xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดที่กรุงจาการ์ตาของอินโดฯ แรงสั่นสะเทือนถึงแผ่นดินไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์ระเบิดในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเชีย (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
แม้โดยภาพรวมจะเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อนำตัวเลขของการเกิดเหตุของปีก่อนๆ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ และมีตัวชี้วัดจาก “มวลชน ที่มีความโน้มเอียงอยู่ข้างฝ่ายรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยอมรับว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นปฏิบัติการของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เป็นการสร้างสถนการณ์ของเจ้าหน้าที่
 
รวมทั้งการทุ่มเท “งานการเมือง ด้วยการพัฒนาจนกลายเป็นจุดแข็งให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นว่า รัฐไทยมีความจริงใจอย่างแท้จริงต่อการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์การสู้รบจะหมดไปจากแผ่นดินของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร็ววัน เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เหตุร้ายรายวันที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของ “แนวร่วมรุ่นใหม่” ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่รุ่นเก่า ในขณะที่แนวร่วมรุ่นเก่าก็ยังคงเคลื่อนไหวใต้ดิน
 
แสดงให้เห็นว่า “บีอาร์เอ็นสายทหาร” ยังไม่ใช่ “ตะเกียงขาดน้ำมัน” และยังมีใช้ยุทธวิธีเดิมๆ คือ การทำ “สงครามกองโจร” โดยมีเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐ และจะสังเกตว่าระยะหลังแนวร่วมมีการละเว้นที่จะไม่ทำร้าย “เป้าหมายอ่อนแอ” ที่เป็นข้าราชการพลเรือน และประชาชน ซึ่งเป็นการหวังผลในเรื่องของมวลชน
 
สถานการณ์ความรุนแรงล่าสุด คือ การโจมตีรถยนต์ของ พ.ต.ท.นัฐนันท์ มาแผ้ว สวป.สภ.มายอ จ.ปัตตานี บนถนนเส้นทางสายบุรี-กะพ้อ จนทำให้ พ.ต.ท.นัฐนันท์เสียชีวิต ในขณะที่ตำรวจที่ทำหน้าที่พลขับบาดเจ็บสาหัส
 
ซึ่งในทางการสืบสวนมีการตั้งประเด็นไว้ 2 ประเด็น คือ เป็นฝีมือของแนวร่วมที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.นัฐนันท์ มาโดยตลอด และพบว่ามักจะใช้เส้นทางดังกล่าวระหว่าง อ.มายอ และ อ.กะพ้อ เดินทางมาพบกับ “เพื่อนหญิง ที่เป็นหม้าย อดีตภรรยาของผู้นำท้องที่คนหนึ่งใน อ.กะพ้อ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2556
 
ส่วนประเด็นที่ 2 คือ เรื่องส่วนตัวที่ พ.ต.ท.นัฐนันท์ มีความ “สนิทชิดเชื้อ กับอดีตภรรยาของผู้นำท้องที่คนดังกล่าว และอาจจะเป็นเหตุให้ญาติพี่น้องของอดีตสามีเพื่อนหญิงของ พ.ต.ท.นัฐนันท์ ไม่พอใจ จึงได้ประสานกับแนวร่วมในพื้นที่ก่อเหตุครั้งนี้
 
ข้อเท็จจริงจะเป็นเรื่องประเด็นที่ 1 หรือที่ 2 เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องหาข้อเท็จจริง โดยที่ไม่มีการ “บิดเบือน ถึงสาเหตุของการเสียชีวิต
 
เพราะปัจจุบัน เหตุร้ายจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนเจ็บ คนตาย ผู้เสียหายพยายามที่จะให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ “ความมั่นคง” คือ แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นผู้กระทำ เพื่อหวัง “เงินเยียวยา และ “บำเหน็จ” ความชอบที่จะติดตามมา
 
อันเป็นการ “ช่วยเหลือ ให้คดีอาชญากรรมธรรมดาเป็นเรื่องของการ “ก่อการร้ายเป็นเรื่องของ “ความมั่นคง จนทำให้มีการมองว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปฏิบัติการทั้งสิ้น
 
แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าแนวร่วมในพื้นที่มีความตั้งใจในการโจมตีเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะระยะหลังจะเห็นว่า “ตำรวจ คือ เป้าหมายหลัก มีตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืน และระเบิดติดต่อกันหลายครั้ง
 
ล่าสุด คือ การยิงถล่มรถยนต์ของพนักงานสอบสวน สภ.ยะรัง ที่บ้านกือแนกือบง ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และการวางระเบิดแสวงเครื่องทหารพรานที่บ้านบินยาลิมอ ต.ยะรัง อ.ยะรัง ในวันเดียวกัน นอกจากนั้น ยังมีการยิง นางวราพร หะมิดง ลูกจ้างโครงการ 4,500 บาท ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต และการก่อกวนด้วยการยิงหม้อแปลงไฟฟ้า ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
 
ปฏิบัติการทั้งหมด คือ คำตอบที่ชัดเจนว่า แนวร่วมยังอาศัย “ช่องว่าง” ของเจ้าหน้าที่ในการก่อเหตุร้ายรายวัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการ “ดิ้นเฮือกสุดท้าย” แต่เป็นปฏิบัติการดำรงไว้ซึ่ง “ยุทธศาสตร์” ของขบวนการอย่างต่อเนื่อง
 
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ใน “ฝ่ายการเมืองบีอาร์เอ็น” ก็มีเหลี่ยมคูในทางยุทธศาสตร์ ในทางการเมืองที่ “เหนือชั้น” และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
 
นั่นคือ การที่กลุ่ม “มาราปาตานีที่สามารถเข้าพบ “ประธานโอไอซี” ด้วยการดำเนินการของรัฐบาลมาเลเซีย พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.ขอให้โอไอซีรับรองสถานะของกลุ่มมาลาปาตานีว่ามีอยู่จริง และ 2.ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากโอไอซี
 
ซึ่งหากโอไอซียอมรับในข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อ นับต่อนี้ต่อไป “มาราปาตานี ก็จะเป็นอีกขบวนการหนึ่งที่มีความ “เข้มแข็ง” และมีความ “ชอบธรรม” บนเวทีโลก ซึ่งมีโอไอซีให้การสนับสนุน และมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้นเสียด้วย
 
เพราะโอไอซีเองก็ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อแก่มาราปาตานีเช่นกันว่า ขอให้มาราปาตานีอย่าให้การสนับสนุนกลุ่ม “ชีอะห์และกลุ่ม “ไอซิสหรือ “ไอเอส
 
การยื่นข้อเสนอเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า โอไอซี ให้การ “ยอมรับมาราปาตานี” และให้ความสำคัญในการต่อต้านกลุ่มชีอะห์ และไอเอสเป็นอย่างยิ่ง
 
ซึ่งทั้งหมดน่าจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านของการ “เจรจา” หรือการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่าง รัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน
 
เพราะหากมาราปาตานีสามารถที่จะยกฐานะเป็นองค์กรที่โอไอซีให้การยอมรับ “อำนาจต่อรอง บนโต๊ะการพูดคุกับรัฐไทยย่อมมากขึ้น และเป็นการยากยิ่งที่รัฐไทยจะยอมรับในข้อเรียกร้อง และข้อเสนอ
 
สุดท้าย เวทีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับมาราปาตานีก็เป็นได้เพียง “การพูดคุย” โดยที่ไม่สามารถ “บรรลุถึงข้อตกลง” ของทั้ง 2 ฝ่าย
 
เพราะลึกๆ แล้วเชื่อว่ารัฐไทยก็คงจะอึดอัดต่อการย่างก้าวของ “ผู้อำนวยความสะดวก” ในการพูดคุยสันติสุข โดยเฉพาะการที่มาเลเซียในการเป็นผู้ให้มาราปาตานีเข้าพบกับประธานโอไอซี จนถึงขนาดมีการยื่นข้อเสนอระหว่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐไทยไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน
 
ในขณะเดียวกัน “วงใน” ของมาราปาตานีก็มีความเห็นถึงการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทยว่า การพูดคุยนับแต่นี้ถ้าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หรือครั้งต่อๆไป อาจจะเป็นการพูดคุยโดยที่ไม่ลงลึกในข้อตกลงใดๆ จนกว่าประเทศไทยจะมีการ “เลือกตั้ง” หรือมีรัฐบาลใหม่จึงจะมีการพูดคุยในข้อตกลงอย่างเป็นทางการ
 
สรุปคือ การที่มาเลเซียนำมาราปาตานีเข้าพบกับประธานโอไอซีในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการพูดคุยสันติภาพกับรัฐไทยอย่างแน่นอน และอาจจะส่งผลกระทบถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการชะงักงัน
 
อันส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้อาจจะ “พลิกกลับ” อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะระเบิดที่อินโดนีเซีย ที่เป็นฝีมือของไอเอสนั้น หน่วยข่าวความมั่นคงต้อง “จับตาใกล้ชิด” ชนิดอย่าประมาทว่า บ้านเราไม่มีไอเอส
 
เนื่องเพราะอาจจะมี เพียงแต่เรายังหาตัวไม่พบเท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น