xs
xsm
sm
md
lg

“ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส” น้ำพระทัยแม่หลวงสู่ปวงชน สืบสานวัฒนธรรมบนพื้นฐานความพอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พื้นที่เพาะปลูกต้นหม่อนภายในศูนย์
เราคุ้นเคยกันดีกับภาพที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินติดตามเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วแผ่นดินไทยเพื่อเยี่ยมเยือนราษฎร ทรงรับรู้ถึงทุกข์สุขและปัญหาต่างๆของประชาชนอย่างใกล้ชิด อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริต่างๆ เพื่อให้ความรู้และสร้างอาชีพแก่คนไทย อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงความรักความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อคนไทยมาโดยตลอด

โดยเฉพาะการพลิกฟื้นชีวิตของผ้าทอมือไทยที่กำลังจะสูญหายไป โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้จากงานที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้า และการผลิตสินค้าจากผ้าไทย
ผลมัลเบอร์รี่จากต้นหม่อนสายพันธุ์เชียงใหม่
ซึ่งในส่วนของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้น มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริให้ยกฐานะของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งเป็นกรมหม่อนไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาในเรื่องของหม่อนไหมและเส้นใยต่างๆ

สำหรับในส่วนภูมิภาค มีการตั้งศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ซึ่งที่จังหวัดนราธิวาสก็มีการจัดตั้งศูนย์นี้ด้วยเช่นกัน

“ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดนราธิวาส” จัดตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์หม่อนไหมและผ้าไหมไทย ให้อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป และส่งเสริมให้เป็นอาชีพทางเลือกใหม่ พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจของเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน
ต้นกล้าหม่อน สามารถมารับไปปลูกที่บ้านได้
โดยศูนย์แห่งนี้ มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

พื้นที่ตั้งของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.นราธิวาส อยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและวิจัยด้านหม่อนไหมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และดูงาน เกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร รวมถึงผลิตภัณฑ์หม่อนไหม โดยเกษตรกรและประชาชนทั่วไป สามารถติดต่อขอเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ได้
สาธิตการเลี้ยงไหม
ภายในพื้นที่ของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส แบ่งออกเป็นพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีทั้งสายพันธุ์บุรีรัมย์และสายพันธุ์สกลนคร เป็นพื้นที่รวมๆ ราว 15 ไร่ ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับต้นหม่อนสายพันธุ์บุรีรัมย์ มีข้อดีคือให้ใบเยอะ แต่มีข้อเสียคือไม่ทนราสนิมที่เกิดในสภาพอากาศร้อนชื้น ส่วนต้นหม่อนสายพันธุ์สกลนคร ข้อดีคือทนแล้ง แต่แพ้เพลี้ยหอย ซึ่งโดยรวมแล้วต้นหม่อนทั้งสองสายพันธุ์นี้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้ผลผลิตดี

ส่วนต้นหม่อนที่เราเก็บกินผล หรือ มัลเบอร์รี่ เป็นต้นหม่อนสายพันธุ์เชียงใหม่ ซึ่งก็มีปลูกอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้เช่นกัน ต้นหม่อนสายพันธุ์เชียงใหม่สามารถออกลูกได้ทั้งปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างดี

ต้นหม่อนทั้งสามสายพันธุ์นี้ หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสนใจอยากนำไปปลูก ก็สามารถมาติดต่อขอรับต้นกล้าที่ศูนย์ได้เลย
วิธีการสาวไหมเพื่อทำเส้นด้าย
สำหรับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของศูนย์ฯ ยังแบ่งออกเป็นอาคารสาธิตการเลี้ยงไหม การสาวไหม ปั่นด้าย ทอผ้า และยังมีโรงเรือนอื่นๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหม่อนไหมอย่างครบวงจร

การให้ความรู้และการประกอบอาชีพในพื้นที่ เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ทำให้คนไม่ต้องดิ้นรนออกไปหางานนอกพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นของความสุขในครอบครัวที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ขยายความสุขไปสู่ชุมชน และเป็นการพัฒนาสังคมบนพื้นฐานของความพอเพียง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น