พิษณุโลก - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ นำทีมปลูกป่าประชารัฐที่นครไทย เมืองสองแคว กว่าพันไร่ พร้อมเดินหน้าลุยปลูกป่าจังหวัดอื่นๆ อีก 5 หมื่นไร่ ด้านอธิบดีกรมป่าไม้บอกเตรียมกล้าไม้ไว้แล้ว 11 ล้านกล้า ใครต้องการติดต่อได้
วันนี้ (23 พ.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีปลูกป่าแบบประชารัฐ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปี 59 บริเวณผืนป่าจำนวน 1,936 ไร่ ซึ่งตรวจยึดคืนจากนายทุน เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง หมู่ 11 บ้านแก่งไฮ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
โดยมีนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้, นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, พล.ต.ธนา จารุวัต รองแม่ทัพภาคที่ 3, พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.พล.ร.4, นายฐานุพงศ์ เจริญสุรภิรมย์ รอง ผวจ.พิษณุโลก และภาคีเครือข่าย ชาวบ้านเข้าร่วม
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 65-67 ล้านคนแล้ว ทำให้วันนี้ผืนป่าลดลง ดังนั้นจะต้องช่วยฟื้นฟูสภาพป่ากลับคืนมา ซึ่งก็มีคำถามมากมาย สำหรับการป้องกันและรักษาป่า ณ วันนี้ กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ได้แสดงฝีมือสุดๆ แล้ว แต่ดูแลป่าทั้งหมดคงไม่ไหว ประชาชนต้องร่วมมือด้วย การเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบางครั้งต้องทำหน้าที่ทั้งน้ำตา ต้องจับนายทุน แต่สุดท้ายถูกฟ้องกลับ ยิ่งกว่านั้น เมื่อไปจับพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้บริเวณพื้นที่บุกรุก สงสารก็สงสาร แต่ต้องบังคับใช้กฎหมาย นี่คือภาวะจำเป็นของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า 2 ปีหลังจาก คสช.เข้าบริหารประเทศ ได้หยิบยกปัญหาป่าไม้เป็นวาระแห่งชาติ การตัดไม้ทำลายป่าลดลง เพราะอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย จนถึงวันนี้สามารถหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าได้มาก โดยมีป่าสมบูรณ์อยู่ 102.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ
แต่ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องทำยุทธศาสตร์ผลิกฟื้นผืนป่า คือ 1. เส้นเขตพื้นที่ปัญหาทับซ้อนในอดีต จะต้องใช้แผนที่ฉบับเดียวกัน 2. จะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้บุกรุกผืนป่า ตัดไม้ทำลายป่า จัดทำบัญชีผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ 3. กรณีที่เป็นผู้ยากไร้ จะผ่อนผัน และจัดสรรที่ดินทำกินให้
พล.อ.สุรศักดิ์เปิดเผยอีกว่า กรณีผืนป่าที่ได้คืนมาจากกลุ่มนายทุน-ผู้บุกรุกแล้ว จะต้องป้องกันไม่ให้มีผู้บุรุกป่าซ้ำอีกเพื่อให้ป่าฟื้นฟูสภาพด้วยตัวเอง จากนั้นก็เร่งทำฝายชะลอน้ำ เมื่อฝนตกพื้นที่จะได้ชุ่มชื้นเป็นป่าเปียก และปลูกต้นไม้เสริมเข้าไปอีก ส่วนการจัดโซนนิ่งพื้นที่ป่า ถ้านายทุนเข้ามาบุกรุกจะต้องดำเนินการใช้กฎหมาย ส่วนพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่ประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่เพราะไม่มีที่ทำกิน ก็ผ่อนผันให้เป็นพื้นที่ทำกินไปก่อน และจัดสรรพื้นที่ทำกินตามโครงการ คสช.ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
กรณี “เขาหัวโล้น” ซึ่งจังหวัดน่านมีจำนวนมาก คงไม่มีใครขึ้นไปปลูกได้ ทางจังหวัดน่านจึงได้ตั้งศูนย์ประสานงานฯ หากประชาชนจะเข้ามาร่วมปลูกป่าหรือบริจาคเงินจะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำว่าปลูกแบบไหน บริเวณใด
ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า วันนี้ได้นำกล้าต้นตะแบก แดง ยางนา ประดู่ พะยูง ปีบ ตะเคียนทอง จำนวน 14,000 ต้น มาปลูกในพื้นที่ยึดคืนจากกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล ทำให้ผืนดินมีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาพื้นที่ตรวจยึดคืนให้เป็นศูนย์เรียนรู้และนันทนาการอีกด้วย
“กรมป่าไม้จะปลูกป่าแบบประชารัฐในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 50,000 ไร่ ซึ่งได้เตรียมกล้าไม้จำนวน 11 ล้านกล้า ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ได้จากหน่วยงานเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ทุกแห่งทั่วประเทศ”
นายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ปัญหารุกป่าของจังหวัดน่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา การทำความเข้าใจยาก ไม่ฟังเจ้าหน้าที่ ยังคงมีความต้องการบุกรุกแผ้วถางเพื่อหาที่ทำกินจนเป็นเขาหัวโล้น ณ วันนี้จึงสั่งการแล้วว่าถ้าบุกรุกอีกต้องจับ แม้ว่าจะเป็นผู้ยากไร้ก็ตาม ส่วนการบุกรุกพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกมีปัญหาแตกต่างกัน คือ เป็นลักษณะการบุกรุกและเปลี่ยนมือ/ซื้อขายที่ดินไปสู่มือนายทุน ที่ผ่านมาก็บุกรุกไปมากแล้ว ฉะนั้นวันนี้จำเป็นต้องเอากลับมาฟื้นฟู