โดย...จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก วันนี้ผู้นำ และประชาชนหลายประเทศกำลังขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และแน่นอนว่า เชื้อเพลิงถ่านหินตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งตั้งแต่การวางแผนจัดการพลังงาน และการจัดการผลกระทบที่เกินกว่าจะเรียกคืน
วิกฤตน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนน้ำผลักดันให้รัฐบาลของหลายประเทศจำต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายพลังงาน และการจัดการพลังงานที่จำเป็นต้องคำนึงทั้งความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน จากรายงานของ World Economic Forum’s Global Risk 2015 ชี้ชัดว่า วิกฤตน้ำเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่ประชากรบนโลกต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกันในอีก 10 ปีที่จะถึงนี้ ซึ่งความมั่นคงของน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอันมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
ในขณะที่กรีนพีซสากลเปิดเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการปล่อยให้อุตสาหกรรมถ่านหินดึงน้ำจากแหล่งน้ำหลัก โดยปราศจากการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งๆ ที่วงจรของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อระบบน้ำจืด ตั้งแต่กระบวนการทำเหมืองถ่านหิน การเผาไหม้ถ่านหิน และการจัดการเถ้าถ่านหิน เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลายประเทศอุตสาหกรรมถ่านหินใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดมากที่สุดเป็นอันดับต้นของความตัองการน้ำในประเทศ
ทั้งนี้ มีการเทียบเคียงการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 500 เมกะวัตต์เพื่อใช้ในการหล่อเย็นนั้น ทุกๆ ราว 3 นาที ต้องดูดน้ำขนาดเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกมาใช้ให้เพียงพอในระบบหล่อเย็นดังกล่าว ในขณะที่บางประเทศกำลังเผชิญหน้าต่อความขัดแย้ง และแย่งชิงน้ำ ผู้ที่มีอำนาจของประเทศเหล่านั้นจึงยืนอยู่บนความท้าทายอันแสนเข็ญในการรักษาความสมดุลของแหล่งน้ำที่ต้องจัดการให้มีใช้ในการผลิตอาหาร การผลิตพลังงาน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชนในเมืองใหญ่ รวมทั้งความจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม
รายงานล่าสุดของกรีนพีซว่าด้วยน้ำและถ่านหินจึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงวิกฤตน้ำจากอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยใช้ข้อมูลจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่อง และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกจนถึงปี 2556 โดยใช้ฐานข้อมูลหลักของ Platts World Electric Power Plant Database ในช่วง 2ปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปี 2556 ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินเครื่องรวมกัน 8,359 โรง และยังอีก 2,668 โรง ที่กำลังรอการอนุมัติจากแต่ละรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น
การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกใช้น้ำจืดราว 19 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นั่นหมายถึงทุกปีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่อง จำนวน 8,359 โรง ใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับความต้องการใช้น้ำพื้นฐานของประชากรมากกว่า 1 พันล้านคน หากมีการรวมการใช้น้ำของการทำเหมืองถ่านหินความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมถ่านหินจะเพิ่มขึ้นราว 22.7 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่ากับความต้องการใช้น้ำพื้นฐานของประชากรราว 1.2 พันล้านคน
ซึ่งภายใต้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ความต้องการใช้น้ำพื้นฐานของประชากร 1 คน จะอยู่ที่ราว 50-100 ลิตรต่อวัน หรือราว 18.3 ลูกบาศก์เมตรต่อคน เทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกที่ต้องใช้น้ำราว 19 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพบว่า มีการใช้น้ำเร็วเกินกว่าที่ระบบน้ำจืดจะสามารถฟื้นตัวได้ทันตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำลังเดินเครื่อง และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำลังเผชิญต่อการขาดแคลนน้ำ และผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศวิทยา ในทุกปีของการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวทันย่อมหมายถึงอุตสาหกรรมถ่านหินได้แย่งชิงน้ำในอนาคตมาใช้ล่วงหน้าแล้วราว 5 ปี
การขาดแคลนน้ำทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและการผลิตพลังงาน การขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายประเทศทั้งแอฟริกาใต้ อินเดีย ตุรกี จีนและโปแลนด์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และต่อเนื่อง ในแอฟริกาใต้ต้องเผชิญต่อภาวะภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบร้อยปี ความน่ากังวลของแอฟริกาใต้อยู่ที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมากถึงร้อยละ 85 อีกทั้งการวางแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ก็ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำลังขาดแคลนน้ำ น้ำที่มีความจำเป็นต้องใช้ป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขณะที่ประชาชนเกือบหนึ่งล้านครัวเรือนในแอฟริกาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และไม่มีน้ำใช้เพียงพอตามขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 25 ลิตรต่อคนต่อวัน
การขาดแคลนน้ำในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทเอสคอมของรัฐบาลนั้นส่งผลให้ทางบริษัทอ้างเหตุผลดังกล่าวในการหลีกเลี่ยงการติดตั้งเทคโนโลยีดักจับมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงไฟฟ้า และไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศฉบับใหม่ได้ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะก่อให้ประชาชนตายก่อนวัยอันควรสูงถึง 20,000 ราย ตลอดการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้
ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ต้องเผชิญต่อวิกฤตบ่อยครั้งจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกับน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จีนเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อป้อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับถ่านหิน และอุตสาหกรรมเคมี โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องใช้น้ำจืดราว 7.4 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แม้ว่าการใช้ถ่านหินในจีนลงลงตั้งแต่ปี 2557 และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จนถึงปี 2562 เพื่อจัดการการล้นทะลักในอุตสาหกรรมถ่านหิน ทั้งนี้ การมีเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่หลายแห่งของจีนทำให้การควบคุมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่เรื่องง่าย และอำนาจในการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนตกอยู่ภายใต้รัฐบาลของแคว้นและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งของจีนอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งสุดของประเทศ
ประเทศที่ประกาศมุ่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเต็มสูบอย่างประเทศไทย กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ที่กำลังเดินเครื่อง และที่กำลังเดินหน้าขยายกำลังผลิต การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ออกมายอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่มีน้ำป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะน้อยสุดในรอบ 20 ปี และสามารถผลิตไฟฟ้าได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น โดยแหล่งน้ำจืดมาจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ หากไม่มีน้ำเพียงพอทางโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะก็จะต้องหยุดเดินเครื่อง ซึ่งขณะนี้การลดลงของแหล่งน้ำดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกษตรกรรมจำเป็นต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงหากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการวางแผนการจัดการน้ำควบคู่กับการวางแผนพลังงานของประเทศ ที่ผ่านมา การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ขาดการศึกษาผลกระทบในภาพรวม หากยังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะก่อให้เกิดความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำของอุตสาหกรรมถ่านหิน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเพิกเฉยต่อการศึกษาเปรียบเทียบการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกับการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการศึกษาวงจรการใช้น้ำตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดพบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าใช้น้ำน้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน