MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด” พร้อม 4 อดีตตำรวจไม่ผิด คดีอัยการฟ้องอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี” นักธุรกิจซาอุฯ ชี้มีเพียงพยานบอกเล่า
ที่ห้องพิจารณา 904 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 3 พ.ค. 2559 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย หมายเลขดำ อ.119/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5, พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 309, 310 และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางคืน ให้แก่ทายาทของนายโมฮัมหมัดอัลรูไวลีด้วย
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2553 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ กับรัฐบาลประเทศอิหร่านที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2532 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทยเสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้นและกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง
แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ. 2533 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง เสียชีวิตรวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร.(ขณะนั้น) ติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ กระทั่งระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ. 2533 ต่อเนื่องกันจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท.ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ.ตำแหน่ง รอง สว. จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท.ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต.ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งพวกจำเลยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ โดยจำเลยกับพวกบังอาจร่วมกันลักพาตัวนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ซึ่งเป็นพระญาติกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ เนื่องจากจำเลยหมดเข้าใจว่านายอัลรูไวลีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย
โดยจำเลยบังคับนำตัวนายอัลรูไวลีไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อซักถามข้อเท็จจริงเพื่อให้นายอัลรูไวลียอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ ทั้งนี้ จำเลยมีเจตนาฆ่านายอัลรูไวลีจนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายอัลรูไวลีมาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา คำฟ้องระบุด้วยว่าจำเลยทั้งห้ายังได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อยทำร้ายร่างกายนายอัลรูไวลีโดยวิธีการต่างๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตายสมดังเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
และร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ โดยนำศพของนายอัลรูไวลีไปเผาทำลายภายในไร่ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังการตายหรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกี่ยวพันกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วงของกลาง จำเลยทั้งห้า แถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาวันที่ 31 มี.ค. 2557 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำ พ.ต.ท.สุวิชัย แก้วผลึก พยานโจทก์ปากสำคัญเข้าเบิกความต่อศาล มีเพียงบันทึกคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชัยเท่านั้น ทั้งยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยเกี่ยวกับแหวนทองคำของผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว พ.ต.ท.สุวิชชัย เบิกความว่า เคยเข้าไปในโรงแรมฉิมพลีเเล้วพบนายโมฮัมหมัด และภายหลังยังได้พบแหวนที่อ้างว่าเป็นของนายโมฮัมหมัดและเป็นพยานหลักฐานใหม่ โดยหลังจากนั้นก็มีการสอบสวนพนักงานโรงแรมดังกล่าว
ศาลเห็นว่า คดีนี้ครั้งแรกพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีไปแล้ว แต่ภายหลังมีการอ้างคำให้การใหม่ของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอมาดำเนินคดีใหม่ ซึ่งคำให้การดังกล่าวและแหวนที่อ้างว่าเป็นของนายโมฮัมหมัดนั้นเคยปรากฏในสำนวนที่พนักงานอัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่นั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
ขณะที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่มารดาของนายโมฮัมหมัดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้น โจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานว่านายโมฮัมหมัดเสียชีวิตหรือถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ส่วนคดีแพ่งที่ญาติของนายโมฮัมหมัดร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลสาบสูญนั้นศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ดังนั้นจึงไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
ส่วนจำเลยที่ 2-5 ได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลย พานายโมฮัมหมัดเข้าไปในโรงแรมฉิมพลี เพียงแต่รับฟังได้ว่าเคยมีการใช้โรงแรมดังกล่าวเป็นที่รวมพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วน พ.ต.ท.สุวิชชัย พยานโจทก์ที่อ้างว่ามีการจับกุมตัวชาวซาอุฯ มาสอบสวน แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าพนักงานสอบสวนนั้นมีใครบ้างที่เป็นผู้จับกุมและฆาตกรรมเผานายโมฮัมหมัด คำให้การจึงเป็นเพียงเเต่การคาดคิดของ พ.ต.ท.สุวิชชัยว่าผู้ที่กระทำจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานซึ่งก็คือจำเลยที่ 2-5 ขณะที่พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สุวิชชัยนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่าจากผู้อื่นซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบ อีกทั้งเมื่อ พ.ต.ท.สุวิชชัยได้ทราบความดังกล่าวกลับไม่นำไปเล่าให้ผู้บังคับบัญชาฟัง
แม้ภายหลัง พ.ต.ท.สุวิชชัยจะไปให้การต่อดีเอสไอว่าตัวเองเป็นผู้พบเห็นนายโมฮัมหมัดด้วยตัวเองที่โรงแรมเเละพบแหวนของนายโมฮัมหมัดตั้งเเต่ปี 2546 ซึ่งควรที่จะนำมาให้พนักงานสอบสวนในขณะนั้น แต่กลับปล่อยเวลาทิ้งไว้ถึง 5 ปีแล้วค่อยนำแหวนไปซ่อมก่อนมามอบให้พนักงานสอบสวนซึ่งอาจทำให้หลักฐานเสื่อมสลายไปได้ ขณะที่เจ้าของร้านเพชรและช่างซ่อมแหวนเบิกความว่า แหวนที่นำมาซ่อมนั้นไม่มีร่องรอยไฟไหม้ ทั้งที่ พ.ต.ท.สุวิชชัยอ้างว่าได้แหวนมาจากจำเลยที่ 4 ที่นำมาจากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตรที่เผาทำลายนายโมฮัมหมัด ขณะที่ญาติของนายโมฮัมหมัดก็ไม่อาจยืนยันว่าแหวนดังกล่าวเป็นของนายโมฮัมหมัด
และแม้โจทก์จะมี พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ มาเบิกความเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ต.ท.สุวิชชัย แต่ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่ง พล.ต.ท.ชลอระบุว่าได้ฟังมาจาก พ.ต.ท.สุวิชชัยเองเท่านั้น ประกอบกับอัยการโจทก์ก็ไม่ได้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเบิกความต่อศาลเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2-5 ซักถามให้ได้ความอย่างชัดแจ้ง จึงมีเพียงคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัยในชั้นสอบสวน และบันทึกถ้อยคำที่ยื่นมาภายหลังที่รับฟังไม่ได้ อีกทั้งคำให้การยังกลับไปกลับมา ไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นว่ามีการกระทำถึงนายโมฮัมหมัดถึงแก่ความตาย
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำให้นายโมฮัมหมัดถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน
ภายหลัง นายเอนก คำชุ่ม ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากมารดานายโมฮัมหมัด กล่าวว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัย 2 ประเด็น คือ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เเละพยานหลักฐานที่นำมาฟ้องไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ซึ่งก็จะกลับไปพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อที่จะยื่นฎีกา เเต่ประเด็นแหวนจะถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล
ด้าน พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จำเลย กล่าวขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม พร้อมระบุว่า เป็นเวลากว่า 7 ปีที่ทนทุกข์ทรมานในการสู้คดีมา คำพิพากษาในวันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ของการปฏิบัติหน้าที่ของตนซึ่งหลังจากการถูกดำเนินคดีนี้ตนก็ไม่ได้รับความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
พล.ต.ท.สมคิดกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมีขบวนการที่นำพยานหลักฐานเท็จมากล่าวหากลั่นแกล้ง และมีการร่วมกันนำพยานที่เป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาที่หนีออกไปยังต่างประเทศมากล่าวหา โดยที่ผ่านมาตนยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญาทั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งขั้นตอนอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและพนักงานอัยการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งได้หยุดการพิจารณาคดีไว้เนื่องจากต้องรอผลจากคำพิพากษาในคดีนี้
เมื่อถามว่าจะฝากอะไรถึงรัฐบาลชุดนี้ในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุฯ หรือไม่ พล.ต.ท.สมคิดกล่าวว่า ตนคงไม่สามารถฝากอะไรถึงรัฐบาลได้ แต่ที่ผ่านมาตนได้ทำหน้าที่ในฐานะจำเลยที่พิสูจน์ความจริงในการปฏิบัติหน้าที่ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาที่สร้างความบาดหมางระหว่างประเทศ ได้มีคำพิพากษาเป็นที่ประจักษ์ในชั้นอุทธรณ์แล้วที่พิพากษายกฟ้องว่าตนกับพวกไม่ได้เป้นผู้กระทำผิด โดยพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะกล่าวหา เเต่ที่สำคัญอยากฝากถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาจากการปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก สตช. จึงอยากฝากเป็นข้อคิดให้ข้าราชการตำรวจทั่วไปพึงตระหนักปฏิบัติตามหน้าที่ของตน และแม้ว่าจะมีบททดสอบต่อการถูกกล่าวหาว่าเรากระทำความผิดก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้าระเบียบในการต่อสู้คดี
ผู้สื่อรายงานว่า ในการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้ ญาติของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ไม่ได้เดินทางมาศาลแต่อย่างใด คงมีเพียง Mr.Abdalelah Mohammed A.Alsheaiby อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ และเจ้าหน้าที่สถานทูตกว่า 10 คน โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ