xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกกระแส “รักนกเงือก” ต่อยอดอนุรักษ์ป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นกเงือกกรามช้าง ผู้สร้างความสมดุลให้กับทรัพยากรป่าไม้
“นกเงือก” เปรียบเสมือนมารดาแห่งผืนป่า เพราะกินผลไม้เป็นอาหารหลักมากกว่า 100 ชนิด ข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ระบุว่าลูกนก 1 ตัว กินผลไม้แล้วคายเมล็ดทิ้งเพียง 1 เมล็ด/วัน โดยที่เมล็ดจะโตเป็นต้นกล้าไม้ และรอดตายเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่เพียง 5% ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย ดังนั้น ต้นไม้ที่ปลูกโดยลูกนกเงือก 3,910 ตัว (ลูกนกเงือกในปีนี้) จะได้ต้นกล้าไม้ถึง 71,358 ต้น (เฉพาะในปี 2559)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล  พูลสวัสดิ์ เข้าพื้นที่ร่วมทำการศึกษาวิจัยนกเงือก พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยที่คลุกคลีและผูกพันกับนกเงือกมากว่า 30 ปี กล่าวว่า นกเงือกคอยทำหน้าที่ปลูกป่าและสร้างป่ามาเนิ่นนาน วิถีชีวิตเขาช่วยกระจายพันธุ์ไม้ รักษาความหลากหลายของพืชพันธุ์ รวมถึงสร้างความสมดุลให้กับทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างของป่า หากป่าไม้สมบูรณ์มนุษย์เราก็จะได้รับอากาศบริสุทธิ์ ได้แหล่งน้ำที่สะอาดและมั่นคงไว้ใช้ แต่ถ้าไม่มีทรัพยากรป่าไม้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนเราโดยตรงเช่นกัน ทั้งเรื่องภัยแล้ง การขาดแหล่งน้ำ
“นกเงือก” ไม่ใช่วิวัฒนาการใหม่ๆ จึงไม่เหมือนกับการมีหรือไม่มีสมาร์ทโฟน แต่มีความสัมพันธ์ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ ปัจจุบันมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ทำงานคลอบคลุมงานวิจัยทางด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และในเรื่องของการอนุรักษ์ เราพยายามใช้งานวิจัยเป็นฐานในการที่จะช่วยอนุรักษ์นกเงือก เช่น การปรับปรุงโพรงรัง เพราะจากงานวิจัยทำให้ทราบว่า นกเงือกอาจจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ถ้าหากโพรงรังไม่เหมาะสม การที่เราศึกษาข้อมูลนี้ ช่วยให้เรานำมาปรับปรุงโพรงรัง ซ่อมแซมโพรงรัง และการสร้างโพรงรังเทียมให้กับนกเงือก เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการทำรังให้กับนกเงือก เพราะการมีประชากรนกเงือกเพิ่มขึ้น ย่อมสร้างโอกาสในการปลูกป่า ขยายป่ามากขึ้นไปด้วย และนกเงือกยังเป็นตัวเชื่อมต่อในการสร้างหย่อมป่าให้เพิ่มขึ้น”

เจ้าหน้าที่ในโครงการฯ ทำการซ่อมแซมปากโพรงกว้างเกินไป
ถามว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ “นกเงือก” มากน้อยแค่ไหน ก็คงต้องบอกว่าเรื่อง “การอนุรักษ์” นั้นขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ หากว่ามนุษย์เราปากท้องยังไม่พอกิน ก็คงไม่มีเวลามานึกถึงเรื่องนี้ ทุกคนก็จะมองเห็นว่าการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว ทั้งที่จริงๆ “การอนุรักษ์นกเงือก” ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเรา เนื่องจากมนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้กันเยอะมาก โดยที่ทุกคนอาจจะไม่นึกถึง ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังคอยหาประโยชน์จากการทำลายป่าไม้กันอีก เรื่องการดูแลป่าไม้นั้นที่จริงเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง คนไทยทุกคนจึงต้องหันมาช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติของทุกคน และเป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบในการส่งต่อทรัพยากรป่าไม้ให้ไปถึงมือรุ่นลูกหลาน
“อยากให้ลองนึกภาพ ถ้าพวกเราในยุคนี้ส่งต่อทรัพยากรป่าไม้ไปให้ลูกหลานในสภาพทรุดโทรม เสื่อมโทรม ทุกคนในฐานะคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ต้องการให้เป็นอย่างนั้นจริงหรือ ลองนึกถึงลูกหลานในอนาคตที่จะต้องทนทุกข์มรมาน จากผลกระทบจากการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ที่อุบัติขึ้นมาจากคนรุ่นนี้ ดิฉันอยากให้คนไทยตื่นตัวกับเรื่องการอนุรักษ์นกเงือก การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ด้วยการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรธรรรมชาติ ซึ่งจะต่อยอดให้มนุษยชาติอยู่รอดต่อไปได้ยั่งยืน เพียงคนละไม้คนละมือ ไม่ว่าจะเป็นด้วยทางใดทางหนึ่ง หรือร่วมสมทบทุนคนละเล็กคนละน้อย ผ่าน “โครงการช่วยเหลือนกเงือก...ต่อชีวิตเรา” ก็เหมือนกับการต่ออายุให้ทั้ง “นกเงือก” และป่าไม้ของเมืองไทยซึ่งก็คือการช่วยต่ออายุตัวของเราเองรวมถึงลูกหลายในรุ่นต่อไป
นกเงือกนั้นเป็นสัตว์ที่หากินอาหารหลากหลายทั้งสัตว์ขนาดเล็กและผลไม้ เขาเป็นนกที่สร้างร่มเงาแก่สิ่งมีชีวิต (Umbrella Species) โดยจะควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก และทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุล สามารถเป็นดัชนีที่ชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า (Indicator Species) เองก็จะสามารถมีชีวิตอยู่รอดในธรรมชาติของป่าไม้ต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
การทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการฯนกเงือก

เจ้าหน้าที่ปีนซ่อมโพรงรัง และตอกไม้สำหรับพ่อแม่นกเกาะป้อนสะดวก
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กล่าวว่า “สิ่งที่อยากทำที่สุดในตอนนี้คงเป็นเรื่องของการฟื้นฟูจำนวนของ “นกเงือก” หลายชนิดที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการมีประชากรของนกเงือกที่ลดน้อยลงไปมาก โดยให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการดูแลอนุรักษ์นกเงือกที่อยู่ในป่า แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซึ่งไม่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในป่า คุณก็สามารถมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อที่จะช่วยเหลือ “นกเงือก” ได้โดยการร่วมสมทบทุนอุปการะดูแลนกเงือก เพื่อ “โครงการช่วยเหลือนกเงือก...ต่อชีวิตเรา”
เงินร่วมสมทบทุนจะถูกส่งต่อไปสู่ชาวบ้านที่เขาทำหน้าที่เข้าไปดูแลรักษานกเงือกในป่าแทนเรา โดยไปทำหน้าที่เพื่อให้ประชากรนกเงือกเพิ่มจำนวน และนกเงือกก็จะสามารถอยู่ได้ในป่าธรรมชาติยั่งยืน เรียกว่าการได้รับอุปการะจากคนในเมืองแล้วส่งต่อให้คนในพื้นที่ได้เข้าไปดูแล “นกเงือก”  ผมเห็นว่าเป็นการแบ่งปันให้พวกเราทุกคนมีโอกาสร่วมกัน ช่วยกันปกป้องและดูแลนกเงือก จึงอยากเชิญชวนให้คนไทย ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนเพื่อการอุปการะครอบครัวนกเงือก อาจจะเป็นเงินในจำนวนมากหรือน้อยก็ได้ตามแต่ศรัทธา”

HORNBILL“โครงการช่วยเหลือชีวิตนกเงือก...ต่อชีวิตเรา”
ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายคู่รัก HORNBILL INTERNATIONAL (ฮอนบิลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล ) บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญชวนคนไทยร่วมช่วยกัน “อนุรักษ์นกเงือก” และร่วมบริจาคสบทบทุน “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” เพื่อ “โครงการช่วยเหลือชีวิตนกเงือก...ต่อชีวิตเรา” โดยร่วมสมทบทุนเพียง 2,000 บาท / ปี สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้ “นกเงือก 1 ตัว” เพื่อ “โครงการช่วยเหลือชีวิตนกเงือก...ต่อชีวิตเรา” ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของนกเงือกไทยที่ต้องการให้คนไทยทั้งประเทศต้องหันมาร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์และสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,910 ตัว
ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยืดอายุ “นกเงือก” ให้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปในอนาคตโดยจะไม่สูญพันธุ์ อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาของป่าให้เป็นป่าที่สมบูรณ์คู่ธรรมชาติต่อไปได้อย่างยั่งยืน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” โทร. 0 2201 5532 หรือ www.facebook.com/Hornbill.Thailand
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” สามารถมีรายได้เพียงพอที่จะดำเนินงานศึกษาวิจัย “นกเงือก” สืบเนื่องต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยการนำเงินสบทบทุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ เพื่อมาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมูลนิธิฯ ได้แก่
- เพื่อใช้เป็นทุนวิจัยในการเก็บข้อมูลสถานภาพการขยายพันธุ์ของนกเงือก
- เพื่อใช้ในการซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังของนกเงือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์ของนกเงือก โดยการปรับปรุงเป็น “โพรงเทียม”
- เพื่อใช้ในการติดตามการใช้พื้นที่สำคัญของนกเงือก ตามแนวเส้นทางที่นกเงือกอพยพ เพื่อการจัดการผืนป่าอนุรักษ์ในอนาคตได้อย่างถูกต้อง
- เพื่อให้ชุมชนและชาวบ้านที่เคยเป็นพรานล่านกเงือก หันมาช่วยกันดูแลนกเงือก ให้เป็น “มรดกของชุมชน” สืบต่อไปถึงลูกหลาน
- เพื่อใช้ในการเผยแพร่ความรู้ ปลุกจิตสำนึกให้นักเรียน และ ชุมชนที่อยู่ใกล้ผืนป่า รู้จักการอนุรักษ์
ทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงอยู่ต่อไปโดยใช้ “นกเงือก” เป็นสื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น