ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายเดินหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัตตานี-สงขลา ถึงที่หมายแล้ว เผยผลจากการเดินทำให้รู้ว่าชาวบ้านรับรู้ข้อมูลโครงการของรัฐน้อยมาก ทั้งที่กระทบต่อชุมชนใหญ่หลวง ระบุคนชายแดนใต้ต้องการการพัฒนาที่ไม่ล้างผลาญ รักษาพื้นที่สีเขียวเพื่อความยั่งยืน
วันนี้ (10 เม ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา คณะเดินรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน จาก จ.ปัตตานี-อ.เทพา จ.สงขลา ได้เดินมาถึงที่หมายคือ บริเวณพื้นที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยใช้เวลาเดิน 3 วัน เริ่มจากวันที่ 8 เม.ย. ถึงวันที่ 10 เม.ย.เมื่อเดินมาถึงจุดหมายได้เปิดเวทีพูดให้แต่ละคนที่ร่วมเดินได้แสดงความคิดเห็นได้พูดคุยถึงความประทับใจในการร่วมเดินตลอด 3 วันที่ผ่านมา
น.ส.ละม้าย มานะการ ผู้ที่ร่วมเดินตลอดเส้นทาง 3 วัน กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเดินครั้งนี้มีอยู่ 2 ความรู้สึก อย่างแรกที่รู้สึก และได้รับจากกิจกรรมเดินในครั้งนี้ คือ ความประทับใจจากเพื่อนที่ร่วมเดิน และผู้คนที่ให้กำลังใจ ให้อาหาร ให้น้ำ ให้ที่พักตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน ซึ่งเป็นความอบอุ่น เป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ สำหรับคนที่เดินท่ามกลางแดดร้อนจัด
และสิ่งที่ได้รับต่อมา คือ ความเศร้าใจ ที่เศร้าใจมากคือ โครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ แต่คน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่เดินผ่านไม่รู้ว่าจะมีโครงการดังกล่าว ไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไร นับเป็นสิ่งที่เศร้าใจมากๆ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า คนที่จะได้รับผลกระทบไม่มองถึงศักดิ์ศรีความเป็นคน ดังนั้น ไม่แปลที่คนที่จะได้รับผลกระทบต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองเพราะมีความชอบธรรม
ด้าน นายดิเรก เหมนคร กล่าวว่า การออกเดินได้เริ่มเดินจาก ม.อ.ปัตตานี ในเช้าวันที่ 8 เม.ย.โดยคืนแรกได้พักค้างคืนที่บ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก และมีการเสวนาในช่วงค่ำ ซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญ คือ การรับรู้ของประชาชนต่อโครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่รู้ ที่พอรู้ก็ไม่มีใครรู้รายละเอียด ไม่ทราบถึงผลดีผลเสียใดๆ
“ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในพื้นที่ชายแดนใต้ แท้จริงนี่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินชายแดนใต้ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าเล็กๆ ของคนเทพา หรือสงขลาเท่านั้นที่จะร่วมตัดสินใจ แต่ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมของคนชายแดนใต้ว่าจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะเอาหรือไม่เอาการพัฒนาแบบล้างผลาญ ผลาญทั้งภาษีประชาชน ผลาญทั้งงบประมาณ และผลาญทรัพยากร และวิถีวัฒนธรรมอันงดงามของพื้นที่”
ต่อมา วันที่ 9 เม.ย. ก็ได้มีการเดินทางต่อ และมาพักที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี การเสวนาในช่วงค่ำ ได้สะท้อนความรู้สึกที่ไม่ไม่เคารพอัตลักษณ์คนพื้นที่ เพราะต้องย้ายชาวบ้านออกนับพันคน ต้องย้ายวัดมัสยิด และกุโบร์ (สุสาน) ซึ่งจะเป็นการสร้างเงื่อนไข เพิ่มความไม่เข้าใจต่อรัฐไทยในสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงต้องคิดให้หนัก เพราะการกำเนิดของโครงการนี้อย่างฉ้อฉล และลักไก่ขาดการรับรู้ และขาดการมีส่วนร่วม ขัดแย้งอย่างยิ่งต่อแนวทางของนโยบายรัฐบาลตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230 ที่กำหนดแนวทางแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยการเคารพการมีส่วนร่วมของพื้นที่ในทุกระดับเพื่อให้เกิดการร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติ
นายดิเรก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินรณรงค์จากปัตตานี มุ่งสู่เป้าหมายบ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในอนาคต และร่วมเวทีการเสวนาที่มีตัวแทนจากหลายจังหวัดมาร่วมให้ข้อมูล คำถามสำคัญคือ ทิศทางอนาคตของภาคใต้ควรจะเดินไปในทิศทางใด ใครควรจะเป็นผู้กำหนด ปัจจุบันนั้น ทุนอุตสาหกรรมได้ผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ คสช.ในนามประชารัฐ หรือแท้จริงคือ ธนารัฐ วาดหวังจะเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นอุตสาหกรรม วาดหวังจะเปลี่ยนชายแดนใต้ให้เป็นอุตสาหกรรมหนัก เมื่อต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด ไม่ว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 สะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมสองท่าเรือด้วยรถไฟรางคู่ และนิคมอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมเหล็กที่ปานาเระ โครงการคลังน้ำมัน และท่อส่งน้ำมันข้ามคาบสมุทร ดังนั้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพารวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นมาบตาพุด 2 นั่นเอง
การเดินรณรงค์ เพื่อ “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” ใน 3 วันนี้ จึงเป็นการแสดงออกถึงเสียงของภาคประชาชนโดยสันติ ที่อุทิศแรงกายแรงใจเดินกลางแดดร้อน ด้วยความหวังให้เสียงของประชาชนและชุมชน สร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงภัยที่กำลังจะตามมาในอนาคตอันใกล้ ส่วนรัฐบาลจะรับรู้หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะรัฐบาลชุดนี้ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว และไม่เคยรับฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว
ภาคใต้ทั้งภาคควรเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่มีสีม่วง เป็นพื้นที่อันอุดมระหว่างสองมหาสมุทรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สะอาด ทั้งการประมงที่ยั่งยืน เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกใฝ่ฝัน เป็นสวนยาง สวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนมะพร้าวที่เขียวชอุ่ม เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ อากาศดี น้ำใส และดินอุดมปราศจากมลพิษจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นชุมชนที่มีการดำรงอัตลักษณ์วัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันสุขสงบ นี่คือ ความฝันของคนใต้ และนี่คือความต้องการของคนชายแดนใต้เช่นกัน
สันติสุขสันติภาพในชายแดนใต้ ไม่ได้หมายถึงการไม่มีระเบิด ไม่มีควันปืนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการที่คนชายแดนใต้ต้องมีอนาคต อนาคตที่ใสสะอาดไม่มืดดำจาการพัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินอันสกปรก ต้องมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีบนฐานทรัพยากรตนเอง ไม่ใช่เหลือคุณค่าเพียงแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม
“เราต้องการลมหายใจที่สะอาด เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และปานาเระ เราไม่ต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้ และเราคนชายแดนใต้ขอกำหนดอนาคตตนเอง และไม่ยอมรับในความหวังดีจอมปลอมที่แอบอ้างการพัฒนาแบบกอบโกยจากนายทุนอุตสาหกรรม และรัฐราชการที่ร่วมมือขีดวางสารพัดโครงการทำลายล้างในห้องแอร์ในเมืองหลวง โดยไม่เคยเคารพต่อสิทธิของภาคประชาชนในการร่วมตัดสินใจ”