xs
xsm
sm
md
lg

“ครูวีณาจิตอาสา” สลัดคราบอดีต ผอ. หันผลิตสื่อเพื่อเด็กที่อ่านไม่ออก หลายโรงเรียนตอบรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นปัญหาใหญ่ทางการศึกษาของไทย หลายยุครัฐบาลพยายามหาทางแก้ไข และหาสื่อการเรียนการสอนเพื่อก้าวผ่านปัญหาดังกล่าว

ครูวีณา สุทธิพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าหิน ต.ควนขัน อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งได้เกษียณอายุราชการมาปีเศษๆ เป็นอีกคนหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก ด้วยการอุทิศตนมาเป็นครูอาสาสอนอยู่ในโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบย ต.ปูยู และ โรงเรียนบ้านท่าหิน ต.ควนขัน อ.เมือง จ.สตูล

ด้วยเหตุผลหลักคือ รักในความเป็นครู สงสารนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อีกทั้งรัฐยังให้เงินอยู่ และต้องการทำความดีเพื่อถวายให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้เพราะเราเป็นคนไทย อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ต้องแทนคุณแผ่นดิน
 

 
ครูวีณา ใช้สื่อที่คิดค้นผลิตขึ้นมาเอง ตระเวนแบ่งปันประสบการณ์การด้วยการเป็นวิทยากรผ่านคุณครูแต่ละโรงเรียนนำกลับไปใช้ เพื่อผลิตสื่อสอนให้เด็กรู้จักการผสมคำ การสะกดคำ ด้วยการผลิตสื่อใช้แบบภาพเลื่อน และภาพพลิก ซึ่งเห็นว่าใช้แล้วได้ผลจริง

เด็กๆ มีสมาธิในการร่วมเรียนนานยิ่งขึ้น สร้างความสนใจ ตื่นตาตื่นใจ มีส่วนร่วมต่อการเรียนการสอนมากขึ้น จึงขยายผลแบ่งปันด้วยการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้วยสื่อฯ ที่ทำขึ้นมาเองสอนให้ครูตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อส่งต่อไปยังนักเรียนในพื้นที่ จ.สตูล

“ครูวีณาจิตอาสา” เป็นคำเรียกขานที่ครูวีณาชื่นชอบ และมีความสุขมากกว่า คำว่า อาจารย์วีณา หรือ ผอ.วีณา เหตุผลเพราะ ครูวีณาจิตอาสาได้เป็นครู 100% คำว่าเป็นครู 100% คือ ครูได้ทำหน้าที่ครูเต็มที่ ครูวีณา บอกว่า ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ มาจากหลายปัจจัย ที่ปฏิเสธไม่ได้ประการหนึ่งคือ ครูไม่มีเวลามากพอ เพราะต้องสอนนักเรียนด้วย ต้องทำงานธุรการไปด้วย

มีช่วงหนึ่งที่ภาครัฐมีนโยบายคืนครูสู่โรงเรียน โดยการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้รับผิดชอบงาน 3-4 โรงเรียน ซึ่งไม่เพียงพอต่องานที่มีล้นมือ ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
 

 
โอกาสนี้ ครูวีณา ได้เล่าย้อนครั้งยังเป็นผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกยุคสมัย คือ ครูจะทำหน้าที่บริหารไปด้วย เป็นครูสอนไปด้วย โดยจะสอนนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จะแยกนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่อ่านไม่ออกเลย กลุ่มที่พออ่านได้ กับกลุ่มที่อ่านออก

ซึ่งจะทำให้ครูสอนง่ายขึ้น อย่างเด็กที่อ่านไม่ออกเขาก็จะสะกดช้า อ่านช้า และจะตอบในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ตอบเร็วไปเหมือนการสอนรวมๆ กันทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งนี้ ก็ทำให้ครูได้เข้าถึงนักเรียนชนิดตัวต่อตัวมากยิ่งขึ้น

สำหรับสื่อฯ สอนภาษาไทย ที่ครูวีณา ผลิตขึ้นสำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ป.2 จะใช้กระดาษแข็ง ทำในรูปแบบเลื่อนเปิด-ปิด เพื่อผสมเป็นคำต่างๆ โดยใช้สีแดงเขียนตัวสระ สีดำเขียนพยัญชนะต้น สีน้ำเงินเขียนตัวสะกด และสีเขียวใช้เขียนวรรณยุกต์

พร้อมสร้างสีสันให้น่าจดจำ ทำให้เด็กสนุกสนานกับการฝึกอ่าน ซึ่งสื่อที่ครูวีณาทำขึ้นนี้ก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาก่อนจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมส่งต่อแนวคิดการเรียนรู้นี้ให้ครูผู้สอนได้ใช้ต่อไป
 




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น