xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่งจำคุก 5 สมาชิก “เบอร์ซาตู” กลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก “กลุ่มก่อการร้ายเบอร์ซาตู” แบ่งแยกดินแดนรัฐใต้ ยิงตำรวจเสียชีวิต ชี้พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 5 รายร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง



วันนี้ (29 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีก่อการร้ายหมายเลขดำ 1021/2548 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายมุสตอปา เจ๊ะยะ, นายอิลยาส หรืออิสยาส มันหวัง, นายอุสมาน ปะชี, นายยูไล โสะปนแอ และนายมะอาซี บุญพล ทั้งหมดเป็นสมาชิกขบวนการเบอร์ซาตู ในกลุ่มบีอาร์เอ็น คอร์ดิเนต ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1

คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า ระหว่างเดือน พ.ย. - 29 ธ.ค. 2547 จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ปืนฆ่าตำรวจเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน มุ่งหมายเพื่อบังคับขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้ยินยอมแบ่งแยกดินแดนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา ออกจากราชอาณาจักร เพื่อสถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่ารัฐปัตตานี หรือรัฐปัตตานีดารุสซาลาม โดยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2547 จำเลยทั้งห้าร่วมกันวางแผนและยิง ด.ต.โมหามัด เบญญากาจ ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุเกิดที่ ต.บานา สะบารัง ตะลุโบ๊ะ อ.เมืองปัตตานี ต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดที่ใช้ติดต่อสื่อสารไว้เป็นของกลางได้ จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ยืนยันบ่งชี้ให้ชัดเจนว่าใครเป็นคนร้ายยิงผู้ตาย มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยทั้งห้าที่เขียนด้วยลายมือตนเอง แม้โจทก์จะมีนายชาลี กระแสร์ ทนายความยืนยันว่าจำเลยให้การด้วยความสมัครใจไม่มีการข่มขู่ก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธอ้างว่าให้การชั้นสอบสวนโดยไม่สมัครใจ และเมื่อพิจารณาระยะเวลาในช่วงการสอบสวนจำเลยเป็นเวลากลางคืนและในช่วงเวลาดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ย่อมทำให้จำเลยทั้งห้าเกิดความเครียดและไม่อยู่ในวิสัยของปุถุชนจะให้การได้อย่างสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติต่อจำเลยในการสอบสวน อีกทั้งเจ้าพนักงานไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืน หรือมีประจักษ์พยานเห็นคนร้ายลงมือยิงผู้ตาย พยานหลักฐานเท่าที่นำสืบในคดีที่มีโทษสูงเช่นนี้ โจทก์ต้องมีพยานที่มั่นคงที่รับฟังได้โดยชัดเจนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด แต่ในคดีนี้พยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจยืนยันได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิด

คดีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อการร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าการโทรศัพท์ติดต่อกันของพวกจำเลยเป็นการพูดคุยเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำผิดร่วมกัน และเป็นบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการก่อการร้ายสร้างความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นผู้ร่วมปฏิบัติการยิงผู้ตายเพื่อก่อการร้าย หรือเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น นอกจากนี้ยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าว และปลัดอำเภอเมืองปัตตานี เบิกความว่าไม่ปรากฏชื่อจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายสร้างความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือมีชื่ออยู่ในสารบบผู้ก่อการร้าย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อการร้ายแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหา ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนปรึกษาหากันแล้ว เห็นว่าโจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย เบิกความว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ด ที่ยึดได้จากเหตุการณ์ระเบิดรถจักรยานยนต์ใน จ.ปัตตานีและเหตุการณ์คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เมื่อปี 2547 ซึ่งทราบว่าจำเลยดังกล่าวได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกัน กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมพวกจำเลยเป็นเวลานาน 1 เดือนเศษ ประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และ 4 ในบันทึกข้อเท็จจริงว่า ทำหน้าที่คอยเฝ้าดู ด.ต.โมหามัด ผู้ตายซึ่งทำงานอยู่ศาลากลาง จ.ปัตตานี เพื่อแจ้งให้ผู้กระทำความผิดรายอื่นๆทราบ โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้ชักชวนให้มาร่วมกระทำผิด และต่อมาหลังเหตุการณ์ ด.ต.โมหามัดถูกยิงเสียชีวิต จำเลยที่ 5 ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ทั้งนี้คำรับสารภาพดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีญาติและทนายความมาสังเกตการณ์อยู่ด้วย

พยานหลักฐานทั้งหมดจึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ พิพากษาว่าจำเลยที่ 1,4 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ส่วนจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุไม่ได้ร่วมกระทำความผิด เนื่องจากไปทำงาน จึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนฆ่าผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นพยานหลักฐานไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 ขณะที่จำเลยที่ 5 มีความผิดเพียงฐานสนับสนุน เพราะไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 5 เป็นเป็นผู้จ้างวานหรือ ตัวการร่วมฐานฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้การก่อเหตุดังกล่าวอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงถือเป็นความผิดฐานก่อการร้ายอีกด้วย

ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรพิพากษาแก้ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1, 4 และ 5 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฆ่าผู้อื่นและก่อการร้ายแต่จำเลยที่ 1 และ 4ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ส่วนจำคุกจำเลยที่ 2, 3 ไม่มีความผิดฐานเป็นสนับสนุน แต่มีความผิดฐานสนับสนุนก่อการร้าย ให้จำคุกคนละ 20 ปี คำให้การเป็นประโยชน์มีเหตุบรรเทาโทษคงจำคุก คนละ 12 ปี 16 เดือน และให้ริบของกลาง

ภายหลังนายกิจจา ฮาลีอิสเฮาะ ทนายความชมรมนักกฎหมายมุสลิม เปิดเผยว่า ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว คงจะกลับไปประชุมกับทีมทนายความว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ขอตั้งข้อสังเกตว่าในคดีทนายความสมชาย นีละไพจิตรนั้น พยานหลักฐานการใช้โทรศัพท์ติดต่อไม่ค่อยจะมีน้ำหนักให้รับฟังในชั้นศาลซึ่งแตกต่างไปจากคดีนี้ ซึ่งระยะหลังศาลจะรับฟังการใช้โทรศัพท์ติดต่อมากขึ้น ก็เคารพคำพิพากษาของศาล
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น