ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกแถลงการณ์สรุปกิจกรรมเดินต่อลมหายใจชายแดนใต้ ฝาก กอ.รมน.บอกนายกฯ คนใต้ไม่ขอใช้ตะเกียง แต่จะใช้โซลาร์เซลล์ อนาถใจประชาชนในพื้นที่รับรู้ข้อมูลจากภาครัฐน้อยมาก
วันนี้ (11 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ได้ออกแถลงการณ์สรุปการเดิน “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จาก จ.ปัตตานี-อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
กิจกรรมการเดินรณรงค์ “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สู่บ้านคลองประดู่อำเภอเทพา ที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8-10 เมษายน 2559 ที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จอย่างดี นักศึกษา และประชาชนที่ตื่นตัวนับร้อยคน ได้เดินเท้ารณรงค์ให้ข้อมูลประชาชนตลอดสองข้างทางของพื้นที่ปัตตานี หนองจิก และเทพา เพื่อให้รับรู้ว่า มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่มากจะมาตั้งในพื้นที่ และเพื่อให้ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน ทั้งนี้ มีนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี นักศึกษาจากราชภัฏยะลา ภาคประชาสังคมของปัตตานี สงขลา สตูล และชาวบ้านเทพาเอง ร่วมเดินรณรงค์ตลอด 3 วันท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดอย่างมุ่งมั่น และมีความสุขที่ได้ร่วมกิจกรรมการปกป้องบ้านเกิด
กิจกรรมการเดินต่อลมหายใจชายแดนใต้นี้ มีบทเรียนที่ดีหลายประการ ประการสำคัญประการแรกคือ การฝ่ายความมั่นคง หรือ กอ.รมน.ได้อนุญาตให้มีการเดินรณรงค์ตามแผนได้ และได้จัดชุดทหารตำรวจเข้าดูแลตลอดเส้นทางที่เดิน และการพักค้างแรมใน 2 คืนระหว่างเส้นทาง ซึ่งทางเครือข่ายที่จัดการเดินต้องขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ และกิจกรรมนี้เป็นอีกกิจกรรมที่สะท้อนว่า การเปิดพื้นที่ให้มีเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมคือ ประชาธิปไตยฐานรากที่จะนำสู่สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในระยะยาว ยิ่งปิดกั้นยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใต้ดิน การเปิดกว้างเท่านั้นที่จะนำสู่การแสดงออกอย่างเปิดเผย และสันติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอารยะยอมรับ และเป็นบันไดก้าวสำคัญของสันติภาพ
ประการที่สอง เราพบว่า การรับรู้ข้อมูลการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่นั้นมีน้อยมาก น้อยจนน่าตกใจ การไม่รับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้วมารับรู้เมื่อได้รับมลพิษแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้ว ต้องทนรับสภาพแล้ว นี่คือเงื่อนไขสำคัญของความรู้สึกไม่เป็นธรรมสำหรับชาวบ้าน การมีระเบิดมีเหตุยิง แม้จะใกล้บ้าน แต่ก็ยังไม่ใช่เหตุกระทบต่อร่างกายของโดยตรง แต่มลพิษที่ได้รับ ทะเลที่จะไม่มีปลา นาข้าวที่จะเสียหายจากฝนกรด หรือโลกร้อน รวมทั้งศาสนสถานที่ต้องถูกย้าย สิ่งเหล่านี้กระทบร่างกาย และจิตใจของเขาโดยตรง การไม่เปิดการรับรู้ของผู้คน อีกทั้งยังไม่มีเวทีรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูล หวังปิดให้มิดจนกว่าจะสร้างเสร็จ ไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพ ไม่เป็นผลดีต่อนโยบายการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของ กอ.รมน. และ ศอ.บต.เอง และการปิดกั้นนี้เองที่มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ หากเดินตามในแนวทางเดียวกัน สันติภาพจะก่อเกิด เมื่อรัฐจริงใจรับฟัง และเคารพเสียงประชาชน
ประการที่สาม เมื่อประชาชนค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ไม่ได้แปลว่า ประชาชนชายแดนใต้จะกลับไปใช้ตะเกียงอย่างที่นายกรัฐมนตรีได้แดกดันไว้ คนชายแดนใต้มีความชัดเจนว่า ที่มีอยู่พอแล้ว คือ มีโรงไฟฟ้าจะนะ พอแล้ว ส่วนที่จะมาใหม่ขอเป็นพลังงานสะอาด เรามีแสงแดดที่ร้อนมากตลอดปี หากรัฐบาลนำงบประมาณที่ใช้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 150,000 ล้านบาท ซึ่งผลิตไฟได้ 2,200 เมกะวัตต์ กับมลพิษจำนวนมาก อีกทั้งยังมีต้นทุนอีกมหาศาลในการนำเข้าถ่านหินและบำบัดมลพิษทกุกวัน เปลี่ยนมาสนับสนุนให้ทุกบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ภาคใต้ที่มี 2.6 ล้านหลังคาเรือน จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 4,000เมกะวัตต์ โดยมีต้นทุนสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่สูญเสียไปน้อยมากๆ นี่คือข้อเสนอของคนชายแดนใต้ ที่ขอกำหนดอนาคตตนเอง ขอเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานสะอาดเท่านั้น โดยไม่เอาถ่านหินสกปรกเข้ามาปนเปื้อนผืนดินอันอุดม
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อทาง กอ.รมน.ได้อนุญาตให้เดิน “ต่อลมหายใจชายแดนใต้แล้ว” จะนำบทเรียนที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมการเดิน “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” ไปนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชา และนายกรัฐมนตรีด้วย คนค้านถ่านหินไม่ใช่คนที่มีปัญหาที่ต้องนำไปปรับทัศนคติ คนที่ดันทุรังสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ต่างหากที่ควรนำไปปรับทัศนคติให้เข้าใจว่าโลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว โลกนี้ต้องการการใส่ใจอย่างจริงจังในการลดโลกร้อน และประชาชนต้องการสันติภาพ ต้องการการรับฟัง และการเคารพในเสียงของประชาชนด้วย ไม่ใช่ฟังแต่ข้อมูลข้างเดียวจากนายทุน และข้าราชการระดับสูงที่วนเวียนอยู่แต่สนามบิน และห้องประชุม