ปัตตานี - ลูกหลานปอเนาะญีฮาดวิทยา อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกพิพากษาที่ดินปอเนาะตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย
วันนี้ (17 ธ.ค.) บรรยากาศที่บริเวณโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา เลขที่ 699 หมู่ 4 บ้านท่าดาน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้มีกลุ่มประชาชนเดินทางเข้าเยี่ยมให้กำลังใจลูกหลานโรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะท่าด่าน เพื่อให้กำลังใจ และสอบถามแนวการต่อสู่เพื่อปกป้องปอเนาะแห่งนี้อย่างไรต่อไป เพื่อให้ยังคงสภาพเป็นปอเนาะควบคู่ชาวบ้านท่าด่านต่อไป
ในขณะเดียวกัน นายมะแอ สะอะ หรือยีแอท่าน้ำ อดีตขบวนการพูโล และเป็นผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ด้วยแนวทางการพูดคุย ได้เดินทางเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว นายดูนเลาะ แวมะนอ โดยมี นางยาวาฮี แวมะนอ ภรรยา และลูกๆ นายดูนเลาะ ให้การต้อนรับ ภายหลังทราบข่าว เมื่อวันอังคารที่ 15 ธ.ค.58 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.26/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 699 หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ราคาประเมิน 591,090 บาท เป็นที่ตั้งของโรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือ “ปอเนาะญิฮาด” ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย
นางยาวาฮี แวมะนอ ภรรยาของนายดูนเลาะ กล่าวว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัว เพราะที่ดินไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของสามี เขาเป็นแค่ลูกเขยที่มาเป็นครูใหญ่สอนปอเนาะเพราะพ่อ (นายบารอเฮง เจะอาแซ) ที่เป็นเจ้าของจริงๆ เขาแก่มากแล้ว จึงให้ก๊ะแต่งงานแล้วมาดูแลปอเนาะแทนพ่อ และตอนนี้พ่อก็ตายแล้วที่ดินก็ตกเป็นของลูกๆ คือ นางยาวาฮี แวมะนอ ก๊ะเอง นางปารีเดาะ เจะมะ นางหามีย๊ะ สาแลหมัน นายอาดือนัน เจะอาแซ และนายอับดุลเลาะ เจะอาแซ ทั้ง 5 คนเป็นพี่น้องกับก๊ะ ที่มีชื่อร่วมในกรรมสิทธิ์ น.ส.3 นายดูนเลาะ ไม่มีสิทธิ เขามาเป็นแค่ครูใหญ่
“บ้านหลังนี้ที่อยู่บริเวณปอเนาะ ชาวบ้านเป็นคนสร้างให้ และชาวบ้านก็ยังบอกอีกว่าถ้าต้องออกจริงๆ ให้ไปอยู่ในที่ดินเขาๆ จะสร้างบ้านให้อยู่เลย สิ่งนี้ที่รู้สึกเศร้าใจสำหรับอนาคตของครอบครัว คงจะต้องคุยกับครอบคัวทุกคนว่าจะเอายังไง ได้ยินว่าจะยึดอีก จะยึดอะไร เพราะเราไม่มีสมบัตินอกจากแค่นี้ คิดว่าจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด”
นายบัลยาน แวมะนอ ลูกชายคนที่ 3 ของนายดูนเลาะ กล่าวว่า นายบัลยาน แวมะนอ ลูกชายคนที่ 3 ของนายดูนเลาะ แวมะนอ หรือ เปาะซูเลาะ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะญีฮาด ที่ถูกสั่งปิดโรงเรียนไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2548 และถูกศาลแพ่งสั่งริบที่ดิน จำนวน 14 ไร่ ตกเป็นของแผ่นดินเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา บอกกล่าวสั้นๆ ว่า “ความรู้สึกลึกๆ ยังรับไม่ค่อยได้เพราะเป็นบ้านเกิดของเรา แต่ในทางกฎหมายก็ต้องยอมรับ แต่ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดในการยึดเอาที่ดินว่าด้วยความผิดเหตุผลใด ได้ไปคุยกับศูนย์ทนายมุสลิมเขาบอกว่า ต้องรอฟังผลคำพิพากษาที่เป็นเอกสารอีกประมาณ 15-20 วัน
บ้านที่อยู่ตอนนี้ก็อยู่ในที่ดินผืนนี้ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกพริก กำลังเตรียมพื้นที่ลงต้นกล้าพริก ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องย้ายกันทั้งครอบครัว ผมมีลูกอีก 2 คน และครอบครัวคนอื่นอีก ตอนนี้คิดมากคิดเต็มหัวว่าจะย้ายไปไหนเพราะไม่มีที่ดิน ชาวบ้านมาเยี่ยมกันเมื่อทราบข่าวถูกยึดที่ดิน ทุกคนงงกันไปหมดว่าเพราะอะไร ใครผิด มีคำถามที่เราก็ตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับพ่อ และที่ดินยังไง พ่อเป็นแค่ผู้รับในอนุญาต ที่ดินไม่ใช่ของพ่อ หากพ่อผิดตามกฎหมายต้องไปยึดที่ดินของพ่อ แต่ที่นี่ไม่ใช่”
บัลยาน กล่าวต่อว่า เมื่อภาพลักษณ์ของปอเนาะถูกสื่อสารออกไปว่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เป็นแหล่งบ่มเพาะที่ฝ่ายรัฐเข้าใจ คนที่เคยเรียน คนในพื้นที่ และนักเรียนก็ไม่กล้าเข้ามาอีก จนกระทั่งมีคำตัดสินนี้มา จึงมีคนเข้ามาเยี่ยมเยียน
นายสะมะแอ สะอะ อดีตขบวนการพูโล กล่าวว่า “วันนี้ทราบข่าวศาลแพงยึดที่ดินของโรงเรียนปอเนาญีฮาดวิทยา จากการพูดคุยในเวทีพูดคุยสันติสุข ที่โรงแรมซีเอส จากนั้นได้มีการ พล.ต.ชุมพล แก้วล้วน ผอ.ศูนย์สันติสุข กอ.รมน.ภ.4 และ นายกิตติ สุระกำแหง ผอ.สำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต.และ ผอ.สำนักกฎหมายสิทธิ์มนุษย์ชนและเยียวยา กอ.รมน.ภ.4 ถึงข้อกังวลในเรื่องนี้ จากนั้นได้ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวเพื่อให้กำลังใจครอบครัว นายดูนเลาะ มองว่าเรื่องนี้ ครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการพูดคุยสันติสุข จึงอยากเรียกร้องขอให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ช่วยดูแลกรณีนี้ด้วย”
นายสะมาแอ ยังกล่าวอีกว่า การพูดคุยสันติสุขเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้น การพูดคุยนั้นถึงจะมีผลต่อความเชื่อมั่นระหว่างกัน มิฉะนั้นการเตรียมการที่จะมีขึ้นของการพูดคุยสันติสุขต่อไปนั้นจะมัวหมอง ยากที่จะเดินหน้าได้อีก และอาจจะนำเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งใหม่ในสังคมจังหวัดชายแดนใต้ เพราะปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษาที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพถูกฝังลึกในจิตใจ โดยเฉพาะในจิตใจของบรรดาผู้นำศาสนา จึงอยากให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงว่าควรมีทางออกที่ดีกว่านี้
ด้านหน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่ กล่าวว่า “หลังจากมีคำสั่งดังกล่าว พบว่ามีการต่อต้านจากกลุ่มขบวนการ และยังพบว่ากลุ่มดังกล่าวมีการเตรียมก่อเหตุอย่างรุ่นแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ช่วงนี้เพื่อตอบโต้ จึงต้องมีการจัดกำลังเฝ้าระวังอย่างเข็มงวด และเป็นพิเศษในจังหวัดภาคใต้”
ส่วนสภาพโดยทั่วไปบริเวณที่ตั้งของปอเนาะนั้น กลายเป็นปอเนาะร้าง ภายหลังถูกอายัดไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนได้อีกเมื่อหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีสภาพทรุดโทรม บางหลังเริ่มล้มกองบนพื้นอย่างสงบ สร้างความปวดร้าวให้แก่พี่น้องประชาชนที่พบเห็น เพราะอาคารเหล่านี้ล้วนได้รับการบริจาคเกือบทั้งสิ้น