ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สรุปชัดคน 5 จังหวัดชายแดนใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เผย UN หนุนชุมชนปกป้องสิทธิตนเอง เตรียมจัดขบวนขึ้นเมืองกรุงไปที่สำนักงาน สผ.อีกรอบ ขณะที่การรณรงค์คัดค้าน และเวทีให้ความรู้หัวข้อ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาหรือหายนะ” เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย สวนทางรายงานข่าวกรองของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่
วันนี้ (21 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีให้ความรู้แก่ประชาชนในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาหรือหายนะ” ที่เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ จัดขึ้นในวันนี้ที่สนามหญ้าของโรงเรียนเทพา มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีตัวแทนชาวบ้านสลับกันขึ้นเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็น และมีตัวแทนนักวิชาการ รวมทั้งสื่อมวลชนร่วมกันให้ความรู้แก่ประชาชนบนเวที
นางรอฮีมะ บือราเฮง อสม.เทพา กล่าวว่า ทำไมคนเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเทพาอุดมสมบูรณ์ด้วยเกษตร และประมง แต่คนภายนอกมาทำลายสิ่งที่เราอยู่ด้วยอย่างมีความสุขตั้งแต่เกิด เราจึงต้องปกป้องที่ทำมาหากินของเรา
ด้าน นายณัฐวุฒิ เขียวมณีนัย ตัวแทนจากประชาคมคนสะบ้าย้อย ขึ้นเวทีกล่าวว่า คนสะบ้าย้อยขอร่วมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะที่สุด กฟผ.ก็จะขุดเหมืองถ่านหินที่สะบ้าย้อย เอามาเป็นเชื้อเพลิงที่เทพา อำเภอสะบ้าย้อยทั้งอำเภอจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ย้ายชุมชน ย้ายวัด ย้ายมัสยิด สิ่งเหล่านี้จะทำให้เทพา-สะบ้าย้อยหายนะร่วมกัน
นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี จากบ้านควนหัวช้าง อ.จะนะ บอกว่า ออกมาสู้เพราะเป็นการต่อสู้ตามที่องค์อัลเลาะฮ์บอกไว้ให้ปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องประชาชน และบอกเล่าประสบการณ์การต่อสู้ที่จะนะว่าการร่วมกันอย่างมีพลังนั้นสำคัญมาก ให้ทุกคนไปสื่อสารให้มากที่สุดให้มากกว่านี้ จะได้เกิดพลังในการปกป้องชุมชน รัฐอ้างนโยบายแต่แท้จริงคือผลประโยชน์ของนายทุน
“ที่จะนะตอนนี้นำในคลองเสีย ในพรุเดิมมีปลาให้สามารถหากินขายเลี้ยงลูกได้ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ปลาในกระชังก็เลี้ยงไม่ได้ สวนยางก็แห้งน้ำยางไม่ออก คนก็เจ็บป่วยมาก นี่คือจะนะ และนี่อาจเป็นอนาคตของเทพาหากถ่านหินมา”
สิริกร พุ่มแก้ว จากประชาคมคนหาดใหญ่ไม่เอาถ่านหิน กล่าวว่า ปตท. บ้านปู มิตรผล เป็นกลุ่มทุนหลักที่ลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน ลงทุนไปแล้วขายไม่ออกจึงต้องมาผลักดันให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ในประเทศไทย แท้จริงไม่ได้สร้างเพื่อคนไทย แท้จริงสร้างเพื่อนายทุน
“ที่เทพาเขาใช้ถ่านหินมาเผานาทีละ 1 คันรถบรรทุกสิบล้อ วันละ 1,440 คัน จะไม่หายนะได้อย่างไร มลพิษจะปกคลุมทั่วสงขลา และปัตตานี รัฐบาลก็ดูเหมือนจะหลงฟังแต่นายทุน เราใช้น้ำมันแพง ก๊าซแพง ทั้งยังสานต่อทุกโครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะสร้าง 9 โรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้าง 2 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นี่คือการข่มเหงประชาชนของรัฐบาลไทย นายกฯ ไทยไปพูดที่ปารีสว่าไทยจะใช้พลังงานสีเขียว แต่พอกลับมาก็สั่งเดินหน้าถ่านหิน รัฐบาลนี้ไม่มีความจริงจัง ทั่วโลกเลิกใช้ถ่านหินแล้ว คนไทยต้องหยุดถ่านหินให้ได้”
นายราเชน ประสงค์จันทร์ ข้าราชการครูเกษียณแห่งโรงเรียนเทพา ได้กล่าว่า คำขวัญเทพานั้นกำลังจะเปลี่ยนไป จาก พระสามองค์คู่บ้าน ตระหง่านเกาะขาม หาดงามทรายขาว ข้าวแกงไก่ทอด รีสอร์ตเรียงราย จะเปลี่ยนมาเป็น “พระสามองค์คู่บ้าน ตระหง่านเกาะขาม หาดงามทรายขาว ข้าวแกงไก่ทอด รีสอร์ตเรียงราย ชาวเทพาอิตายเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหิน”
นายราเชน ประสงค์จันทร์ จึงเชิญชวนคนเทพาทุกคนมาปกป้องบ้านเกิด อย่าให้โรงไฟฟ้าถ่านหินมาทำลายคุณค่าของเมืองเทพา เมืองแห่งเทพ เทพามาจากคำว่าเทพ คือเมืองแห่งเทพ ไม่ใช่เมืองถ่านหิน
ด้าน นายสมบูรณ์ คำแหง จากเครือข่ายคนสตูล กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสร้างเพื่อนิคมอุตสาหกรรมที่จะสร้างขึ้นจากโครงการแลนด์บริจด์ สงขลา-สตูล ตอนนี้คนค้านถ่านหินกลายเป็น NGO หมดแล้ว ครู NGO หมอ NGO นักวิชาการ NGO สื่อมวลชน NGO ตำรวจ NGO อสม. NGO ชาวบ้าน NGO นี่มันเรื่องตลกไปแล้ว
“รัฐบาลทหารควรทบทวนโครงการนี้ คนใต้แม้ถูกปรามาสว่าเป็นคนกวักมือเรียกทหารมาเอง แต่ไม่ได้แปลว่าคนใต้จะปกป้องรัฐบาลทหาร หากยังผลักดันโครงการที่ส่งผลกระทบหายนะชุมชนเช่นนี้ รัฐบาลทหารเราก็จะค้าน ค้านเพื่อปกป้องแผ่นดินบ้านเกิด ปกป้องอนาคตของลูกหลาน”
นายดิเรก เหมนคร ขึ้นมาสรุปเวทีปราศรัยคัดค้านถ่านหินเทพา ว่า พวกเราคนคัดค้านมานั่งที่นี่เพราะสิทธิของเราในการปกป้องบ้านเมือง ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านกลัวทหาร เอารถหุ้มเกราะมา เอาปืนมาเราก็วิ่งหนีหมด แต่เรายังต้องมาเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้สร้างมลพิษไกลเป็นร้อยกิโลเมตร
“เป็นเรื่องของคนหลายจังหวัดไม่ใช่คนเทพา ทีมที่ไปพบนายกฯ ที่ กทม. เริ่มด้วยไป สผ.ก่อน บอก สผ.ว่า ขอสำเนาเอกสารรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหน่อย เพราะส่งหนังสือขอมาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ปรากฏว่าไม่ให้เอกสาร บอกว่าจะพิจารณาในกรรมการภายใน 7 วัน เราจะไปตาม รถไฟฟรีมีให้เราขึ้นกรุงเทพฯ เราจะไปตามเรื่องแน่นอน”
นายดิเรก กล่าวและว่า นอกจากนี้ ทีมยังไปรัฐสภา ไปพบชาวเลราไวย์ พวกเขาเดือดร้อนเหมือนกันคือ ถูกนายทุนกระทำ แถมรัฐยังเข้าข้างนายทุน คนราไวย์ถึงจนสุดๆ แต่ใจสู้ เพราะกุโบร์ของบรรพบุรุษจะถูกนายทุนยึดไป ทีม 30 คนที่มีชาวบ้าน และนักศึกษาไปยื่นหนังสือที่สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มารับฟังให้ชาวบ้านได้พูดให้ข้อมูล 2 ชั่วโมง สรุปชัดว่าคน 5 จังหวัดชายแดนใต้ไม่เอาถ่านหิน แต่สุดท้ายเขาถามว่า “เอาเครื่องกรองตัวใหม่ใส่เพิ่มเข้าไปได้ไหม” แปลว่าที่พูดไป 2 ชั่วโมง ผู้แทนนายกฯ ฟังไม่รู้เรื่องเลย
“ช่วงไป UN เจ้าหน้าที่สหประชาชาติให้การต้อนรับชาวบ้านอย่างดี ยามจบปริญญาโทมาแจ้งว่า ให้คนเทพา 3 คนเข้าไปยื่นหนังสือชี้แจงได้บนชั้น 7 ของอาคารสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ UN มีความเห็นว่าไม่สมควรสร้างที่เทพา เพราะละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิชุมชนเป็นเรื่องสากลของคนทั้งโลก และสุดท้ายทีมชาวบ้านได้ไปที่ชุมชนบ้านครัว ชาวบ้านครัวบอกว่า คนบ้านครัวสู้สุดๆ เขาจะรื้อมัสยิดบ้านครัวทำทางด่วน แต่มุสลิมทุกคนรู้ว่า มัสยิดไม่ใช่ของคนเทพา เป็นของคนทั้งประเทศ เพราะมัสยิดคือบ้านของพระเจ้า นี่คือคำตอบ และแนวทางของการต่อสู้ นี่คือการต่อสู้เพื่อหยุดหายนะต่อชุมชน เราต้องรวมพลังทั้ง 5 จังหวัด เพื่อหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ในครั้งนี้ ได้มีหนังสือวิทยุด่วนจาก บก.ควบคุม มทบ.42 ส่งถึงตำรวจในสังกัด บก.ภ.จว.สงขลา มีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า
“...จากการข่าวกรองสามารถวิเคราะห์ได้ว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวอาจจะมีนัยแอบแฝง มิได้เป็นการให้ความรู้ตามที่อ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ และอาจก่อให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มผู้เห็นด้วยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง อันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่การเคลื่อนไหวรณรงค์ และเวทีให้ความรู้ของเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ในวันนี้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย