xs
xsm
sm
md
lg

“คนชายแดนใต้ขอกำหนดอนาคตตนเอง” เครือข่ายค้านถ่านหินลั่น! ไม่เอาการพัฒนาแบบล้างผลาญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายเดินรณรงค์ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัตตานี - สงขลา เดินหน้าถึงที่หมายในวันนี้ ลั่นคนชายแดนใต้ขอกำหนดอนาคตตนเอง ชี้ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ต้องเคารพอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน แฉการกำเนิดของโครงการมีความฉ้อฉลขาดการรับรู้และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

วันนี้ (10 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากิจกรรมเดินรณรงค์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัตตานี - สงขลา ในกิจกรรม “เดินต่อลมหายใจคนชายแดนใต้” ของตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักศึกษา มอ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ในวันที่ 3 สถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดี
 

 
โดยในช่วงเช้าวันนี้ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ออกเดินเท้าจากที่พักบริเวณสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง ณ บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา และในช่วงค่ำจะมีการเปิดเวทีเสวนา “หยุดถ่านหิน : ต่อลมหายใจชายแดนใต้” มีตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และตัวแทนชาวบ้านอำเภอเทพา,จะนะ,สะบ้าย้อย, ตัวแทน กป.อพช.ใต้ ร่วมเสวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดการเดินเท้าเส้นทางปัตตานี - สงขลา ของตัวแทนเครือข่ายฯ ในวันนี้มีประชาชนให้การต้อนรับเป็นอย่างดีโดยมีการนำน้ำดื่มมาแจกจ่ายเป็นกำลังใจให้กับผู้เดินเท้าด้วย ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่รอยต่อ จ.ปัตตานี กับ จ.สงขลา ได้อำนวยความสะดวกและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด
 

 
นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักศึกษา มอ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรื่อง “คนชายแดนใต้ขอกำหนดอนาคตตนเอง” เนื้อหาระบุว่า

ขบวนเดินรณรงค์ “ต่อลมหายใจชายแดนใต้ ได้เดินมาเป็นวันที่ 3 ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมการเดินเพื่อต่อลมหายใจชายแดนใต้ ซึ่งจะสิ้นสุดที่บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพาจังหวัดสงขลา จุดที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 

 
การออกเดินได้เริ่มเดินจาก มอ.ปัตตานี ในเช้าวันที่ 8 เมษายน 2559 โดยได้พักค้างคืนที่บ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก และมีการเสวนาในช่วงค่ำ ซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญคือ การรับรู้ของประชาชนต่อโครงการขนาดใหญ่เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่รู้ ที่พอรู้ก็ไม่มีใครรู้รายละเอียด ไม่ทราบถึงผลดีผลเสียใดๆ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในพื้นที่ชายแดนใต้แท้จริงนี่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่คือโรงไฟฟ้าถ่านหินชายแดนใต้ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าเล็กๆ ของคนเทพาหรือสงขลาเท่านั้นที่จะร่วมตัดสินใจ แต่ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมของคนชายแดนใต้ว่าจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะเอาหรือไม่เอาการพัฒนาแบบล้างผลาญ ผลาญทั้งภาษีประชาชน ผลาญทั้งงบประมาณ และผลาญทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมอันงดงามของพื้นที่
 

 
ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2559 ก็ได้มีการเดินทางต่อและมาพักที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี การเสวนาในช่วงค่ำ ได้สะท้อนความรู้สึกที่ไม่ไม่เคารพอัตลักษณ์คนพื้นที่ เพราะต้องย้ายชาวบ้านออกนับพันคน ต้องย้ายวัดมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) ซึ่งจะเป็นการสร้างเงื่อนไข เพิ่มความไม่เข้าใจต่อรัฐไทยในสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงต้องคิดให้หนัก เพราะการกำเนิดของโครงการนี้อย่างฉ้อฉลและลักไก่ขาดการรับรู้และขาดการมีส่วนร่วม ขัดแย้งอย่างยิ่งกับแนวทางของนโยบายรัฐบาลตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230 ที่กำหนดแนวทางแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยการเคารพการมีส่วนร่วมของพื้นที่ในทุกระดับเพื่อให้เกิดการร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติ
 

 
และในวันนี้ วันที่ 10 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินรณรงค์จากปัตตานีมุ่งสู่เป้าหมายบ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในอนาคต และร่วมเวทีการเสวนาที่มีตัวแทนจากหลายจังหวัดมาร่วมให้ข้อมูล คำถามสำคัญคือทิศทางอนาคตของภาคใต้ควรจะเดินไปในทิศทางใด ใครควรจะเป็นผู้กำหนด ปัจจุบันนั้นทุนอุตสาหกรรมได้ผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ คสช.ในนามประชารัฐหรือแท้จริงคือธนารัฐ วาดหวังจะเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นอุตสาหกรรม วาดหวังจะเปลี่ยนชายแดนใต้ให้เป็นอุตสาหกรรมหนัก

เมื่อต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมดไม่ว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 สะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมสองท่าเรือด้วยรถไฟรางคู่และนิคมอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมเหล็กที่ปานาเระ โครงการคลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันข้ามคาบสมุทร ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพารวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นมาบตาพุดสองนั่นเอง
 

 
การเดินรณรงค์ เพื่อ “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” ใน 3 วันนี้ จึงเป็นการแสดงออกถึงเสียงของภาคประชาชนโดยสันติ ที่อุทิศแรงกายแรงใจเดินกลางแดดร้อน ด้วยความหวังให้เสียงของประชาชนและชุมชน สร้างการรับรู้และความตระหนักถึงภัยที่กำลังจะตามมาในอนาคตอันใกล้ ส่วนรัฐบาลจะรับรู้หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะรัฐบาลชุดนี้ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว และไม่เคยรับฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว

ภาคใต้ทั้งภาคควรเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่มีสีม่วง เป็นพื้นที่อันอุดมระหว่างสองมหาสมุทรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สะอาด ทั้งการประมงที่ยั่งยืน เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกใฝ่ฝัน เป็นสวนยางสวนผลไม้สวนปาล์มสวนมะพร้าวที่เขียวชอุ่ม เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ อากาศดี น้ำใสและดินอุดมปราศจากมลพิษจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นชุมชนที่มีดำรงอัตลักษณ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันสุขสงบ นี่คือความฝันของคนใต้ และนี่คือความต้องการของคนชายแดนใต้เช่นกัน
 

 
สันติสุขสันติภาพในชายแดนใต้ ไม่ได้หมายถึงการไม่มีระเบิดไม่มีควันปืนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการที่คนชายแดนใต้ต้องมีอนาคต อนาคตที่ใสสะอาดไม่มืดดำจาการพัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินอันสกปรก ต้องมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีบนฐานทรัพยากรตนเอง ไม่ใช่เหลือคุณค่าเพียงแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม

“วันนี้ 10 เมษายน 2559 คนชายแดนใต้ขอประกาศว่า “เราต้องลมหายใจที่สะอาด เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและปานาเระ เราไม่ต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้ และเราคนชายแดนใต้ขอกำหนดอนาคตตนเอง และไม่ยอมรับในความหวังดีจอมปลอมที่แอบอ้างการพัฒนาแบบกอบโกยจากนายทุนอุตสาหกรรมและรัฐราชการที่ร่วมมือขีดวางสารพัดโครงการทำลายล้างในห้องแอร์ในเมืองหลวง โดยไม่เคยเคารพต่อสิทธิของภาคประชาชนในการร่วมตัดสินใจ”
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น