คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
นับตั้งแต่ปี 2547 ที่ไฟใต้โชนแสงอย่างรุนแรงครั้งใหม่เป็นต้นมา โดย ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ได้วางยุทธศาสตร์ในการเข่นฆ่า ประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมถึง พระสงฆ์ อย่างโหดเหี้ยม ซึ่งในยุคที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต อย่างบีไอพีพี หรือพูโลไม่เคยใช้เป็นเงื่อนไขของการทำสงครามประชาชนเพื่อการแบ่งแยกดินแดนแบบนี้มาก่อน
โดยเหตุการณ์ล่าสุด ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งสุดท้ายคือ การวางระเบิดแสวงเครื่องในย่านชุมชนตลาดเก่า เทศบาลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนที่ยังมีไทยพุทธกระจุกตัวอยู่ และยังยึดมั่นในบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
หลังสิ้นเสียงระเบิดคือ ความสูญเสียของบวรพุทธศาสนาอีกครั้ง เพราะสะเก็ดระเบิดได้ทำให้ พระเอกพล อินทโร ศรีโอสถ พระลูกวัดวิมลวัฒนาราม มรณภาพ ส่วนพระพะยอม ฐานวุฒฑโฒ สุกตรี ได้รับบาดเจ็บ ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารชุด ชค.954 ฉก.สันติสุข ซึ่งเป็นชุดคุ้มครองพระเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 6 ราย
เป็นการสูญเสียผู้เผยแผ่ศาสนา ท่ามกลางความโศกเศร้าของชาวไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งในการสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียก่อนที่จะเข้าสู่วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาเพียงสัปดาห์เดียว
สิ่งที่ติดตามมากับความสูญเสียครั้งนี้คือ การขอร้องจาก พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อขอให้พระภิกษุสงฆ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ งดการออกโปรดสัตว์ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อลดการสูญเสีย ก่อนที่จะมีการปรับยุทธวิธีในการคุ้มครองพระในครั้งใหม่
หลังจากนั้น สำนักพุทธศาสนา ก็ได้ขอให้พระภิกษุสงฆ์งดการบิณฑบาตตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.เป็นต้นไป หรือหากวัดไหนจะปฏิบัติภากิจของสงฆ์ ขอให้มีการประสานกับชุดคุ้มครองพระ และมีการประเมินสถานการณ์ให้แน่นอน
แน่นอนว่าการที่พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย ต้องระมัดระวังในความปลอดภัย จนต้องงดกิจของสงฆ์ตั้งแต่การโปรดสัตว์ การออกเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าแก่บรรดาญาติโยม รวมทั้งต้องมีการป้องกัน ระมัดระวังภายในวัดวาอาราม
นั่นยอมเป็นวิกฤตของพระพุทธศาสนาที่เกิดจากไฟใต้ ดังคำกล่าวของ พระราชปัญญามุนี เจ้าคณะจังหวัดยะลา ที่กล่าวว่า
“เป็นวิกฤตของพระสงฆ์ใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เกิดขึ้นมาย่างยาวนานถึง 11 ปี ซึ่งเป็นผลให้พระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของสงฆ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการบิณฑบาต และการออกเผยแพร่คำสอนแก่ญาติโยม ในขณะที่ญาติโยมก็ไม่สะดวกในการเดินทางมาฟังเทศน์ฟังธรรมภายในวัด เพราะมีความไม่ปลอดภัยเช่นกัน จึงได้แต่วิงวอนร้องขอให้เจ้าหน้าที่มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น”
ในขณะที่ วิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ นายกพุทธสมาคมจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อพระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของชาวไทยพุทธ และขวัญกำลังใจของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งพุทธสมาคมได้รวมรวมชาวพุทธในการสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ในการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวพุทธ และพระสงฆ์องคเจ้าในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป
“แต่จากการประชุมพูดคุยพบว่า การทำร้ายพระ และอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความขัดแย้งในเรื่องของศาสนา แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ซึ่งต้องให้วิธีการทำความเข้าใจเพื่อเป็นการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น”
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยังเห็นว่า ตำรวจ และทหารได้พยายามที่จะป้องกันอย่างเต็มที่ แต่หลายครั้งที่เกิดความสูญเสียต่อพระภิกษุสงฆ์จากเหตุสุดวิสัย และหลังเกิดเหตุก็มีการเยียวยาต่อครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย เช่น การเยียวยาในกรณีที่มรณภาพศพละ 1 ล้านบาท ส่วนที่บาดเจ็บมีการเยียวยา 1 แสนบาท และนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีพระเสียชีวิตไปแล้ว 11 รูป บาดเจ็บอีก 6 รูป
นั่นคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อภิกษุสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ยังเห็นต่าง ยังยึดมั่นในยุทธศาสตร์ของการใช้ความรุนแรง และต้องการทำรายพระภิกษุเพื่อสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวพุทธในพื้นที่ เพื่อให้ลุกขึ้นมาตอบโต้ เพื่อที่จะให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา เพื่อนำสถานการณ์ไปสู่เงื่อนไขที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการ
ในขณะเดียวกัน ในการพยายามแก้ปัญหาโดยการใช้ “สันติวิธี” ของกองทัพ โดยผ่านทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อลดความขัดแย้งด้วยการ “พูดคุย” ก็ยังคงดำเนินต่อไป
ล่าสุด คือการพักโทษของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ สะมะแอ สุหลง หรือ สะมะแอ สะอะ อดีตหัวหน้าขบวนการพูโล ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจังหวัดยะลา เนื่องจากต้องโทษในข้อหาขบถ อั้งยี่ ซ่องโจร หลังจากถูกจองจำมานาน 18 ปี
ซึ่งการพักโทษ และปลอดปล่อย สะมะแอ ท่าน้ำ ในครั้งนี้ รัฐบาล และกองทัพมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เขาเป็นตัวเชื่อมในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ที่เห็นต่าง โดยยังมีแนวคิดในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ
และในอีกไม่กี่วัน รัฐบาลก็เตรียมพักโทษ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ อดีตหัวหน้าขบวนการพูโลใหม่ ซึ่งถูกจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาขบถ อั้งยี่ ซ่องโจร และถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำจังหวัดยะลา เป็นปีที่ 17
เช่นเดียวกัน การพักโทษด้วยการปลดปล่อยให้กลับบ้านนั้น สิ่งที่รัฐบาล และกองทัพต้องการจากทั้ง สะมะแอ ท่าน้ำ และดาโอ๊ะ ท่าน้ำ เหมือนกัน และทั้ง 2 คนต่างยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างความเข้าใจให้แก่กลุ่มผู้คิดต่าง และเห็นต่าง เพื่อนำสันติสุขกลับมาสู่ภูมิภาคของแผ่นดินปลายด้ามขวาน
ในขณะที่ทั้ง ซำซูดิง คาน หัวหน้าขบวนการพูโลใหม่ และ คัสตูรี มะโกตา หัวหน้าขบวนการพูโลเก่า ซึ่งเป็นผู้นำปัจจุบันของขบวนการพูโลทั้ง 2 ปีก ต่างแสดงจุดยืนในการที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลในเวที “พูดคุยสันติสุข” ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก รวมกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีก 2 กลุ่มที่ยื่นมือรอไมตรีจากรัฐบาลไทยอยู่ก่อนแล้ว
กลยุทธ์การพักโทษโดยปลดปล่อยให้ “2 หะยี” คนดังอดีตผู้นำขบวนการพูโลครั้งเก่าก่อน น่าจะเป็นเกมในการบีบพื้นที่ให้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นขบวนการนำในการก่อการร้ายในขณะนี้มีพื้นที่แคบลง และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้ามาสู่เวทีพูดคุยกับรัฐบาล
อันเป็นไปตามเกมของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้บีอาร์เอ็นฯ เข้าสู่ขบวนการพูดคุย หลังจากที่บีอาร์เอ็นฯ พยายามยื้อเวลา และเล่นเกมเล่นแง่ในการต่อรองมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเวทีของการเปิดการพูดคุยรอบใหม่ที่เกิดขึ้น หลังการที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ
เพราะสุดท้ายแล้ว สันติสุขจะเกิดขึ้นได้จริงย่อมมาจากโต๊ะพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ มากกว่าที่จะจบลงด้วยการใช้กองกำลัง และอาวุธ เพราะถ้ากองทัพ และอาวุธมีความสำคัญจริง สงครามประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่ยืดเยื้อยาวนานมาถึง 11 ปี ซึ่งเป็น 11 ปีที่ความสูญเสียยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม เหยื่อก็ยังเป็นหน้าเดิมๆ คือ พระ ครู วัด โรงเรียน รถไฟ และผู้บริสุทธิ์
แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามดูกลยุทธ์ของบีอาร์เอ็นฯ ว่าจะแก้เกมด้วยการดิ้นออกจากมุมอับเพื่อการไม่เข้าสู่โต๊ะการพูดคุยอย่างไร เพราะขึ้นชื่อว่าบีอาร์เอ็นฯ นั้น ขบวนการนี้มีความช่ำช่องในยุทธวิธีของการต่อสู้บนเวทีโลกมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
สุดท้ายวันนี้สถานของบีอาร์เอ็นฯ ก็ยังไม่ใช่ “ตะเกียงที่ขาดน้ำมัน” แต่อย่างใด?!