สุโขทัย - นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตั้งวงถก “จารึกวัดบางสนุก” สนั่นออนไลน์ เชื่อเป็นหลักฐานชี้ชัด “จารึกหลักที่ 1” เป็นของจริง-วังชิ้น เมืองตรอกสลอบ รัฐสุโขทัยยุค “พ่อขุนรามคำแหง”
วันนี้ (4 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กลุ่มประวัติศาสตร์ และศิลปะเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในสังคมออนไลน์ Facebook ได้มีการเผยแพร่ภาพ “ศิลาจารึกวัดบางสนุก” อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่มีอักษรไทยร่วมสมัยกับศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง เป็นหลักฐานยืนยันรูปแบบการเขียนที่มีสระและพยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันนั้น
นายสมชาย เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้มีนักวิชาการบางคนออกมาโต้แย้งว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 สุโขทัย เป็นการทำปลอมขึ้นมาโดย “วชิรญาณภิกขุ” (ร.4) และการวางอักขระของจารึกแปลกไปกว่าแบบขอม มอญ หรือจารึกสมัยหลังมา เช่น สมัยพระมหาธรรมราชาฤๅไทย ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกส่วนหนึ่งที่แตกหัก มีการเรียงอักขระแบบศิลาจารึกหลักที่ 1 อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับศิลาจารึกวัดบางสนุก ที่พระครูอดุลรัตนญาณเจ้าอาวาสวัดบางสนุกเป็นผู้ค้นพบและมอบให้กรมศิลปากร จากนั้นได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปากรปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2509) กำหนดเรียกชื่อว่า ศิลาจารึกวัดบางสนุก หลักที่ 107 อายุประมาณ 677 ปี หรือ พ.ศ. 1882 เนื้อหาเป็นเรื่องราวเจ้าเมืองตรอกสลอบสร้างพระพิมพ์
ทั้งนี้ ชื่อเมืองตรอกสลอบ ที่ปรากฏในจารึกหลักที่ 107 ก็ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า บริเวณเขต อ.วังชิ้น จ.แพร่ น่าจะเป็นเมืองตรอกสลอบในรัฐสุโขทัย ช่วงสมัยพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรวมถึงชาวสุโขทัยหลายคนให้ความสนใจและตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้นด้วย
ขณะที่ความคิดเห็นในกลุ่มประวัติศาสตร์สังคมออนไลน์ระบุว่า ศิลาจารึกวัดบางสนุกมีรูปอักษรเก่าแก่ร่วมสมัยพระยารามคำแหง ที่วังชิ้นนี้เขาว่าเก่าจริง และเป็นหลักฐานว่ารูปอักษรแบบหลักที่ 1 ไม่ได้มีแค่หลักเดียวจึงไม่น่าจะปลอม และอีกความเห็นหนึ่งบอกว่าข้อมูลนี้น่าสนใจมาก เหมือนเคยได้ยินว่ามีจารึกอีกหลักที่ใช้ตัวอักษรคล้ายกัน ถ้าหลักนี้จริงก็จะล้มทฤษฎีเรื่องจารึกหลักที่ 1 ปลอม