xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาโยงร่วมจัดทำแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ หวังฟื้นฟูให้ผู้คนหันทำนามากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวนาโยง จ.ตรัง รวมตัวจัดทำแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ล่าสุด รวบรวมได้แล้ว 60 สายพันธุ์ จากที่เคยมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 100 สายพันธุ์ หวังฟื้นฟูให้ผู้คนกลับมาทำนาอีกครั้ง

วันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสำราญ สมาธิ แกนนำเกษตรกรกลุ่มทำนา จ.ตรัง กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง ได้มีมติ 2.3/2557 เรื่องสุขภาวะคนตรังยั่งยืน ด้วยการดูแลนาข้าว เนื่องจากสถานการณ์การลดลงของพื้นที่ทำนา และการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่คุณภาพของกระบวนการผลิตข้าว และผลผลิตต่ำ

รวมทั้งมีการลดลงของพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ทำให้ภูมิปัญญาเกี่ยวนาข้าวหาย และมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ไม่สอดคล้องเหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต และระบบการผลิต อันเชื่อมโยงต่อความมั่นคงทางอาหาร จึงมีมติให้ฟื้นฟูดูแลนาข้าวเพื่อเป็นกระบวนการที่จะสามารถเสริมสร้างสุขภาวะแบบองค์รวมให้แก่คนตรัง
 

 
โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลนาข้าวระดับจังหวัด และให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมการทำนา เช่น การส่งน้ำไปยังแปลงนาที่อยู่ห่างไกล จากระบบชลประทาน การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว และกองทุนส่งเสริมการทำนา การจัดกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการทำนา การจัดทำเขตอนุรักษ์พื้นที่นาข้าว การลดหย่อนภาษีที่ดินที่นำมาทำนา

ทั้งนี้ เนื่องจากล่าสุด ใน จ.ตรัง เหลือพื้นที่ปลูกข้าวเพียง 26,407 ไร่ หรือร้อยละ 1.39 ของพื้นที่ทำการเกษตร และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปลูกข้าวแค่ปีละ 1 ครั้ง เป็นนาน้ำฝน และนาในเขตชลประทาน ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมืองตรัง และ อ.นาโยง

ดังนั้น เกษตรกรกลุ่มทำนา จ.ตรัง จึงได้พยายามหาทางฟื้นฟูนาข้าวให้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การจัดทำแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง ในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ของพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านบนควน ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง โดยล่าสุด จากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั้งชนิดข้าวหนัก ข้าวเบา ข้าวเหนียว และข้าวไร่ ที่เคยมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 100 สายพันธุ์ ได้ถูกรวบรวมนำมาปลูกไว้ในแปลงแล้วประมาณ 60 สายพันธุ์
 

 
โดยเฉพาะข้าวงวงช้าง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีอายุมากที่สุดของ จ.ตรัง คือ 100 ปี รวมทั้งพันธุ์อื่นๆ อีก เช่น ข้าวลูกขอ ข้าวขาวรวงยาว ข้าวหลอกแขก ข้าวนางกอง ข้าวเบาน้ำค้าง แต่ก็น่าเสียดายที่หลายพันธุ์ได้สูญหายไปแล้ว

นายไชยา จันทร์สุข เกษตรกรกลุ่มทำนาอำเภอนาโยง กล่าวว่า หลังจากได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และหน่วยงานต่างๆ ต้นข้าวในแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองก็งอกงามกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ รอแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกในหน้าช่วงฝนที่จะถึงนี้ อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้ชาวตรัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะหันมาปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษกันมากขึ้น จนแทบไม่เหลือนาร้างเหมือนเช่นในอดีต

เนื่องจากคนยุคใหม่สนใจเรื่องสุขภาพ ขณะที่การทำนาในปัจจุบันก็สะดวก เพราะมีเครื่องจักรมาช่วย ทำให้ต้นทุนต่ำลง แต่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 400 กก. เป็น 800 กก. แถมยังขายได้ราคาดีถึงตันละ 15,000 บาท ต่างกับภาคอื่นๆ นับเท่าตัว
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น