xs
xsm
sm
md
lg

ยึดทรัพย์ “ปอเนาะญิฮาด” รัฐต้องรู้จักพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากศูนย์ข่าวอิศรา
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
แม้จะผ่านไปแล้วหลายวัน แต่ “สังคมมุสลิม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังให้ความสนใจต่อกรณีที่กระบวนการยุติธรรมได้ตัดสินคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอให้ยึดทรัพย์ “โรงเรียนญิฮาดวิทยา” หรือ “ปอเนาะญิฮาด”  ในข้อหาเป็นสถานที่ใช้ก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งหมายถึงศาลขั้นต้นได้พิจารณาตามข้อมูล พยาน และหลักฐานที่ “นายดูลเลาะ แวมะนอ” ครูใหญ่เจ้าของโรงเรียนแห่งนี้มีความผิดตามฟ้องของ ปปง. และตัดสินให้มีการยึดทรัพย์ ซึ่งหมายถึงที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของรัฐ
 
สำหรับโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะญิฮาด มีเนื้อที่รวม 14 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่  ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกสั่งปิดตั้งแต่ปี 2548 หลังเกิดเหตุความรุนแรงครั้งใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง หรือกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อเดือน ม.ค.ปี 2547
 
ในการถูกสั่งปิดโรงเรียน และออกหมายจับบุคคลจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับโรงเรียนแห่งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้จับกุม และตรวจค้นพบหลักฐานว่า เป็นที่อบรมบ่มเพาะนักเรียนจำนวนหนึ่งเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน 
 
“นายดูลเลาะ” หรือ “อับดุลเลาะ แวมะนอ” อดีตครูใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าขบวนการ ในขณะนี้เขาก็คือ บุคคลที่หน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่าเป็น “แกนนำ ฝ่ายการทหารในระดับต้นๆ ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ยังไม่ยอมรับ และไม่เห็นด้วยต่อปีกฝ่ายการเมือง รวมถึงขบวนการอื่นๆ อีก 6 กลุ่ม ที่ประกาศพร้อมเข้าสู่เวทีการ “พูดคุยสันติสุข กับรัฐไทยไปแล้ว
 
ฟังเสียงของบรรดาลูกๆ เจ้าของที่ดินตัวจริงของปอเนาะญิฮาดที่ออกมาให้ข่าวกับ “สื่อภาคประชาสังคม” ซึ่งเป็นคนละส่วนกับ “สื่อกระแสหลักจะเห็นว่า พวกเขายังมีความ “คับแค้นและ “ข้องใจ กับ “กระบวนการทางกฎหมาย” ที่บังคับใช้กับคดีดังกล่าว
 
ซึ่งแม้ว่าขณะนี้การยึดที่ดินของปอเนาะญิฮาดยังเป็นเพียงการตัดสินของศาลชั้นต้น ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมฝ่ายของจำเลยยังมีช่องทางในการต่อสู้ในชั้นอุธรณ์ และฎีกาได้ก็จริง
 
แต่สิ่งที่หน่วยงานในพื้นที่ หรืออาจจะเป็น “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเจ้าของที่ดินที่ถูกนำมาตั้งโรงเรียนญิฮาดวิทยา ที่ถูกนายดูลเลาะ แวมะนอ นำมาใช้เพื่อสร้าง “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
เพราะจากการติดตามความเคลื่อนไหวในข่าวภาคประชาสังคม จะพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจในเรื่องของ “ข้อกฎหมาย” โดยเฉพาะในประเด็นของ “การก่อการร้าย” และ “การฟอกเงิน” ซึ่งหากมีการทำความเข้าใจต่อลูกๆ ของเจ้าของที่ดินเดิม คือ “นายบารอเฮง เจ๊ะอาแซ” ให้เข้าใจแล้ว ความคับแค้น และความข้องใจอาจจะสลายคลายลงไปได้
 
เพราะโดยข้อกฎหมายการที่กระบวนการยุติธรรมตัดสินให้มีการยึดทรัพย์ของโรงเรียนญิฮาดวิทยานั้น เป็นเรื่องที่ “ชอบ” ด้วยกฎหมายแล้ว
 
แต่ในเรื่องข้อเท็จจริง ในความเข้าใจ และความรู้สึก เจ้าของที่ดิน และผู้คนในสังคมมุสลิมอาจจะเห็นว่า ผู้ทำความผิดเป็น “บุคลคล” ซึ่งถูกออกหมายจับ และอยู่ระหว่างการหลบหนี โดยผู้ที่ทำความผิดตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด
 
ดังนั้น ในประเด็นความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำให้สังคมเข้าใจ เพื่อลดความรู้สึกที่ไม่ดีต่ออำนาจรัฐ และอย่าให้ “ฝ่ายตรงข้าม” หยิบไปเป็นประเด็นในการ “ปลุกระดม” เพื่อให้ผู้คนที่ยังไม่เข้าใจในนโยบายของรัฐ ไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
ทั้งนี้ เรื่องของโรงเรียนญิฮาดวิทยาแห่งนี้ ถ้ารัฐ หรือฝ่ายความมั่นคงจะฉวย “วิกฤต” ที่เกิดขึ้นไปแปรให้เป็น “โอกาส ก็สามารถกระทำได้
 
ด้วยการให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณาเสร็จสิ้น แล้วใช้ “อำนาจของ คสช.” ในการ “คืนที่ดิน” ที่เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนแห่งนี้ให้แก่ทายาทเจ้าของที่ดินจริงๆ ให้นำไปเป็นโรงเรียนสอนศาสนาตามวัตถุประสงค์เดิมของ “นายบาราเฮง เจ๊ะอารง” เจ้าของที่ดินที่เป็นต้นเรื่องของการบริจาค
 
เพราะโดยข้อเท็จจริงลูกๆ หลานๆ ของนายบาราเฮง ที่ยังอาศัยปลูกบ้าน และทำมาหากินอยู่บนที่ดินแปลงที่ถูกยึด พวกเขาอาจไม่ได้มีส่วนรู้เห็นต่อการนำโรงเรียนไปเป็นที่สร้างแนวร่วมของนายดับดูลเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ก็ได้
 
การใช้ “อำนาจพิเศษ” ในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสจากกรณีการยึดทรัพย์ปอเนาะญิฮาด จึงเป็นการสร้าง “ความเป็นธรรม และ “ความปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมที่มากมายไปด้วยความขัดแย้งอย่างแท้จริง
 
เช่นเดียวกับการที่อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เคยอนุญาตให้มีการเปิดสอนใหม่ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งที่ถูก “สั่งปิด” ด้วยคำสั่งของฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากโรงเรียนแห่งนั้นผู้บริหารมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับผู้บริหารโรงเรียนญิฮาดวิทยา  ซึ่งเป็นวิธีการที่ “ได้ใจ” สังคมคนส่วนใหญ่ในพื้นที่มาแล้ว
 
และเช่นเดียวกันที่เชื่อว่า ณ วันนี้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะหลายๆ แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในการ “ติดตาม” ดูแลด้วยความเป็นห่วงจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งในโอกาสที่ประเทศไทยบริหารด้วยรัฐบาลภายใต้อำนาจของ คสช.จะได้เข้าไปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันคือห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการที่จะจัดการต่อปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
 
แม้กระทั่งในเรื่องของ “มูลนิธิจำนวนมากที่เกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่ยังไม่ถูกต้อง เป็นลักษณะของ “มูลนิธิครอบครัว และอาจจะมีการนำเงินของมูลนิธิไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทางกฎหมาย และวันหนึ่งอาจจะถูก ปปง.สั่งดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกับที่ดำเนินการกับปอเนาะญิฮาด
 
ดังนั้น วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการ หรือบูรณาการทุกหน่วยงานในภูมิภาคอย่างเบ็ดเสร็จ ต้องดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง
 
เนื่องเพราะวันนี้สถานการณ์ด้าน “ความรุนแรง” เริ่มลดน้อยลงพอที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะเปิด “เกมรุก” เพื่อขจัดปัญหาอื่นๆ ที่ล้วนแต่เป็นเรื่อง “แทรกซ้อน” ให้หมดสิ้นไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น