xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรตรังปลูกมัลเบอร์รี่ขาย ได้รับความนิยมจนเป็นที่ต้องการของตลาดรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - เกษตรกรใน ต.นาโยงเหนือ จ.ตรัง ตั้งกลุ่มปลูกหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ขาย จนได้รับความนิยมสูง และเป็นที่ต้องการของพ่อค้าแม่ค้า ทั้งนำไปขายแบบรับประทานสดๆ หรือนำไปปั่นเป็นน้ำผลไม้สร้างรายได้งาม

วันนี้ (29 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางณัฐยมน พุฒนวล ประธานกลุ่มสตรีบ้านนาเมร่ ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มแรก และยังเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง ที่ได้นำหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ มาปลูกในพื้นที่จนให้ผลผลิตออกมามีรสชาติอร่อยเหมือนกับในภาคเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้สินค้ากำลังได้รับความนิยมในท้องตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะผล หรือลูก เพื่อนำไปรับประทานแบบสดๆ หรือนำไปปั่นเป็นน้ำผลไม้ ถึงแม้แปลงมัลเบอร์รี่ อายุ 1 ปีครึ่ง ที่มีอยู่ถึง 160 ต้น จะกำลังให้ผลผลิตถึงวันละ 20 กิโลกรัม หรือต้นละ 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้หาวิธีการบังคับให้มัลเบอร์รี่แต่ละต้นออกลูกปีละ 3 ครั้ง ด้วยการเลือกกิ่งที่มีสีน้ำตาล หรือมีอายุประมาณ 8 เดือน แล้วเล็มใบออกทั้งหมด จากนั้นตัดส่วนปลายกิ่งทิ้ง ก่อนที่จะใช้เชือกโน้มให้ต่ำลงตามแนวขนาน จากนั้นเพียง 2 สัปดาห์ มัลเบอร์รี่ก็จะเริ่มแตกดอกตามแนวกิ่ง รอจนติดผล และเปลี่ยนสีครบ 7 สี ภายในระยะเวลา 60 วัน ก็สามารถเก็บไปจำหน่ายได้ ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มยังใช้วิธีการดูแลแบบธรรมชาติเพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี และปลอดสารพิษ 100% ด้วย
 

 
ดังนั้น จึงมีพ่อค้าแม่ค้ามารับสินค้าไปจำหน่ายต่อในรูปแบบต่างๆ แบบมีเท่าไหร่ก็เอาหมด ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท หรือสร้างรายได้ให้แก่ทางกลุ่มไม่น้อยกว่าวันละ 1-2 พันบาท ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการประโยชน์ด้านการบำรุงสมอง และร่างกาย ขณะเดียวกัน ยังคงมีการตอนกิ่งจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย ในราคากิ่งละ 60 บาท ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มผลิตได้ถึงเดือนละ 500 กิ่ง เนื่องจากมีเกษตรกรโค่นสวนยางพารา หรือพืชอื่นๆ แล้วหันมาปลูกมัลเบอร์รี่กันเป็นจำนวนมาก

หม่อน หรือมัลเบอร์รี่ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ที่มีอายุนานถึง 20 ปี ซึ่งในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส เมื่อปี 2548 จึงได้มีการนำหม่อน พันธุ์เชียงใหม่ 60 หรือพันธุ์แม่ลูกดก มาทดลองปลูกในภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.ตรัง ซึ่งนอกจากในส่วนของผลจะเป็นที่นิยมแล้ว ยังมีการนำใบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย เช่น ไอศกรีม ข้าวเกรียบ ใบชา
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น