กลายเป็นดรามาเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน กับกรณีแบบทดสอบผันอักษรเสียงสูง "ห+สระอี" ของเด็ก ป.1 จนเกิดการตั้งคำถามว่า เหมาะสมแล้วหรือ!? หลีกเลี่ยงไปใช้คำอื่นได้ไหม สุดอึ้ง! คือคำตอบของครูผู้สอน ที่ว่า ควรสอนให้เด็กรู้จักคำนี้ไปเลย ซัดครูภาษาไทยคนไหนที่ไม่เห็นด้วยคือพวก "หัวโบราณ" นอกจากนี้ ฝ่ายหนุนยังชี้ว่า พวกผู้ใหญ่นั่นแหละที่คิดสัปดนลามกไปเอง จะอะไรกันหนักหนาก็แค่เด็กหัดอ่าน! นี่คือการประสมคำ และผันเสียงเท่านั้น
หัวโบราณ! ห+สระอี ไม่ใช่คำไม่สุภาพ!?
กลายเป็นกระแสเมื่อสมาชิกพันทิปท่านหนึ่งได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องการบ้านภาษาไทยเด็ก ป.1 เรื่องการแจกลูกสะกดคำ “สระอีกับตัว ห” และคำตอบของครู ที่ทำให้ผู้ปกครองท่านนี้อึ้ง!
“สวัสดีค่ะ เมื่อเย็นวาน เราสอนหลานที่อยู่ชั้น ป.๑ ทำการบ้านวิชาภาษาไทย เป็นการแจกลูกสะกดคำ เรื่องของสระอี แล้วก็พบคำนี้ค่ะ คือเราให้หลานออกเสียงก่อนจะเขียน เรายอมรับว่าเราอึ้ง เลยโพสต์ถามเพื่อนๆในเฟซฯ ว่ามันเป็นเรื่องปกติมั้ย มีทั้งอาชีพทั่วไปและครูภาษาไทยค่ะ”
เธอเล่าว่า การจากโพสต์ถามเพื่อนก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าไม่เหมาะสม ควรจะหลีกเลี่ยงอักษรสูงที่จะให้เด็กแจกลูกกับสระอีมีตั้งหลายคำ
อย่างไรก็ตาม ยังมีเพื่อนอีกสองคนของเธอที่เห็นต่าง มองว่าเป็นการแจกลูกธรรมดา ให้มองที่เสียงไม่ใช่ความหมายของคำ และเธอยังคิดในใจว่า ครูอาจจะพิมพ์ผิดก็เป็นได้
“รอถามครูดีกว่า ถึงกระนั้นเราก็ตัดสินใจเขียนช็อตโน้ตในการบ้านของหลาน(เขียนด้วยดินสอ) ถามครูว่าพิมพ์ผิดหรือตั้งใจคะ ถ้าตั้งใจ เรามองว่ามีคำอื่นที่เหมาะสมกว่า และลงท้ายว่าด้วยความเคารพ”
สุดตะลึง!เมื่อคุณครูตอบกลับเธอว่า “คุณป้าอย่าคิดมาก ทุกวันนี้คำนี้ไม่ใช่คำไม่สุภาพแล้วนะคะ เราควรสอนให้เด็กรู้จักคำนี้ไปเลยค่ะ พวกครูภาษาไทยที่บอกว่าไม่เหมาะสมนั้นเป็นพวกหัวโบราณหรือเปล่าคะ คุณป้าอย่าคิดแทนเด็กเลยค่ะ พวกเขาไม่คิดอะไรหรอกค่ะ”
เธอผิดหวังกับคำตอบของครูท่านนี้มาก จนมาตั้งกระทู้ถามความคิดเห็นการผันเสียง "ห+สระอี" ว่าเหมาะสมหรือไม่ ทว่า ความคิดเห็นนั้นแตกออกเป็นสองฝ่าย บ้างก็บอกว่า คำอธิบายของคุณครูคนนี้ส่อให้เห็นว่ามีวุฒิภาวะต่ำ!
เด็ก ป.1 ไม่รู้ความหมาย...ผู้ใหญ่คิดสัปดนไปเอง
ฝ่ายที่สนับสนุนการผันคำปัญหานี้ ต่างผนึกกำลังเห็นพ้องต้องกันว่า การสอนของเด็ก ป.1 เป็นการเน้นท่องจำ การประสมคำและผันเสียง ดังนั้นความหมายของคำใดๆ จึงไม่มีความหมายทั้งสิ้น เพราะเด็กเกือบทั้งหมดยังไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำที่อ่านได้
“ความเข้าใจจะสอนในช่วง. ป.4 เป็นต้นไป ส่วนไอ้เรื่องคำลามกหรืออะไรนี่ ผู้ใหญ่เท่านั้นล่ะที่เข้าใจ เด็กน่ะรู้แต่สะกดยังไง ออกเสียงยังไงเท่านั้นล่ะ ที่เหลือน่ะ ผู้ใหญ่คิดสัปดนเองทั้งนั้นเหมือน ฟัก ไทยกะ ฟัก ฝรั่งนั่นล่ะ เสียงเดียวกัน แต่ไทยเอาไปแกง ส่วนฝรั่งเอาไปทำอย่างอื่น ถามว่ามันลามกไหม”
นอกจากนี้ ยังมีผู้คอมเมนต์เห็นด้วยว่า การผันแบบนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว จะทำให้เด็กสะกดและผันวรรณยุกต์ได้แม่นยำเป็นแค่การออกเสียง เทียบเสียง เชื่อหลักการแบบนี้จะช่วยเด็กที่มีปัญหาสะกดคำ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เรียนรู้ได้ง่าย
“ส่วนคำที่มีปัญหาถกกัน ปกติเด็กๆ แค่หัดอ่าน ไม่เห็นเขาจะสนใจนำมาพูด เพราะไม่มีโอกาสพูด ถ้าสิ่งแวดล้อมที่บ้านไม่พูดถ้าเด็กเกิดสนใจถามอธิบายสั้นๆ พอเข้าใจ และบอกถึงว่าไม่เหมาะสมที่จะพูด ไม่สุภาพ เด็กเข้าใจค่ะ เพราะที่เรียนแบบนี้ไม่เกินป.1 เค้าไม่คิดเลยเถิดขนาดที่วิตก และเค้าเคยเรียนรู้ว่าพูดเพราะๆเป็นอย่างไร”
ทว่า ส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า เด็กไม่รู้ความหมายคำนี้หรอก แต่ผู้ใหญ่ต่างหากที่อคติกับคำนี้ไปเอง
"ก็แค่คำอ่าน คุณอคติไปเองว่ามันเป็นคำหยาบ สอนให้เค้ารู้จักเหตุและผลที่จะเลือกใช้คำๆนี้สิ"
ทว่า เมื่อลองสืบค้นคำที่เป็นข้อถกเถียงนี้ใน วิกิพีเดีย ตามคำกล่าวอ้างว่า “ไม่ใช่คำหยาบ” แต่เมื่อเสิร์ชดูจะเห็นเต็มตาว่า “เป็นคำหยาบ” ใช้อ้างถึง อวัยวะสืบพันธุ์หญิง ซึ่งรวมถึง ปากมดลูก และช่องคลอด แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะใช้กันโดยหมายความถึงเฉพาะ ช่องสังวาส หรือ ช่องคลอด หรือหมายความรวมทั้งช่องสังวาส และช่องคลอด แต่ไม่รวมถึงปากมดลูกและมดลูก
เช่นเดียวกับ พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานเล่มปัจจุบัน ที่ให้ความหมายคำว่า ห..อี.. ว่า น.อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงหรือสัตว์เพศเมียบางชนิด
“หยาบคาย” สถานเดียว!
“ไม่มีเหตุผล หรือบริบทที่ดีที่จะใช้เลย เพราะมันคือคำหยาบคายสถานเดียว" หลากหลายเสียงคัดค้านยืนยันว่า เป็นคำหยาบ กระดากปากที่จะพูดออกมา นอกจากนี้ ยังชี้ว่า “ภาษา” ไม่ใช่แค่การออกเสียง แต่เป็นการสื่อสาร ถ้าเป็นเสียงที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการสื่อสาร ก็ควรเลี่ยง
“ผมเกิดมาไม่เคยท่องตอนเรียนนะครับคำนี้ ตอน ป.1 เรียนมานี ชูใจ ที่บอกว่าเด็กขนาดนี้เน้นแต่ท่องไม่เข้าใจความหมายผมว่าไม่จริงหนังสือมานี ชูใจ ป.1 ยังจำได้เลย "นามีรูงู นามีรูปู มานีพาโตมาหาอา มานีพาโตมานา" อะไรประมานนี้ คือเขาจะเอาคำง่ายๆ ที่เด็กเล็กๆ รู้จักแล้วมาใช้ในการสอน ส่วนการผันเสียง ไม่จำเป็นต้องไล่มันทุกพยัญชนะ ทุกสระ เด็กก็ประมวลผลออกเสียงได้ครับ”
“ไม่สมควรที่จะเอามาเป็นแบบฝึกหัดของเด็กเลย เลี่ยงไปใช้คำอื่นก็ได้ มีตั้งเยอะแยะ การไตร่ตรองสิ่งที่ถูกที่ควรก่อนนำมาใช้เป็นเรื่องที่ควรตระหนักให้มากๆในสังคม ไอ้คำตอบที่ว่า อย่าคิดแทน เด็กไม่คิดอะไร ครูภาษาไทยคนอื่นหัวโบราณ เป็นความคิดที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเองเลย แล้วก็เป็นความคิดที่ชี้ถึงศักยภาพของตัวเองด้วยครู มีหน้าที่สั่งสอน และชี้นำเด็กไปในทางที่ถูกที่ควรค่ะ!”
ครูภาษาไทยแนะเรียนรู้ตามวัย...เลี่ยงสอนคำอื่น
คุณครูภาษาไทย ออกโรงรับไม่ได้ ยืนยันว่า คำนี้ไม่ใช่คำสุภาพ และไม่เกี่ยวเรื่องหัวโบราณ หรือ ทันสมัย จี้ถาม เวลาอยู่กับผู้ใหญ่หรืออยู่ในสังคม สามารถพูดคำนี้ได้ไหม ย้ำไม่เหมาะจะนำมาใช้ให้เป็นจุดเด่น ชี้ภาษามีหลายระดับ ภาษาปากใช้กับคนทั่วไป ภาษาทางการต้องอยู่ในความเหมาะสม สรุป การสอนด้วยภาษาปาก เช่นให้เด็กผัน โดยมีครูแนะนำจะดีกว่าเลือกคำนี้มาใส่ใบงานเพียวๆ
"เวลาสอนการแจกลูกคำ โอเค ต้องพยายามให้ครบทั้ง อักษรสูง กลาง ต่ำ ในส่วนของอักษรสูง มี ๑๑ ตัว รวม ห ด้วย ดังนั้นจึงสามารถเลี่ยงไปใช้คำอื่นได้ค่ะ จริงๆ เด็ก ป.1 บางคน เขาก็รู้จักคำนั้นแล้วแหละ แต่ให้เขาเรียนรู้ไปตามวัยดีกว่า เวลาสอนคำว่า หีบ ยังต้องให้สะกดว่า ห อี บ เลย ไม่ใช่ ห อี ยิ้ม ยิ้ม + บ = หีบ”
คุณครูภาษาไทยท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตหลังจากขอดูใบงานทั้งใบของเจ้าของผู้ตั้งกระทู้คำดังกล่าวด้วยว่า ในหนังสือเรียนโบราณ จะยกอักษรมาเป็นชุด อย่างชุดอักษรสูงจะมีอักษรสูงครบทุกเสียง แต่ในใบงานคุณครูท่านนี้มี 12 ข้อ มีอักษรสูง กลาง ต่ำ ครบ ในส่วนของอักษรสูงนั้นจงใจเลือกเอาคำนี้มา แต่คำว่า ผี ฝี ถี ฉี ไม่มี เธอจึงมองว่าหากเป็นชุดคำก็คงหลีกเลี่ยงยาก เพราะ มี หะ หา หุ หู หิ มาแล้วข้ามเสียงอีไปก็จะดูผิดสังเกต ต่างจากใบงานของครูท่านนี้ที่สามารถเลี่ยงได้
ทว่า สิ่งที่คุณครูภาษาไทยท่านนี้ติดใจมากกว่าการใช้คำนี้ คือ แนวคิดของคุณครู ที่ว่า ครูภาษาไทยที่บอกว่าไม่สุภาพนั้นหัวโบราณ สมัยนี้คำนี้ไม่หยาบแล้ว ความคิดนี้เป็นเรื่องน่าห่วงยิ่งกว่า แนะนำ หากครูตอบว่า “เจตนาให้เด็กฝึกอ่าน เด็กยังเล็กอยากให้เขาเข้าใจการสะกดคำ ไม่เกี่ยวกับความหมาย คงจะรู้สึกดีกว่านี้” จะดูเป็นคำตอบที่เหมาะสมตามวัยวุฒิมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เธอเล่าว่า ตอนเด็กๆ เรียนภาษาไทยตอนเช้า คุณครูจะให้ฝึกอ่านกับวิทยุโรงเรียน ไม่เคยเรียนคำนี้ ตอนคุณครูสอนจะให้สะกดคำอื่นๆ เช่น ดี มี สี พอนานไป ก็สะกด ห อี ได้เอง เพราะมันใช้หลักการเดียวกัน
นอกจากนี้ เธอยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องหนังสือเรียนในปัจจุบันนี้ว่า หนังสือเรียนไม่ว่าของกระทรวงหรือสำนักพิมพ์ใดก็เป็นแค่สื่อประกอบการสอน ครูจะต้องดีไซน์การสอนเองตามตัวชี้วัด ของหลักสูตรสถานศึกษา เลือกเองว่าจะนำสิ่งใดมาใช้สอนเด็ก เราจะเอาหนังสือเป็นหลักไม่ได้หนังสือบางเล่มเนื้อหาผิด และพิมพ์ผิดหลายจุด
ดังนั้นจึงมองว่าใบงานของคุณครูสำคัญมาก เพราะกลั่นกรองจากครูแล้ว และเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากใบงานนั้นนักเรียนจะทำบ้างไม่ทำบ้างแบบในหนังสือไม่ได้!
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754