชุมชน ซึ่งเสมือนการซื้อเสียง และสร้างความแตกแยกให้แก่ชุมชนชาวขุนตัดหวาย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จากการศึกษาขั้นตอนการอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ จำเป็นต้องมีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเพื่อฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของบ้านว่า “เป็นความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านหรือไม่” หรือเป็นการยัดเยียดความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ชาวบ้านเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงที่ 2 ดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้ง แต่ทางโรงไฟฟ้ายังคงมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างให้ได้ทันในปีนี้ เพราะอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตฉบับเดิม และโอกาสในการขอใหม่คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าจึงถูกทวงบุญคุณให้ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้โรงไฟฟ้า โรงที่ 2 เกิดขึ้นให้ได้ โดยมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะตามมา
สิ่งที่ทางโรงไฟฟ้าทำช่วงนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ (หุ้นลม) เพื่อเอารายชื่อไปเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หากเป็นเช่นนี้ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคนที่คิดว่าจะได้รับผลประโยชน์ลองคิดไตร่ตรองดูอีกทีไหม ระหว่างเงินปันผลที่จะได้รับ ซึ่งเงินปันผลที่ไม่ได้รับเป็นตัวเงิน รับเพียงตัวเลขเพราะต้องนำไปหักทุนค่าหุ้น เป็นเงินปีละกี่ร้อย ก็ไม่รู้ เมื่อเทียบกับการคร่าลมหายใจของคนในชุมชน และบุคคลที่ท่านรัก รวมถึงลูกหลานของท่านที่จะลืมตาดูโลกอีกในอนาคต มันคุ้มกันหรือไม่ และที่สำคัญหากตัวท่านไม่รัก และไม่ปกป้องลูกหลานของตัวเองแล้วใครจะมาดูแลมารักชาวขุนตัดหวาย
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลขุนตัดหวาย จะขายหุ้นหรือไม่ขายหุ้น บริษัทกองทุนพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่สามารถนำเรื่องการมีกองทุนมาทดแทนความเดือดร้อนของคนในชุมชนขุนตัดหวายได้ ประเด็นมลพิษทั้งเสียงดัง กลิ่นเหม็น ควันดำปากปล่อง ฝุ่นฟุ้งกระจาย ความแตกแยกในชุมชน การมีกองทุนไม่ได้ลดมลพิษที่จะกระทบต่อชุมชนได้ เหมือนการซื้อเสียงเสียด้วยซ้ำ โรงงานต้องตั้งใจลดมลพิษให้ได้ก่อน ให้ชุมชนมีความสุขเหมือนเดิม แล้วการจะแบ่งกำไรให้ชุมชนด้วยจึงจะถูกต้อง เหมาะสม จึงจะไม่เป็นการเอาเงินฟาดหัวชุมชน