คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
--------------------------------------------------------------------------------
เป็นดอกไม้ที่สีเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร มีกลีบขนาดเท่ากัน 5 กลีบ เป็นช่อยาว 20-40 เซนติเมตร มีชื่อเรียกทางการว่า...
“ดอกราชพฤกษ์”
เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย อีกทั้งที่นิยมปลูกเป็นต้นไม้มงคล มีประวัติเกี่ยวข้องต่อประเพณีสำคัญๆ ในไทย ด้วยสีของดอกเหลืองอร่าม พุ่มงามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา มีความทนทาน และมีอายุยืนนาน สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
ในปี พ.ศ.2506 ได้รับการเสนอชื่อให้ เป็น “ดอกไม้ประจำชาติไทย” แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด จนกระทั่งมีการลงนามให้เป็น “ดอกไม้ประจำชาติไทย” เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2544
มีชื่อใช้เรียกในภาษาถิ่นทางภาคอีสานว่า “คูน” ภาคเหนือเรียกว่า “ลมแล้ง” ชาวกะเหรี่ยงเรียก “ลักเกลือ” หรือ “ลักเคย” กาญจนบุรีเรียกว่า “กุเพยะ” และทางภาคใต้เรียกว่า “ราชพฤกษ์”
ทางด้านของความเชื่อ ต้นราชพฤกษ์ ถือเป็นต้นไม้มงคล นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีที่สำคัญๆ เช่น เป็นส่วนประกอบในการทำคทาจอมพล ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร พิธีเสาไม้หลักเมือง ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ
ทางด้านสรรพคุณ ส่วนต่างๆ ของต้นราชพฤกษ์ มีประโยชน์ดังนี้
- “ใบ” สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคได้
- “เปลือก” และ “ใบ” บดผสมกัน ใช้ทาฝี และเม็ดผื่นตามร่างกาย
- “ดอก” ช่วยแก้แผลเรื้อรัง ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร
- “ฝัก” สำหรับฝักอ่อน สามารถใช้ขับเสมหะได้ ส่วนฝักแก่ เนื้อสีน้ำตาลดำมีรสหวาน นำมาต้มกับน้ำ และเติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอน หรือก่อนรับประทานอาหาร สามารถใช้เป็นยาระบายได้ นอกจากนั้น ฝักแก่ยังมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำฝักมาบดผสมน้ำแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน สารละลายที่กรองได้สามารถฉีดพ่นกำจัดแมลง และหนอนในแปลงผักได้
- “ราก” และ “แก่น” เป็นยาขับพยาธิ
ทางด้านวิชาการ “ราชพฤกษ์” หรือ “คูน” (อังกฤษ Golden shower ; ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula) เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย พม่า และศรีลังกา
--------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
- https://th.wikipedia.org/wiki/ราชพฤกษ์