น่าน - อธิบดีกรมป่าไม้เผยป่าเมืองน่านเสียหายรวมทั้งหมดกว่า 1.68 ล้านไร่ แถมมีพื้นที่ที่ฟื้นฟูได้แค่ 7.2 แสนไร่ อีกกว่า 9 แสนไร่สิ้นสภาพป่าอย่างถาวร หมดสิทธิ์กู้คืน
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านมีทั้งหมด 6 ล้านไร่ ปัจจุบันถูกทำลายไปแล้วร้อยละ 28 หรือประมาณ 1,680,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 72 ก็เป็นพื้นที่ไม่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ ขาดความสมบูรณ์ของผืนป่า ไม่สามารถป้องกันภัยแล้ง อุทกภัย และดินโคลนถล่มได้
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปนั้นเป็นพื้นที่ที่สามารถฟื้นฟูได้เพียง 720,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 960,00 ไร่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ เนื่องจากหมดสภาพป่าอย่างถาวรไปแล้ว มีการก่อสร้างทั้งที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภค
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2559 นี้กรมป่าไม้จะเริ่มปลูกป่าในพื้นที่ใน อ.สันติสุข ที่เปิดยุทธการทวงคืนป่าต้นน้ำมาได้แล้วมากกว่า 7,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งได้เข้าเจรจาทำความเข้าใจกับประชาชนจนยอมคืนมาให้ แต่ส่วนมากเป็นที่ที่ยึดคืนจากนายทุน
ด้านนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วนติดต่อเข้ามาร่วมสนับสนุนการปลูกป่ากับทางจังหวัดฯ ซึ่งตนยินดีที่จะต้อนรับทุกหน่วยงาน แต่อยากให้ทำความเข้าใจเรื่องการปลูกป่าที่จะให้เกิดผลสำเร็จจริงๆ ต้องทำในระยะยาว ไม่ใช่เป็นกระแส แบบมาปลูกต้นไม้แล้วก็จากไป
โดยพื้นที่ป่า 1.6 ล้านไร่ที่ถูกบุกรุกไปนั้นยังต้องยึดถือตามคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 เพื่อปราบปราบและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน แต่ต้องแยกแยะพื้นที่ที่ประชาชนทำกินก่อนออก พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งขณะที่กำลังเดินหน้าพิสูจน์อย่างต่อเนื่อง และจะต้องไม่มีพื้นที่ถูกบุกรุกเพิ่มขึ้นไปจากนี้อีก
ส่วนแนวทางฟื้นฟูป่าต้นน้ำนั้น ทางจังหวัดจะรวบรวมแนวทางการดูแล บริหารจัดการป่าต้นน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการดูแลพื้นที่ป่า เพื่อจัดทำเป็นแผนจังหวัด ภายใต้หลักการให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการป่า โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน
ซึ่งแนวทางหลักๆ คงต้องปรับเปลี่ยนการเกษตรจากการปลูกข้าวโพดไปเป็นการปลูกแบบผสมผสาน คือ ปลูกไม้ใหญ่ ประเภทไม้ป่า ไม้ผล ปลูกพืชผัก-ไม้พื้นล่างต่างๆ และให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาผลผลิตได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้สามารถยังชีพได้ ในขณะที่ภาครัฐจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ด้านการจัดการไฟป่า การจัดการแหล่งน้ำ และจัดการเรื่องการตลาดให้แก่ชาวบ้าน
“เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดนี้จะสามารถแก้ปัญหาป่าไม้ และช่วยฟื้นฟูผืนป่าเมืองน่านได้อย่างยั่งยืนต่อไป”