เอเอฟพี - รัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระของพม่าประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ ในวันนี้ (29) ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลใหม่ของอองซานซูจี และพรรคการเมืองชาวพุทธของรัฐทางตะวันตกไม่ค่อยราบรื่นนัก
รัฐยะไข่ ยังคงมีรอยแผลฝังลึกจากความรุนแรงในชุมชนระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมโรฮิงญาที่เริ่มขึ้นในปี 2555 ที่เป็นหนึ่งในความท้าทายที่หนักหนาสาหัสที่สุดสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยความนิยมท่วมท้นเป็นครั้งแรกของประเทศในรอบหลายทศวรรษ
ในความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจในวันนี้ (29) ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้ตั้งแต่เกิดความไม่สงบ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายหมื่นคนถูกจำกัดให้อยู่ในค่ายพักที่มีสภาพเลวร้าย
“ตามการระบุของรัฐบาลรัฐยะไข่ ในขณะนี้ไม่มีภัยคุกคามอันตรายต่อชีวิตผู้คน” สื่อของทางการรายงานคำแถลงประกาศคำสั่งที่จะทำให้เห็นทหารถอนกำลังรักษาความปลอดภัยแบบวันต่อวันในพื้นที่
ขณะเดียวกัน รัฐยะไข่ไม่ปรากฏเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในรอบกว่า 2 ปี แม้รัฐยะไข่จะยังคงมีรอยร้าวของความขัดแย้งทางศาสนาก็ตาม ส่วนชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ติดอยู่ในค่ายพัก หรือไม่ก็พื้นที่ที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดใกล้ชายแดนบังกลาเทศ
กระแสชาตินิยมชาวพุทธที่เพิ่มสูงในพม่ายิ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่หลายคนมองว่า คนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และกฎระเบียบความเป็นพลเมืองของพม่าทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเป็นผู้ไร้รัฐ และไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งสำคัญเมื่อเดือน พ.ย.
ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนหลบหนีการข่มเหงรังแก และความยากจนไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่กระแสการหลบหนีของชาวโรฮิงญาดูเหมือนจะชะลอตัวลงในปีนี้ หลังไทยดำเนินการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ในปี 2558 เป็นผลให้กัปตันเรือทิ้งชาวโรฮิงญาไว้ทั้งบนบก และในทะเล จนกลายเป็นวิกฤตในภูมิภาค
“เราคิดว่าสถานการณ์เป็นไปด้วยดี แต่รัฐยะไข่นั้นยังเป็นพื้นที่อ่อนไหว และสถานการณ์อาจปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา” เอ หม่อง หัวหน้าพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ กล่าว
คำสั่งของประธานาธิบดีมีขึ้น 1 วัน หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี เผชิญต่อการประท้วงของสมาชิกสภาจากพรรค ANP ที่เป็นหนึ่งในพรรคชนกลุ่มน้อยที่เข้มแข็งที่สุดของพม่า เกี่ยวกับการตัดสินใจของพรรค NLD ที่แต่งตั้งผู้สมัครจากพรรคของตัวเองเป็นมุขมนตรีของรัฐ
สมาชิกรัฐสภาจากพรรค ANP ประมาณ 18 คน หลายคนติดสติกเกอร์สีดำบนเสื้อของตัวเอง เดินออกจากสภาภูมิภาครัฐยะไข่ในวันจันทร์ (28) และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินของประธานาธิบดีเต็งเส่ง อดีตนายพลที่กำกับการปฏิรูปประเทศนับตั้งแต่ปี 2554 แต่เฝ้าดูการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมชาวพุทธ.