xs
xsm
sm
md
lg

จับตาปริศนาบนความตายของ “สะแปอิง บาซอ” และท่าที “รัฐบาลมาเลย์” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
ถึงวันนี้เชื่อว่าข่าวที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสนใจคือ เรื่องการเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ” อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ผู้มีค่าหัว 10 ล้านบาท ของทางการไทย หลังถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และแบ่งแยกดินแดน จากกรณีการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ นับเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคา 2547
 
โดยทางการไทยเชื่อว่า เขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังใน “แผนบันได 7 ขั้น” ที่ใช้ยุทธการ “จุดดอกไม้ไฟขึ้นเพื่อแบ่งแยกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยให้เป็น “รัฐปัตตานีดารุลสลาม” ในอนาคต
 
“สะแปอิง บาซอ” ใช้วิธีการหลบหนีจากบ้านเกิดที่จังหวัดยะลา ไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย แทนการมอบตัว และต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น จึงยิ่งทำให้ชีวิตของเขามี “สีสัน” เกิดขึ้นมากมาย และสุดท้ายก่อนเสียชีวิตมีรายงานข่าวของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เขาคือ “ประธานใหญ่” ที่เป็นผู้นำทางด้าน “จิตวิญญาณของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต”
 
เมื่อตรวจสอบย้อนหลังจะพบว่า นับตั้งแต่มีการก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต โดยเป็นองค์การที่มีภารกิจในการแบ่งแยกดินแดน เวลานี้บีอาร์เอ็นฯ มีผู้นำทางจิตวิญญาณแล้ว 3 คนด้วยกันคือ คนแรก “มะบง คนที่ 2 “อามีน” และคนที่ 3 “สะแปอิง ส่วนคนที่ 4 จะเป็นใคร หรือใครจะเป็น “หุ่นเชิด คงจะรู้กันในไม่ช้า
 
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ” แม้จะมีการกล่าวกันหนาหูว่า เขาเสียชีวิตจากอาการป่วยจากหลายโรคตามแบบฉบับของผู้สูงอายุที่อยู่ในวัย 81 ปี แต่ก็มีบางกระแสข่าวที่เป็น “ข่าวลึก” ว่า เป็นการเสียชีวิตจาก “อุบัติเหตุ” ซึ่งเป็นเรื่องที่มี “เงื่อนงำ” ซึ่งผู้ที่รู้ดีที่สุดคือ “สันติบาลมาเลเซีย”
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ได้สูญเสียบุคคลสำคัญไปแล้วถึง 2 คน คนแรกคือ “มะแซ อูเซ็ง” นักทฤษฎีคนสำคัญและเจ้าของ “แผนบันได้ 7 ขั้น” ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้จักกันดีว่า มีความสำคัญในดันดับต้นๆ ของบีอาร์เอ็นฯ ที่มีการระบุว่า ป่วยตายด้วย “วัณโรค
 
ที่น่าสังเกตคือ ทั้ง “สะแปอิง บาซอ” และ “มะแซ อูเซ็ง” ล้วนเป็นบุคคลสำคัญของบีอาร์เอ็นฯ ที่ปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวิธี “สันติภาพ” บนโต๊ะของ “การพูดคุย” ตั้งแต่สมัยของรัฐบาลพลเรือนที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องถึงรัฐบาลทหารที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
 
และเป็นบุคคลในบีอาร์เอ็นฯ ที่ “แข็งขืน” ต่อ “รัฐบาลมาเลเซีย” ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในตั้งโต๊ะ “พูดคุยสันติภาพ” หรือที่เปลี่ยนมาเป็นโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” ที่ยังดำเนินอยู่ในขณะนี้
 
หลังการสูญเสียทั้ง “มะแซ อูเซ็ง” และ “สะแปอิง บาซอ” 2 ผู้กุมอำนาจในบีอาร์เอ็นฯ ณ วันนี้ “อับดุลเลาะ” หรือ “ดูลเลาะ แวมะนอ”  เจ้าของปอเนาะญิฮาดที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจใน “ปีกทหาร” จึงเปรียบเหมือน “ผบ.ทบ.” ของบีอาร์เอ็นฯ
 
สำหรับ “ดูลเลาะ แวมะนอ” เขาเองก็เป็นหนึ่งในแกนนำที่ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยสันติสุข ซึ่งเวลานี้ดำเนินการโดย “กลุ่มมาราปาตารี กับตัวแทนของรัฐบาลไทยที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นการพูดคุยครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
 
ครั้งนั้นมีประเด็นการพูดคุยคือ การกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” ร่วมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าไม่มีวันสำเร็จ เพราะ “กลุ่มมาราปาตานี” ไม่สามารถที่จะ “สั่งการ” ให้ผู้นำใน “ปีกทหาร” อย่าง “ดูลเลาะ” หรือ “อับดุลเลาะ แวมะนอ” ผู้กุมอำนาจที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นฯ ทำตามได้
 
ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจต่อการเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอคือ จะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลให้บีอาร์เอ็นฯ หันมาร่วม “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ตามความต้องการของรัฐบาลไทยได้หรือไม่
 
สิ่งที่ต้องมองให้ชัดคือ “ผู้นำจิตวิญญาณ” มีความสำคัญแค่ไหนกับขบวนการก่อการร้ายทั่วโลก?!
 
ถ้าการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมีความสำคัญจริง ก็ย่อมมีผลกระทบแน่นอน เช่นเดียวกับที่ “สะแปอิง บาซอ ที่มีฐานะทางจิตวิญญาณ เนื่องจากเป็นผู้ที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ “ความเคารพนับถือ” มากในฐานะของ “บาบอ เจ้าของโรงเรียนที่ใหญ่มาก จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมายด้วย
 
เมื่อ “สะแปอิง บาซอ อยู่ในฐานะ “แกนนำ องค์กรใดก็ตามก็ย่อมที่จะได้รับการสนับสนุน ทั้งในฐานะที่มี “อุดมการณ์ เดียวกัน และในฐานะของ “อาจารย์ กับ “ลูกศิษย์
 
ซึ่งหากย้อนกลับไปดู “บทบาท ของผู้นำจิตวิญญาณคนอื่นๆ ของบีอาร์เอ็นฯ ไม่ว่าจะเป็น “มะบง หรือ “อามีน ก็จะพบว่า ทุกคนต่างมี “จุดเด่น ใน “ตัวตน โดยเป็นคนที่มี “ผู้คนศรัทธา ทั้งในตัวบุคคล และใน “ตระกูล ที่เป็นผู้นำของคนในพื้นที่
 
ดังนั้น การเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อบีอาร์เอ็นฯ คือ กลุ่มคนที่ “ยึดถือตัวบุคคลในฐานะ “อาจารย์กับ “ลูกศิษย์ ย่อมมีแน่นอน ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อไม่มีบุคคลที่ตนเองยึดถือ ก็อาจจะให้การสนับสนุนองค์กรที่ “ไม่เข้มข้น” เหมือนเดิม
 
แต่ในส่วนของผู้ที่ยึดมั่นใน “อุดมการณ์ของการแบ่งแยกดินแดน และของบีอาร์เอ็นฯ การเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างบีอาร์เอ็นฯ แต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ว่าการเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ” ทำให้บีอาร์เอ็นฯ หันมา “จูบปาก” กับรัฐบาลไทยด้วยการเปลี่ยนท่าที่เคย “แข็งกร้าว” โดยการใช้ความรุนแรง หันหลับมาเป็นการ “วางปืน” แล้วยอม “นั่งโต๊ะพูดคุยไปด่าไป” อย่าง “กลุ่มมาราปาตานี” หรือไม่นั้น?!
 
ก่อนอื่นต้องพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงภายในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ให้ถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งก็จะพบว่าผู้กุมอำนาจที่แท้จริงในบีอาร์เอ็นฯ เวลานี้คือ “ดูลเลาะ-อับดุลเลาะ แวมะนอ” ซึ่งกุมอำนาจมาหลายปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็นผู้นำปีกทหารอย่างที่เข้าใจกัน รวมทั้งในขบวนการบีอาร์เอ็นยังมี “แกนนำ จำนวนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนแนวทาง “แข็งกร้าวของเขาด้วย
 
ดังนั้น การเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ” จึงไม่น่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของบีอาร์เอ็นฯ แต่อย่างใด
 
สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปคือ หลังการเสียชีวิตของ “สะแปอิง บาซอ แกนนำบีอาร์เอ็นฯ จะตั้งใครเป็น “ผู้นำจิตวิญญาณคนที่ 4 และผู้ที่ถูกตั้งขึ้นมามีคุณสมบัติพอที่จะสร้าง “ความศรัทธา” พอที่จะ “เรียกแขก” ให้สนับสนุนบีอาร์เอ็นฯ อย่าง “อุ่นหนาฝาคั่ง” แค่ไหน
 
การเปลี่ยนแปลงในบีอาร์เอ็นฯ ด้วยการเสียชีวิตของ “แกนนำ ที่ผ่านๆ มา จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากมายนัก เพราะองค์กรการก่อการร้ายย่อมมี “ตัวตายตัวแทน ที่จะขึ้นมาเป็น “ผู้นำ ซึ่งหลายครั้ง “ผู้นำคนใหม่” กลับเลือกที่จะใช้วิธีการความรุนแรงที่มากกว่าเอาเสียด้วย เพราะต้องการแสดง “ศักยภาพและสร้าง “ความเชื่อมั่น ให้เกิดขึ้น
 
แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เดินหน้าไปสู่ความสงบได้เร็วขึ้น ตัวแปรสำคัญอยู่ที่  “รัฐบาลมาเลเซีย” ต่างหาก?!
 
ถ้ารัฐบาลมาเลเซียปฏิบัติการ “กดดัน” แกนนำบีอาร์เอ็นฯ ที่ไปขออาศัยอยู่ต่อเนื่อง หรือมีการทำให้แกนนำบีอาร์เอ็นฯ “ป่วยตาย” อยู่เรื่อยๆ ความระส่ำระสายในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ก็อาจจะเกิดขึ้น และสามารถส่งผลต่อความสงบสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้เร็วขึ้น
 
จึงอยู่ที่ “รัฐบาลไทย” ว่าจะมี “นโยบาย” อย่างไรในการพูดคุยกับ “รัฐบาลมาเลเซีย” ซึ่งสำคัญกว่าการตั้งโต๊ะพูดคุยกับ “กลุ่มมาราปาตานี” มากมายหลายเท่า
 
สำคัญแต่ว่าระหว่าง “รัฐบาลมาเลเซีย” กับ “รัฐบาลไทย” นับเนื่องมานานอักโขแล้วที่เรามีความสัมพันธ์กันแบบ “ยังไม่ทันอ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่กันแล้ว” หรือเราต่างก็รู้ทันกับแบบ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ มาโดยตลอดนั่นเอง
 
อย่างไรก็ดี อะไรๆ ก็ไม่แน่นอนนะครับ เพราะในโลก “ยุคดิจิตอล” ความเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ก็อาจจะเกินขึ้นได้ชนิดเกินความคาดหมายได้เสมอ??!!
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น