ล่วงมาถึงตอนที่ 8 ของเรื่องราวอันเป็น “มหากาพย์ประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช” โดยวันนี้ 30 พ.ค.2559 ในการประชุมสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สมัยที่ 2 ครั้งที่ 3 มีสิ่งที่จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ถึงความอัปยศของสภาฯ แห่งนี้ว่า ไม่สามารถเปิดประชุมได้เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
มีเพียงสมาชิกฝ่ายตรวจสอบ 10 คน มานั่งรอพิจารณา “ญัตติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน” หรือ “โครงการซื้อน้ำจากเอกชน 30 ปี มูลค่า 5 พันล้านบาท” ขณะที่ผู้ที่เป็นเจ้าของญัตติคือ “เชาว์นวัศ เสนพงศ์” นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช กลับไม่ปรากฏตัวอยู่ในที่ประชุม แต่ได้มอบหมายให้รองนายกเทศมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนก่อนหน้าเพียง 10 นาที ก่อนเวลานัดหมาย
นั่นไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก เพราะ 12 ส.ท.ที่ลาการประชุมไปคราวก่อนเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2559 ซึ่งบังเอิญที่มีความคิดเห็น เหตุผล และตัวอักษรในใบลาการประชุมเหมือนกันทุกประการ แตกต่างกันที่การลงนามชื่อใครชื่อมันทั้ง 12 คนที่ไม่มาเข้าร่วมประชุม เป็นเหตุให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถเปิดประชุมได้นั้น
มาถึงการประชุมสภาฯ ครั้งล่าสุด 30 พ.ค.ทั้ง 12 ส.ท.มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแบ่งเป็น 3 ใน 12 ส่งใบลาเขียนด้วยลายมือ มีทั้งภรรยาประสบอุบัติเหตุ ประสบอุบัติเหตุเอง และมีกิจต้องเดินทางไปศาล ส่วนอีก 9 คน ไม่ส่งใบลา ถือเป็นการขาดการประชุมไปโดยสิ้นเชิง
แน่นอน สภาฯ ล่มอีกครั้งท่ามกลางความสนใจของประชาชน และมวลชนที่รอคอยฟังมติว่า เทศบาลจะต้องซื้อน้ำจากเอกชนถึง 30 ปีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีมวลชนจำนวนไม่น้อยที่แสดงออกว่า ต้องการขับไล่ผู้บริหารเทศบาลแห่งนี้ให้พ้นหน้าที่ไปเสีย เสียงตะโกนขับไล่กระหึ่มก้อง
ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวนครนครศรีธรรมราชรวมตัวขับไล่ผู้บริหารท้องถิ่นในรอบ 50 ปี จึงนับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าที่ต้องจารึกไว้
แน่นอนว่า สมัยการประชุมสมัยที่ 2 ของสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จบลงในวันนั้น ญัตติที่ค้างอยู่ในสภาแห่งนี้จึงมีอันตกไปทั้งหมด รวมถึงญัตติดีๆ และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน และเยาวชนที่รอการอนุมัติ เป็นต้น แต่ไม่สามารถผ่านสภาฯ ไปได้
แต่ใช่ว่าทุกญัตติจะไม่สามารถนำเข้าสู่สภาฯ ได้อีกในสมัยการประชุมหน้า หรือช่วงเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ โดยผู้บริหารอ้างว่าจะต้องทำประชามติ หรือประชาพิจารณ์โครงการนี้เสียก่อน จึงต้องถือว่าญัตติขออนุมัติซื้อน้ำจากเอกชน 30 ปี มูลค่า 5 พันล้านบาท ยังไม่ตายจริง แต่แค่สลบไปชั่วคราวเท่านั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น มีคำถามที่มากมายไปด้วยข้อสงสัยของผู้คนชาวนครศรีธรรมราช คือ แล้วจะเอาเข้าสภาฯ ในรอบหน้าด้วยเหตุใด เพราะที่ผ่านมา มีแรงต้านหนัก ผนวกกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น แถมมีกลิ่นตุๆ โชยเต็มเมือง สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้ต้องถอยไม่เป็นท่าไปแล้วใช่หรือไม่
ณ เวลานี้มีเรื่องราวที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ “รายงานการศึกษาโครงการพัฒนาระบบประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช” ซึ่งที่ผ่านมา ถูกจับได้ไล่ทันถึงความผิดปกติในเอกสารที่เกิดข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง โดยมีการอ้างว่า เสนอโดย “ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล”
หลังจากรายงานชิ้นนี้ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ท้ายที่สุด สถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับของสังคมอาจจะกำลังกลายเป็นแพะก็เป็นได้ เนื่องจากเวลานี้กลับปรากฏหนังสือของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชฉบับหนึ่งเพิ่งถูกเผยแพร่ออกมา
หนังสือฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 20 พ.ค.2559 ลงนามโดย “เชาว์นวัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช” เนื้อหาระบุว่า เรื่อง “ขอให้แก้ไขข้อมูล” เรียน “ผู้จัดการโครงการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” อ้างถึง “รายงานโครงการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช”
โดยเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญ ระบุว่า ตามที่ภาควิชาวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดส่งรายงานโครงการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ให้แก่สำนักการประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เรียบร้อยแล้วนั้น
บัดนี้ สำนักการประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้พบเนื้อหา และข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ในบางส่วนในรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้คือ
1.รายงานผลการศึกษาฯ ไม่มีข้อมูลสนับสนุน และหลักฐานอ้างอิงที่เพียงพอ
2.รายงานผลการศึกษาฯ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาวิจัย
3.รายงานผลการศึกษาฯ ไม่ปรากฏผ่านการตรวจสอบ และเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาวิจัย
4.รายงานผลการศึกษาฯ ยังมีการศึกษาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาไม่รอบด้าน
หนังสือฉบับนี้ยังระบุไว้ในตอนท้ายด้วยว่า ดังนั้น เพื่อให้รายงานฉบับดังกล่าวถูกต้องสมบูรณ์ สำนักการประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จึงขอให้ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการแก้ไขเนื้อหา และข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าวโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งจัดส่งรายงานโครงการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ฉบับที่แก้ไขสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว จำนวน 10 เล่ม พร้อม CD ที่สามารถแก้ไขได้ จำนวน 1 แผ่น คืนให้แก่สำนักการประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ภายในวันที่ 6 มิ.ย.2559
นอกจากนี้แล้ว พร้อมกับหนังสือของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่แจ้งให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล แก้ไขข้อมูลดังกล่าว ยังได้มีการแนบเอกสารสำคัญไว้ด้วย 1 หน้าคือ “ใบสรุปแก้ไขรายการที่ผิดพลาดของโครงการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” ซึ่งได้ชี้เป้าถึงความผิดพลาดต่างๆ ไว้มากมายถึง 15 ข้อด้วยกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ชี้ความผิดพลาดของเอกสารว่ามีมากมายถึง 15 ข้อตามเอกสารแนบนั้น ไม่ต่างอะไรกับการประจานให้สังคมเห็นว่า มหาวิทยาลัยมหิดล อันเป็นที่ยอมรับระดับต้นๆ ของประเทศ และในระดับนานาชาติด้วยนั้น ทำไมถึงทำงานวิชาการได้ตกต่ำถึงเพียงนี้
ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เชื่อว่า สังคมไทย โดเยเฉพาะคนนครศรีธรรมราช ต่างกำลังรอคำชี้แจงอย่างใจจดจ่อจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้คนจำนวนมาก ว่า ทำไมการทำหนังสือของ “เชาว์นวัศ เสนพงศ์” จึงมุ่งส่งไปให้ผู้รับตามที่ระบุไว้คือ “ผู้จัดการโครงการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช”
ทำไมจึงไม่มีการระบุ “ชื่อนักวิชาการ” ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่รับผิดชอบโดยตรง หรืออย่างน้อยก็ควรจะจี้ไปที่นักวิชาการในสังกัด “ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ให้ชัดเจนไปเลย
ความจริงแล้ว เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ย่อมต้องรู้ดีว่า นักวิชาการคนไหนรับหน้าที่เป็น “หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย” แล้วมีใครบ้างที่รวมอยู่ใน “ทีมศึกษาวิจัย” ดังกล่าว เพราะมีข่าวที่สะพัดว่า มีการอนุมัติงบประมาณในการศึกษาวิจัยระบบประปาในครั้งนี้ไปรวม 2 แสนบาท โดยมีการตรวจรับ และเบิกจ่ายกันไปเรียบร้อยแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “วิฑูรย์ อิสระพิทักษ์กุล” และ “ประสิทธิ์ วงศ์พิศาล” 2 ส.ท.ที่ทำหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบในสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้เคยเข้าพบเพื่อตรวจสอบข้อมูลกับ “รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งคำตอบที่ได้รับสรุปใจความได้ในทำนองว่า
ข้อมูลที่ถูกบรรจุในเอกสาร “รายงานการศึกษาเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” เป็นข้อมูลที่ทางเทศบาลนำมาให้ทั้งหมด และเคยมีการถามข้อมูลเพิ่ม ซึ่งผู้บริหารรับว่า จะส่งเอกสารตามมาให้ภายหลัง แต่พบว่า มีความล่าช้ากว่าปกติ
เกือบ 3 เดือนที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำประปาของชาวนครศรีธรรมราช ทั้งที่ผืนแผ่นดินแห่งนี้เป็นที่รับรู้กันว่า มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ จากวาทกรรม “ขาดแคลนน้ำดิบ” หรือ “ร่วมใจแก้ภัยแล้ง” รวมถึงการเทงบขุดลอกคูคลองเพื่อ “แก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้ง” ถึงวันนี้มีคำถามมากมายต่อ “รายงานผลการศึกษาฯ” ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำจัดทำให้มา เรื่องราวเหล่านี้คงต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แบบที่ต้องมากมายด้วย “หมายเหตุ” อย่างแน่นอน
--------------------------------------------------------------------------------
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
- (มหากาพย์ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 7) จับตา! “รามสูรย์” อาจขว้างขวานไม่พ้นคอตัวเอง?!
- (มหากาพย์ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 6) ระวัง! วิกฤตขาดน้ำจะลามสู่วิกฤตศรัทธากระทบ“ครอบครัวประชาธิปัตย์”
- (มหากาพย์ ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 5) “นายกลุงตู่” รู้หรือยังประชาชนถูกจับเป็นตัวประกัน วัดใจ ส.ท.กล้ายกมือ “เพื่อใคร”
- (มหากาพย์ ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 4) จี้คณะวิศวกรรม “มหิดล” แจงเอกสารรายงานการศึกษาโครงการครึ่งหมื่นล้าน ผูกขาดขายน้ำ 30 ปี
- (มหากาพย์ ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 3) ผ่าพิรุธ! รายงานการศึกษาพัฒนาประปา ทน.นครศรีฯ ไร้ระเบียบวิธีทางวิชาการ ข้อมูลขัดแย้งกันเอง
- [มหากาพย์ ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 2] แฉระบบแหกตาอ้างเหตุใส่พานกิจการประปาให้เอกชนผูกขาด 30 ปี ชาวบ้านส่อกลายเป็นตัวประกัน
- [มหากาพย์ประปาเทศบาลนครศรีฯ 1] หางโผล่ตามนัดทิ้งทวนโปรเจกต์ยักษ์ ประเคนเอกชนผูกขาดขายน้ำ 30 ปี