ศูนย์ข่าวภาคใต้ - หลักฐานชัดลักลอบตัดไม้หนักหน่วงบนเทือกเขาบูโด ฉก.ตชด.ลุยตรวจพบอื้อ เชื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองท้องถิ่นร่วมขบวนการ อุทยานฯ ใช้มุกอ้างภาพข่าวเดิม เครือข่ายชาวบ้านจี้ปราบปรามจริงจัง
วันนี้ (24 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายงานจากสำนักข่าวชายขอบที่ติดตามปัญหาลักลอบการตัดไม้ในป่าเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส ว่า นายอาหามะ ลีเฮง ผู้ประสานงานเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด เปิดเผยถึงปัญหาการลักลอบตัดไม้บนเทือกเขาบูโด ว่า มีมานานแล้ว และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบูโดฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่น่าจะรับทราบปัญหานี้ดี แต่กลับถูกละเลยไม่มีการปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง
โดยไม้ตะเคียนชันตาแมว เป็นไม้ที่นิยมนำมาสร้างบ้าน เห็นได้บ้านของเศรษฐี หรือคนที่มีอำนาจที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง มักจะนำไม้ซุงขนาดใหญ่ไปทำเสาบ้าน และสร้างบ้านหลังใหญ่ ซึ่งต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีใครมีไม้ขนาดใหญ่ในครอบครอบ หรือนำไปสร้างบ้าน
“คนในพื้นที่รู้มานานแล้วว่ามีการตัดไม้บนเขา แต่ชาวบ้านจะไปห้ามปรามก็คงทำไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีการจับกุม ถ้ามีการจับไม้ขึ้นมา สมมติ จับได้ไม้ 2 พันท่อน เจ้าหน้าที่ก็ต้องแบก หรือชักลากไม้ของกลางลงมา ซึ่งก็ลำบากมาก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีใครอยากทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และการลำเลียงไม้ออกจากป่าก็ต้องผ่านด่านทหาร ตำรวจที่มีในทุกเส้นทาง ขบวนการนี้จึงไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา” นายอะหามะ กล่าว
นายอะหามะ กล่าวอีกว่า หากกระแสข่าวการตัดไม้สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้สำเร็จ น่าจะเป็นผลดีต่อชาวบ้านพื้นที่รอบเขาบูโดที่กำลังต่อสู้ทวงสิทธิที่ดินทำกิน เพราะจะทำให้นายทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาทำลายป่า และจะทำให้การแก้ปัญหาในการพิสูจน์สิทธิที่ดินมีความชัดเจนขึ้น
เนื่องจากพื้นที่ป่าจะมีพรรณไม้ป่า เช่น ตะเคียนชันตาแมว แตกต่างจากสวนดุซง หรือสวนผลไม้ และสวนยางของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้มีความต้องการครอบครองป่าอยู่แล้ว หากรัฐต้องการแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างจริงจัง ชาวบ้านพร้อมที่จะพร้อมช่วยสอดส่อง และทำหน้าที่ดูแลรักษาป่า
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในเพจเฟซบุ๊กของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ข่าวการตัดไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี (https://www.facebook.com/DNP1362/posts/1614516622196573) โดยระบุว่า “ตัดไม้ในบูโด แค่ภาพเก่า นำมาเล่าใหม่” จากประเด็นที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ในบ้านตาเปาะ ม.7 ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี ความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 นั้น กรมอุทยานฯ ได้รับการรายงานจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เกี่ยวกับภาพการลักลอบตัดไม้ที่แชร์กันในโซเชียล ว่า เป็นภาพข่าวเก่าของวันที่ 5 พฤษภาคม 2559
ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้สนธิกำลังร่วมกับ กอ.รมน. ฝ่ายปกครองของอำเภอ และกองกำลังทหารในพื้นที่ออกลาดตระเวนป้องกันการลักลอบการตัดไม้ โดยเข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถจับผู้ต้องหาได้ ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานฯ บูโด-สุไหงปาดี ได้เพิ่มมาตรการในการลาดตระเวนให้มากขึ้น แต่เนื่องจากการเข้าไปในพื้นที่ทุกครั้งจะต้องแจ้งหน่วยงานทหาร การเดินทางเข้าไปแต่ละครั้งอาจล่าช้า จึงยังทำให้มีการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่
อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซสำนักข่าวชายขอบได้นำเสนอข่าวการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากในอุทยานฯ แห่งชาติเทือกเขาบูโด (http://transbordernews.in.th/home/?p=12768) หลังจากทีมนักวิจัยนกเงือก และช่างภาพสารคดีได้เดินทางเข้าไปในป่าบูโด และพบการตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง โดยตรวจพบตอไม้ขนาดใหญ่ที่พึ่งถูกตัดไม่น้อยกว่า 19 ตอ โดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการนำเสนอเป็นข่าวแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้นำเสนอข่าวการตัดไม้จำนวนมากบนเทือกเขาบูโด โดย ร.ต.ท.อรุณ กุลกัลยา เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 (ฉก.ตชด.44) เปิดเผยต่อไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า หลังจาก พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 (ทภ.4) มีคำสั่งให้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบูโดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโดฯ
ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ และสอบถามข้อมูลจากชาวบ้าน พบว่า ที่เทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส และบริเวณใกล้เคียงอีก 3 จุด ใน อ.ระแงะ อ.จะแนะ และ อ.สุคิริน รวมเป็น 4 จุด มีการลักลอบตัดไม้รุนแรงที่สุด ร.ต.ท.อรุณ กล่าวว่า ทีมงานเดินเท้าเข้าสำรวจบริเวณเทือกเขาตะเว จนถึงวันที่ 22 พ.ค. พบจุดลักลอบตัดไม้ประมาณ 20 จุด แต่ละจุดมีไม้เนื้อแข็งจำพวกตะเคียนชันตาแมว และไม้หลุมพอ อายุ 100-200 ปีขึ้นไป ถูกตัดโค่น และแปรรูปในพื้นที่แห่งละ 2-10 ต้น
ทั้งนี้ ลักษณะการลักลอบตัดเป็นแบบกระจาย แต่ละจุดมีรัศมีประมาณ 4-5 กิโลเมตร จึงทำให้เจ้าหน้าที่ดูไม่ออกว่าพื้นที่นี้มีไม้ถูกลอบตัด อีกทั้งทางเข้าออกยังมีแค่ทางเดียว และเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้การเข้าสำรวจ และปราบปรามเป็นไปอย่างยากลำบาก
“ราคาไม้ที่แปรรูปแล้วตกตารางนิ้วละ 25 บาท เป็นสิ่งจูงใจชั้นดีให้นายทุนเข้ามาซื้อตัวชาวบ้านในพื้นที่เข้าลักลอบตัดไม้ ซึ่งราคาที่ได้ต่อต้นนั้นนับล้านบาท ฉะนั้น มูลค่าความเสียหายล่าสุดที่พบจุดลักลอบตัดไม้ในครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นเงินหลายล้านบาท ที่น่าสนใจคือ จุดที่ถูกลอบตัดไม้เกือบทุกจุดอยู่ใกล้กับฐานที่มั่นของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อกัน และส่วนมากพื้นที่นั้นๆ ยังเป็นป่าต้นน้ำ หรือใกล้แหล่งประปาหมู่บ้าน ซึ่งน่าห่วงว่าการลักลอบตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติบูโดฯ ที่มีทั้งชาวบ้านในพื้นที่-นอกพื้นที่ กลุ่มนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นการปฏิบัติรู้เห็นเป็นใจ จะไม่ใช่แค่ความสูญเสียทางระบบนิเวศที่ป่าถูกทำลาย แต่ยังกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์นกเงือก รวมถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นความเสียหายมหาศาลในระยะยาวด้วย” เจ้าหน้าที่หน่วย ฉก.ตชด.44 ชี้แจงเพิ่มเติม