xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบันนังสตาพร้อมใจร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - ชาวนาใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมใจกันร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว อนุรักษ์วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อไม่ให้อาชีพการทำนาเลือนหายไปจากพื้นที่ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่บริเวณแปลงนา ที่หมู่ 9 บ้านตาเนาะปูเต๊ะใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมด้วยข้าราชการใน อ.บันนังสตา เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะปูเต๊ะ เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 15 บันนังสตา ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวนกว่า 300 คน ได้พร้อมใจจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว อนุรักษ์วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามโครงการสร้างชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนน้ำใจ สร้างวิถีไทยสามัคคี ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย
 

 
นายภักดี ศรีศาสนานนท์ ปลัดอาวุโส อ.บันนังสตา เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่นำเอาแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้ประชาชนชาวไทยรู้รักสามัคคี และต้องการให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เกิดความปรองดอง ร่วมกันเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงได้จัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวตามวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบอาชีพทำนา และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทหาร อบต.ผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวประกอบกิจกรรมร่วมกันในวันนี้

นายมะรอปีอี มะสาแต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านตาเนาะปูเต๊ะใน กล่าวว่า อ.บันนังสตานั้น เมื่อก่อนมีพื้นที่ทำนาข้าวเยอะ แต่ในปัจจุบันเหลือพื้นที่ทำนาเพียงที่ หมู่ 9 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยมีพื้นที่เหลืออยู่ประมาณ 150 ไร่ และมีคนรุ่นก่อนๆ คนเฒ่า คนแก่ที่ยังคงใช้วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมจะมีการเปลี่ยนแปลงก็เพียงแค่การไถนา ที่ใช้เครื่องยนต์ในการไถนา ส่วนการเก็บเกี่ยว การดูแลการปลูกก็คงใช้วิธีแบบเดิม และคงอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นความสำคัญของอาชีพการทำนา มีการสอนให้คนรุ่นหลังๆ ได้รู้จักการทำนา เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับพื้นที่
 

 
ขณะที่ น.ส.รอฮีหม๊ะ ไควสุเต็ง ผู้ประกอบอาชีพทำนา ก็เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่นอกจากจะประกอบอาชีพการกรีดยางพาราแล้ว ก็ยังมีการทำนาด้วย โดยหลังจากกรีดยางแล้ว ทุกคนก็จะมาแปลงทำนา และจะทำนากันทุกปี ซึ่งระยะหลังๆ ลูกหลาน คนรุ่นหลังต่างก็ออกไปเรียนไปศึกษากันหมด เหลือแต่คนรุ่นก่อนๆ ที่ยังคงทำนาอยู่ แต่ก็จะมีการสอนลูกหลานให้เห็นความสำคัญของอาชีพการทำนา ให้รู้จักการทำนา และจะทิ้งอาชีพการทำนาไม่ได้ เพราะถือเป็นชีวิตของเรา ถ้าไม่มีข้าวเราจะอยู่ได้อย่างไร ก็จะต้องทำนาตามวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา

ทั้งนี้ พื้นที่การทำนาข้าวใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหลือพื้นที่การทำนาอยู่เพียง 150 ไร่เศษ จะทำนาปี ปีละครั้ง โดยการปลูกข้าวพันธุ์ข้าวเหลือง เก็บไว้สำหรับรับประทานภายในครัวเรือน ไม่มีการนำไปขาย ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็จะนำข้าวไปสีที่โรงสีข้าวใน อ.กรงปินัง จ.ยะลา

เนื่องจาก ใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ นั้นไม่มีโรงสีข้าว ซึ่งชาวนาเองก็ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้การดูแล สนับสนุนการให้มีโรงสีข้าวในพื้นที่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล และคนในชุมชนได้มีการบริหารจัดการ พร้อมทั้งอนุรักษ์วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับพื้นที่ตลอดไป
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น