xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาตะโหมดลองผิดถูกนำข้าวไร่ปลูกในนา 2 ปี ให้ผลผลิตเกินคุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - ชาวนาตะโหมด จ.พัทลุง นำข้าวไร่ลงปลูกพื้นที่นา ลองผิดถูก 2 ปี ผลผลิตงอกงามเห็นผล เผยดีใจคุ้มค่าที่ลงทุนไป

วันนี้ (14 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ประสบผลสำเร็จหลังนำข้าวไร่มาปลูกในพื้นที่นา แม้ลองผิดลองถูกมากว่า 2 ปี แต่ปีนี้ได้ผลิตดีจนคุ้มค่าต่อการลงทุน

นางสุดา สักแสง อายุ 59 ปี ชาวนาหมู่ที่ 12 ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า เดิมทีเห็นเพื่อนเกษตรกรปลูกข้าวเหนียวดำในไร่ได้ผล และมีราคาดี แต่ตนเองไม่มีพื้นที่เป็นสวน และที่สูงที่เหมาะสม จึงลองนำมาปลูกในพื้นที่นา แต่เมื่อปลูกในปีแรกไม่ได้ผล ได้ไปขอคำปรึกษาข้อมูลจากนักวิชาการเกษตรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง นักวิชาการเกษตรบอกว่า การนำข้าวไร่มาปลูกในพื้นที่นาไม่เหมาะสม ขอให้หยุดปลูกเนื่องจากไม่คุ้มต่อการลงทุน แต่ตนเองก็ไม่ได้ย่อท้อ กลับมาปลูกซ้ำเป็นปีที่ 2 พบว่า ข้าวไร่ที่นำมาปลูกแตกกอดี และให้ผลผลิตดี จนกระทั่งถึงวันเก็บเกี่ยวพบว่า ข้าวมีน้ำหนักดี และให้ผลิตมาก รู้สึกดีใจ เมื่อเพื่อนบ้านทราบข่าวก็มาขอพันธุ์ข้าวดังกล่าวเพื่อไว้ทำพันธุ์กันหลายราย
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้าวเหนียวช่อไม้ไผ่ PTNC96004-49 โดยได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาข้าวกลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2554 ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการวิจัยและพัฒนา สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2554 และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าวมีมติรับพันธุ์ชื่อ “เหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49” เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูกต่อไป 

ข้าวเหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49 ลักษณะประจำพันธุ์ ผลผลิตเฉลี่ย 363 กก./ไร่ ความสูงประมาณ 135 ซม. กอตั้ง ใบสีเขียวเข้ม กาบใบสีเขียว ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ปลายยอดดอกสีม่วง เมล็ดสีน้ำตาล มีขนที่เปลือกเมล็ด น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด เท่ากับ 34.59 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือกต่อถังเท่ากับ 10.38 กก. ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ 8 สัปดาห์

ลักษณะเด่น เป็นข้าวเหนียวดำพื้นเมือง เมื่อนึ่งสุกมีลักษณะอ่อนนุ่มที่ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้นิยมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นอาหารเสริม หรืออาหารว่าง และใช้ในงานบุญประเพณี ทำให้มีราคาจำหน่ายสูงกว่าข้าวทั่วไป มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีวิตามินบี 1 และวิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามิน E

พื้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับปลูกในบริเวณพิ้นที่นาดอน และสภาพไร่ในภาคใต้ ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ไม่เหมะสมต่อการปลูกในพื้นที่นาลุ่ม
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น