ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ผ่าพิรุธรายงานการศึกษาพัฒนาประปา ทน.นครศรีฯ จ่อประเคนประโยชน์เอกชน 30 ปี ไร้ระเบียบวิธีทางวิชาการ ข้อมูลขัดแย้งกันเอง ปั้นตัวเลขอื้อหน้าปกหราภาควิชาวิศวโยธา ม.มหิดล
วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานการติดตามความเคลื่อนไหวของการเตรียมพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบให้เอกชนเข้ามาดำเนินการพัฒนาระบบประปา และจำหน่ายน้ำประปาให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และขอความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่า 1 ปีงบประมาณ ซึ่งเป็นญัตติที่เสนอโดย นายเชาว์นวัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ให้กับสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช พิจารณาในวันที่ 18 พ.ค.59 โดยโครงการนี้สาระสำคัญคือ การให้เอกชนเข้ามาผูกขาดขายน้ำให้เทศบาลนครศรีธรรมราช เป็นระยะเวลา 30 ปี มีมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งได้นำเสนอมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากญัตตินี้ได้ถูกเผยแพร่ออกมา รวมทั้งมีการแจกจ่ายเอกสารซึ่งมีทั้งเอกสารรายงานการศึกษาโครงการนี้ ที่ถูกระบุหน้าปกว่า เสนอโดย ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีนาคม 2559 เอกสารกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ให้สมาชิกสภาและผู้เกี่ยวข้องพิจารณา ยิ่งพบข้อพิรุธของเอกสารในหลายประเด็น
โดยเฉพาะในเอกสารรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ พบว่า เป็นเอกสารทางวิชาการที่ไม่มีระเบียบวิธีการศึกษาที่ชัดเจน โดยเฉพาะรายละเอียดของการว่าจ้างจากเทศบาล ผู้รับผิดชอบการศึกษา ที่มาของแหล่งข้อมูล ห้วงระยะเวลาการศึกษาที่ชัดเจนซึ่งระบุเพียงว่า 45 วัน ไม่มีคำนำ ไม่มีรายนามผู้ที่ทำการศึกษา ไม่มีการอ้างอิงที่มาแหล่งข้อมูลใดๆ ตลอดทั้งเล่ม ข้อมูลแสดงปลีกย่อยเป็น 6 บท บทที่ 1 และ 2 เป็นรายละเอียดทางกายภาพที่ทราบโดยทั่วไป ส่วนบทที่ 3 ถึง 6 เป็นรายละเอียดของระบบประปา
“ข้อพิรุธของตัวเลขที่บ่งชี้ว่า ถูกปั้นแต่งขึ้นมาโดยไม่ได้อ้างอิงจากข้อเท็จจริงคือ จำนวนประชากรในเขตเทศบาลที่อ้างข้อมูลเมื่อปี 2557 มีจำนวน 106,322 คน จำนวนครัวเรือน 43,285 ครัวเรือน และต่อมา ได้มีการนับรวมเอาข้อมูลตัวเลขจากตำบลรอบเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เช่นตำบลปากพูน นาทราย มะม่วงสองต้น มานับรวมกับประชากรในเขตเทศบาลอีกเป็นตัวเลขรวม 217,074 คน โดยข้อเท็จจริงนั้นข้อมูลปัจจุบัน ตำบลเหล่านี้ได้มีระบบประปาเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ต้องใช้น้ำจากเทศบาลนครนครศรีธรรมราช อีกต่อไป แต่น่าสงสัยว่า เหตุใดตัวเลขเหล่านี้จึงไม่ถูกตัดออกไป กลับยังมาบวกเพื่อแสดงให้เห็นว่า ต้องการจัดซื้อน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่”
เอกสารชิ้นนี้ยังพบพิรุธในทำนองคล้ายกับเป็นการก๊อบปี้ข้อมูลแล้วนำมาจัดเรียงใหม่ โดยข้อมูลหลายส่วนยังมีร่องรอยของเดิมที่ยังไม่แก้ไขเช่น การระบุตัวเลขหลักล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้น และในบทที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการพยายามรวบรวมตัวเลขของผู้ใช้น้ำให้มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยการระบุตัวเลขพื้นที่สูงถึง 2,944.76 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่ข้อมูลความเป็นจริง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งอำเภอมีพื้นที่เพียง 617 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เป็นการระบุตัวเลขพื้นที่เกินจริงถึงกว่า 5 เท่าตัว
นอกจากนั้น ในตารางแสดงพื้นที่ ในตารางที่ 6.1-1 ยังมีร่องรอยของข้อมูลเดิม หรืออาจเป็นความผิดพลาด เอกสารฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า แสดงพื้นที่บริการของการประปาในจังหวัดชลบุรี ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องต่อการศึกษาที่นครศรีธรรมราช ทำให้ข้อมูลที่แพร่หลายมาก่อนหน้านี้ว่า เอกชนผู้มีแนวโน้มมาเป็นผู้จำหน่ายน้ำให้แก่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะมาจากภาคตะวันออกของประเทศไทย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคการเมืองหนึ่งมีน้ำหนักมากขึ้น
ส่วนในการผลิตประปาสำหรับผู้ใช้น้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน ต้องการใช้น้ำราว 50,000 ลบ.ม./วัน และสำนักการประปาสามารถผลิตได้ราว 52,000 ลบ.ม. และเมื่อตำบลรอบนอกเขตเทศบาลที่ไม่ต้องการน้ำจากเขตเทศบาลแล้ว เนื่องจากผลิตได้เอง โดยที่รายงานการศึกษาไม่ได้ระบุข้อมูลนี้ลงไป การจัดซื้อน้ำของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช แบบบังคับซื้อเพราะต้องซื้อ และจ่ายเงินให้เอกชนเกือบ 5 แสนบาททุกวัน ต่อน้ำ 48,000 ลบ.ม.จะเอาน้ำเหล่านี้ไปไว้ไหน น้ำดิบที่อยู่ช่วงน้ำหลาก หรือสถานการณ์ปกติที่มีอย่างเหลือเฟือจะถูกทิ้งไปเลยหรือไม่ ซึ่งการจัดทำรายงานฉบับนี้จึงมีข้อสงสัย และข้อพิรุธของข้อมูล ว่า มีการศึกษาจริงหรือไม่ เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบเป็นรูปเล่มเพื่อเสนอเพียงเท่านั้นหรือไม่ ขณะที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการว่าจ้างแต่ไม่ได้ระบุวงเงินว่าจ้างไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งรูปแบบระเบียบวิธีการจัดทำเอกสาร และเนื้อหาข้อมูลเป็นข้อสังเกตที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว ได้พยายามติดต่อกับ ดร.วศพร เตชะพีระพานิช หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นภาควิชาที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ เพื่อขอข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์สายตรงของมหาวิทยาลัยที่ระบุในเว็บไซต์ คือ 0-2889-2138 ต่อ 6379 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.ถึง 10.00 น.ของวันที่ 11 พ.ค.ปรากฏว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย และเมื่อประสานขอข้อมูลผ่านอีเมล wasaporn.tec@mahidol.ac.th ปรากฏว่า ระบบล้มเหลว อีเมลถูกตีกลับไม่สามารถส่งเข้าไปได้ และสามารถติดตามความคืบหน้าในมหากาพย์ประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตอนที่ 4