xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสตรีเพื่อสันติภาพฯ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟใต้ รวมตัวร้องขอพื้นที่ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - กลุ่มสตรีชายแดนใต้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมตัวร้องขอพื้นที่ปลอดภัย หลังสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น ตามโครงการ “เปิดพื้นที่ปลอดภัยด้วยมือสตรีสู่สันติภาพ”

วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ห้องประชุมเพชรกัญญา โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร อ.บันนังสตา จ.ยะลา สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ร่วมกับคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ โดย น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคม พร้อมด้วยกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพใน จ.ยะลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.ยะลา ได้ร่วมกันพบปะ และแสดงความคิดเห็นต่อการขอพื้นที่ปลอดภัย ตามโครงการ “เปิดพื้นที่ปลอดภัยด้วยมือสตรีสู่สันติภาพ”

ซึ่งในการพบปะกันนั้นได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงทัศนคติในการดำรงชีวิตประจำวันของแต่ละคน ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และมุสลิม จากนั้นได้ร่วมกันแบ่งกลุ่มเพื่อแสดงความคิดเห็นในการขอพื้นที่ปลอดภัย ที่มีความคิดเห็นร่วมกันว่า ในสถานการณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปัจจุบัน ควรจะมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรี และเด็ก
 

 
น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า จากการได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการขอพื้นที่ปลอดภัยในครั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่จะมองว่า ป้อม ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) เป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอันตราย และตกเป็นเป้าของการก่อเหตุ เนื่องจากเป็นพื้นที่ด้านความมั่นคง และเป็นที่เก็บอาวุธ

อีกทั้งคนในหมู่บ้านญาติพี่น้อง สามี ลูก ก็ต้องวนเวียนมายังป้อม ชรบ. บางคนก็เป็นอาสาป้องกันหมู่บ้าน ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ก็มีความกังวลในความไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ความต้องการพื้นที่ปลอดภัยก็ยังมีตลาด ท้องถนน สถานีอนามัย สถานพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ และสถานที่ราชการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งชาวบ้านเองรู้สึกกังวล ห่วงใย เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก

“ซึ่งข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่วันนี้ รวมถึงความคิดเห็นจากเวทีต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพจะลงไปสำรวจจะถูกรวบรวมเป็นข้อมูล และยื่นเสนอต่อรัฐบาล รวมถึงฝ่ายผู้คิดต่างจากภาครัฐ เพื่อให้รับทราบตระหนักว่า ประชาชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะต้องละเว้นการใช้ความรุนแรง และประชาชนในพื้นที่เองก็มีสิทธิที่จะเลือกว่าควรจะมีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตในรูปแบบใด ซึ่งทั้งภาครัฐ และผู้คิดต่างก็ควรจะปกป้องคุ้มครอง และมีกลไกมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย” นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ กล่าว
 

 
ทางด้าน นางพวงทิพย์ ศรีทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านกาสังใน ต.ตาเยาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยสามีของเธอซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 และเธอได้รับเลือกจากคนในหมู่บ้านให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแทนสามี ได้เปิดเผยว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นป้อม ชรบ. โรงเรียน สถานีอนามัย วัด

ซึ่งจากกรณีที่เกิดเหตุขึ้นที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะที่นั้นมีทั้งพยาบาล เด็ก ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษมากขึ้น ก็ขอวิงวอนฝ่ายที่ก่อเหตุให้มีความเห็นใจ อยากจะขอให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันต่อต้านการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ โดยในความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าเหตุการณ์ ณ ปัจจุบันก็คงเหมือนเดิม สถานการณ์ไม่ได้ลดลง เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่น่าจะเกิดเหตุความรุนแรง

ขณะที่ นางไอลดา ดอเลาะ ชาวบ้าน ต.บาะเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เปิดเผยว่า สถานที่หน้าโรงเรียนถูกมองเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ไม่มีความปลอดภัยในความรู้สึกตนเอง เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมองว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นเป้าในการก่อเหตุของอีกฝ่าย ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ในพื้นที่เริ่มดีขึ้น เพราะการเกิดเหตุลดลงจากเมื่อก่อนมาก

ซึ่งตนเองไม่อยากให้มีฝ่ายกำลังทหารในหมู่บ้าน เนื่องจากกำลังทหาร หรือฝ่ายภาครัฐเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ประชาชน หรือคนในหมู่บ้านต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย หากมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปอยู่ในพื้นที่ด้วย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น