คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
ยังเป็น “ประเด็นร้อน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เรื่องการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่างผู้แทนรัฐไทยที่นำโดย พล.อ.อัษรา เกิดผล กับผู้แทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม ที่มี มะสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้ากลุ่ม โดยมี ดาโต๊ะ ซัมซามีน อดีตเลขาธิการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเปิดโต๊ะพูดคุย
ทั้งนี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ “รับไม้” การตั้งเวทีการพูดคุยมาจากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อจากเวทีการ “พูดคุยสันติภาพ” มาเป็นการ “พูดคุยสันติสุข” เท่านั้น
ที่เรื่องการพูดคุยสันติสุขกลายเป็นประเด็นร้อน เนื่องจากการเปิดเวทีครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา จบลงด้วยการที่ไม่มีอะไรความคืบหน้า หรือถ้าจะเรียกตามศัพท์ของ “ภาษาข่าว” นั่นคือ เกิด “ความล้มเหลว” เพราะหลังจากการประชุมไม่มีอะไรที่ “เป็นสาระ” หรือเป็น “แก่นสาร” ติดไม้ติดมือกลับบ้าน
สำหรับสาเหตุของความล้มเหลวมาจากการที่ “ตัวแทนฝ่ายไทย” ไม่ลงนามใน “ร่างทีโออาร์” ที่ฝ่ายเทคนิคทั้ง 2 ฝ่ายเคยประชุม และตกลงร่วมกัน ซึ่งในการกำหนดทีโออาร์นั้นก็เพื่อที่จะใช้เป็นกรอบของการพูดคุยต่อๆ ไป
สำหรับร่างทีโออาร์มี 3 ข้อสำคัญที่ฝ่ายไทยยังรับไม่ได้ และโดยข้อเท็จจริง คือ ไม่ควรรับ และไม่ควรที่จะมีการกำหนดร่วมกันตั้งแต่เบื้องแรก เพราะเป็น “กติกา” ที่ทำให้ฝ่ายไทยอาจจะเป็นฝ่ายที่ “เพลี่ยงพล้ำ” ในเวทีของการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
1.ให้รัฐบาลไทยรับรองชื่อกลุ่ม “มาราปาตานี” ว่าเป็นตัวแทนของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย 2.ให้รับรองการพูดคุยสันติสุขเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และ 3.ต้องให้ “ความคุ้มครองทางกฎหมาย” และ “ความปลอดภัย” แก่สมาชิกของกลุ่มมาราปาตานี
โดยเนื้อหาในกรอบของทีโออาร์ในครั้งนี้ คนที่คร่ำหวอดกับข้อเรียกร้องของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือกับปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างรู้กันล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประชุมครั้งที่ 4 ว่า เป็นทีโออาร์ที่ “รัฐไทยจะไม่ลงนาม” อย่างแน่นอน
แล้วก็เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ถ้ามีการรับว่ากลุ่มมาราปาตานีเป็นตัวแทนของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปถ้ามีการตั้งกลุ่มในชื่ออื่นๆ ขึ้นมาอีก แล้วอ้างว่าเป็นตัวแทนเช่นกันจะทำอย่างไร
แต่ที่สำคัญกว่าคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ ใครเป็นผู้ให้ “ฉันทานุมัติ” ให้กลุ่มมาราปาตานีเป็นตัวแทนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เล่า ในเมื่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคนใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย ซึ่งถือเป็น “พื้นที่สู้รบ” ระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ประกอบไปด้วย ทั้งคนพุทธ มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ
แถมที่ผ่านมาก็ยังไม่มีคนกลุ่มไหนให้ฉันทานุมัติให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 6 กลุ่มได้เป็นตัวแทนของพวกเขา และแม้แต่คนมุสลิมจำนวนมากก็ไม่ได้บอกว่าจะให้กลุ่มมาราปาตานีเป็นตัวแทน อันจะนำไปสู่การ ตัดสินกำหนดอนาคตของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
และโดยพฤติการณ์ของ 6 กลุ่มในเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่พยายามใช้ชื่อ “มาราปาตานี” ในการเข้าร่วมประชุมกับ “องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation : OIC)” โดยพยายามที่จะให้โอไอซีรับรอง “ความมีอยู่” ของกลุ่มมาราปาตานี ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กลุ่มมาราปาตานี ต้องการอะไร
เช่นเดียวกับที่ “บีอาร์เอ็นฯ” ที่ใช้ความพยายามทุกช่องทางในการนำเอา “ประเด็นอ่อนไหว” คือ เรื่องการยึด “ปอเนาะญีฮาด” ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ของกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยว่า เป็นการยึด “ที่ดินวากัฟ” ที่ขัดต่อหลักการของศาสนา โดยผ่านทาง “ประเทศซาอุดีอาระเบีย” ให้เป็นผู้นำเสนอต่อโอไอซี เพื่อให้มีการใช้ประเด็นที่ดินวากัฟในการจุดชนวน “ความขัดแย้งทางศาสนา”
ในส่วนของทีโออาร์ข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ก็เป็นข้อตกลงที่ “รัฐไทย” ยัง “รับไม่ได้” เช่นกัน เพราะการพูดคุยอย่างเป็นทางการที่ผ่านมา 3 ครั้งนั้น ยังไม่มีสาระที่เป็นแก่นสารในการที่จะให้เชื่อได้ว่า กลุ่มมาราปาตานี เป็นกลุ่มที่ “มีอำนาจ” อย่างแท้จริงในเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้
เพราะไม่มีความสามารถแม้แต่ “สั่งการ” ให้กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดการก่อเหตุร้าย อย่าว่าแต่จะหยุดอย่าง “ถาวร” เลย เอาแค่หยุดเพียง “ชั่วคราว” ก็ยังไม่สามารถแสดงให้เห็น
หลังการประชุมที่ทั้งสองฝ่ายกลับบ้านแบบ “มือเปล่า” มีข่าวว่า กลุ่มมาราปาตานี แสดงความไม่พอใจ และ “ข่มขู่” ที่จะก่อเหตุร้ายในพื้นที่เพิ่มขึ้น
แม้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยจะยืนยันว่า ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น แต่เชื่อเถอะถ้ามี “ควัน” ก็ย่อมมี “ไฟ” เพียงแต่ว่าจะเป็นเพียง “คำขู่” หรือเป็นการ “ทำจริง” ก็จะได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มมาราปาตานีเป็น “ของจริง” แค่ไหนเพียงใด
ที่นี่ และคนส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังไม่ลงนามในร่างทีโออาร์ เพื่อใช้เป็นกรอบของการพูดคุยสันติสุข เพราะบนโต๊ะพูดคุยขณะนี้ยังไม่มี “ความจริงใจ” ต่อกันอย่างแท้จริงเกิดขึ้น
เมื่อความจริงใจยังไม่มี และยังพบว่ามีการ “ฉกฉวย” ความได้เปรียบของฝ่ายตน เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นใหญ่ การพูดคุยแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินต่อไป แต่ก็ยังไม่ใช่ “เวลาที่เหมาะสม” ในการที่จะลงนามในร่างทีโออาร์ร่วมกัน
เคยมีบทเรียนจากการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ สมัยที่ “ฮาซัน ตอยิบ” เป็นหัวหน้า “บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ” ด้วยการนำเอาข้อเรียกร้อง 5 ข้อ นำไปเรียกร้องด้วยการโพสต์ผ่านช่องทาง “ยูทิวป์” โดยไม่มีการบอกกล่าวฝ่ายรัฐไทย และถือเป็นการไม่เคารพข้อตกลง
นั่นเป็น “บทเรียน” ที่ชัดเจนถึงการที่บีอาร์เอ็นฯ พยายามทุกวิถีทางในการฉกฉวยโอกาสเพื่อ “สร้างความได้เปรียบ” ในการเวทีการพูดคุย ซึ่งฝ่ายรัฐไทยต้องระมัดระวังตัวต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกกลุ่ม เพราะพวกเขามี “ความช่ำชอง” ในเวทีโลก เวทีของโอไอซี และของเวทีสหประชาชติ (UN) มากกว่ารัฐบาลไทย โดยเฉพาะกับ “กองทัพไทย” มากนัก
ที่นี่เห็นด้วยต่อการ “ดับไฟใต้” ด้วยการ “พูดคุย” หรือการ “เจรจา” แต่นั่นหมายถึงต้องที่มี “ความบริสุทธิ์ใจ” และต้องการที่จะ “ยุติสงครามประชาชน” ที่เกิดขึ้นอย่างเป็น “เอกภาพ” และต้องไม่มี “เลศนัย” ที่แอบแฝง หรือใช้เวทีในการพูดคุยในการแสวงหาผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม
เนื่องเพราะการพูดคุยในลักษณะนี้ไม่มีหนทางที่จะ “สร้างสันติภาพ” ให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ก็ไม่แน่นักว่าการ “ดับไฟใต้ที่ปลายด้ามขวาน” ของประเทศไทยอาจจะใช้สูตรของการพูดคุยที่ประเทศอื่นใช้ได้ผลมาแล้ว เพราะลักษณะของปัญหาแห่งการเรียกร้อง “แบ่งแยกดินแดน” ในพื้นที่มีทั้ง “ความซับซ้อน” และมี “ความไม่ชัดเจน” จนเวทีการพูดคุยแฝงไว้ด้วยเรื่อง “ส่วนตัว” เรื่อง “ผลประโยชน์” มากกว่าเรื่องของ “ประชาชนในพื้นที่” อันเป็นเรื่อง “ส่วนรวม”
สุดท้ายการดับไฟใต้ในวันนี้จึงอยู่ที่ความสามารถของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” มากกว่าที่จะหวังพึ่ง “การพูดคุยในต่างประเทศ” เพราะยิ่งพูดคุยมากครั้ง ระยะห่างของทั้งฝ่ายกองทัพไทย และกลุ่มมาราปาตานียิ่งห่างเหินจาก “สันติสุข” มากยิ่งขึ้น