xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงไหมด้วยเทคโนโลยีแสง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยผลิตเส้นไหมได้ไม่ถึง 1% ของตลาดเส้นไหมทั่วโลก
ผลงานนักวิจัยไทยกำลังเปลี่ยนโฉมวงการไหมไทย ด้วยก้าวไหมที่นำเทคโนโลยีแสงมาช่วยนับจำนวนไข่ไหมที่มีขนาดเล็กมากและต้องอาศัยแรงงานที่มีความชำนาญในการตรวจนับ รวมถึงการคัดแยกเพศด้วยเทคโนโลยีแสงที่ช่วยให้การจับคู่ผสมพันธุ์ของผีเสื้อไหมไม่เสียเวลาเปล่า ซึ่งนำไปสู่การเกษตรที่แม่นยำ คาดการณ์ผลผลิตได้ และนำไปสู่การวางแผนการตลาด

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ไปเยือนศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สระบุรี) ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.เฉลิมกระเกียรติ จ.สระบุรี ท่ามกลางแปลงปลูกหม่อนและทิวเขาที่เห็นอยู่ไกลๆ ภายในศูนย์ดังกล่าวได้เริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีระบบตรวจนับไข่ไหมและระบบตรวจเพศดักแด้หนอนไหมด้วยแสง ซึ่งเป็นผลงานของทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารจัดการด้านหม่อนไหม

วัชรพงษ์ แก้วหอม ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สะบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ที่ผลิตไข่ไหมส่งให้แก่เกษตรกรในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก กล่าวถึงปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานคุณภาพสำหรับตรวจนับปริมาณไข่ไหมสำหรับส่งเกษตรกร และแรงงานที่มีอยู่ก็เริ่มสูงวัยทำให้สายตาไม่ดีเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีเสียงร้องเรียนจากเกษตรกรในเรื่องปริมาณไข่ไหมที่ไม่ตรงตามจำนวน ซึ่งระบบตรวจนับไข่ไหมได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

ทางศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สะบุรี ผลิตไข่ไหม 2 แบบ คือ ไข่ไหมสำหรับจำหน่ายแก่เกษตรกรเพื่อผลิตเส้นไหม และไข่ไหมสำหรับผลิตพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตไข่ไหมจำหน่ายเกษตรกร โดยทางศูนย์จะเก็บ “ไข่ร่วง” หรือไข่ไหมที่วางบนผืนผ้าเพื่อนำไปชั่งตวงก่อนผลิตเป็น “ไข่แผ่น” สำหรับจำหน่ายเกษตรกร ซึ่งจากการสุ่มชั่งน้ำหนักไข่ 3 ซ้ำ (3 ครั้ง) ได้ค่าเฉลี่ยไข่หนัก 0.1 กรัม จะมีปริมาณไข่ 223.3 ฟอง

“เมื่อต้องการผลิตไข่แผ่นให้ได้ 22,000-23,000 ฟอง ต้องใช้ไข่หนัก 10.3 กรัม ไข่ 1 ฟองจะให้รังไหม 1 รังที่ผลิตเป็นเส้นไหมได้ 1.4-1.5 กรัม ดังนั้น ไข่แผ่นหนึ่งจะผลิตเส้นไหมได้ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ซึ่งเส้น 1 กิโลกรัมจะขายได้ประมาณ 1,500-2,000 บาท เมื่อเราทราบว่าผลิตไข่ได้เท่าไรและส่งไข่ให้เกษตรกรเท่าไร เราก็คาดการณ์ปริมาณเส้นไหมที่จะออกมาได้ และนำไปสู่การวางแผนการตลาดต่อไป” วัชรพงษ์กล่าว

ตลอดทั้งปีศูนย์ฯ ผลิตไข่ไหมได้ 14,170 แผ่น และได้ทดลองนำไข่แผ่น 10% ของทั้งหมดที่ผลิตได้เข้าทดสอบระบบตรวจนับไข่ไหม ซึ่งใช้เครื่องสแกนบันทึกภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แล้วใช้โปรแกรมที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image Processing) โดยนักวิจัยเนคเทคเพื่อตรวจนับปริมาณไข่ไหม ซึ่ง ผอ.ศูนย์ระบุว่า ยังไม่นำไข่ทั้งหมดเข้าระบบตรวจนับ เพราะยังไม่ทราบว่าแสงจากเครื่องสแกนนั้นมีผลต่อไข่หรือไม่ และต้องเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ผลต่อไป

นอกจากนี้ไข่แผ่นแต่ละแผ่นยังมีหมายเลขกำกับและระบุชัดเจนว่าส่งไปที่ไหน ผลิตโดยศูนย์ฯ ใด เมื่อหนอนไหมฟักแล้วยังนำแผ่นไข่ดังกล่าวกลับมาตรวจว่าไข่ฟักไปเท่าไร ข้อมูลดังกล่าว วัชรพงษ์ระบุว่า จะใช้เพื่อพัฒนาเป็นข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ว่า พื้นใดเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์อะไร อีกทั้งยังคาดการณ์ปริมาณการผลิตรังไหมและเส้นไหมในแต่ละพื้นที่ได้

ส่วนการคัดแยกเพศดักแด้หนอนไหมโดยปกติจะใช้แรงงานคนคัดแยก โดยแรงงาน 1 คนจะคัดแยกเพศหมอนไหมได้วันละ 19 กิโลกรัม เมื่อคัดแยกเพศได้แล้วจะนำไปเข้าคู่ผสมพันธุ์เพื่อผลิตไข่ไหมต่อไป หากมีการคัดแยกผิดจะทำให้การจับคู่ผีเสื้อไหมสูญเปล่าและไม่ได้ไข่ไหมตามต้องการ ทางศูนย์ฯ จึงได้นำระบบตรวจเพศดักแด้หนอนไหมความแมนยำสูงด้วยแสงของทีมวิจัยเนคเทคมาทดลองใช้

จักรกฤษณ์ กำพงศี หนึ่งในทีมพัฒนาระบบตรวจเพศดักแด้หนอนไหม อธิบายว่าเครื่องคัดแยกดังกล่าวคัดแยกเพศดักแด้ได้โดยจัดวางดักแด้ในถาดที่หมุนเข้าเครื่องฉายแสงส่องบริเวณก้นของดักแด้หนอนไหม ซึ่งมีลักษณะบ่งบอกถึงเพศที่แตกต่างกัน และเครื่องจะดีดดักแด้ไปตามช่องที่แยกระหว่างเพศผู้กับเพศเมีย โดยคัดแยกได้นาทีละ 60 ตัว

ในการใช้งานระบบตรวจเพศดักแด้มีทั้งระบบอัตโนมัติที่ใช้โปรแกรมคัดแยก และระบบที่ใช้คนคัดแยกผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงภาพขยายขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนกว่าใช้แว่นขยาย ซึ่งจักรกฤษณ์บอกแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในระยะแรกเริ่มต้องฝึกให้เจ้าหน้าที่คุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือก่อน จึงเลือกใช้ระบบที่คัดแยกด้วยคนก่อน และยังได้นำระบบการคัดแยกเพศดักแด้ไปใช้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมาด้วย

ด้าน นายสฤษดิพร ชูประยูร รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวถึงความร่วมมือในนำงานงานวิจัยของเนคเทคมาใช้ในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพะเกียรติฯ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่อง “ระบบอัจฉริยะไหมไทย” (Smart Thai Silk) ซึ่งแม้ว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นอาชีพที่ผูกติดกับวัฒนธรรมและประเพณี เกษตรกรไม่ต้องจากบ้านเกิดไปหางานทำต่างถิ่น ช่วยให้ครอบครัวอบอุ่นและลดปัญหาสังคม

“ปริมาณการผลิตเส้นไหมทั่วโลกนั้น จีนผลิตได้ถึง 84% ของปริมาณทั้งหมด ส่วนไทยผลิตได้ไม่ถึง 1% ปัญหาการผลิตเส้นไหมของไทยคือเรื่องต้นทุนเป็นหลัก และยังมีเรื่องผลผลิตที่ได้น้อย ตลอดจนเรื่องตลาดและคุณภาพ ในการแก้ปัญหาเราต้องเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบตั้งแต่การตรวจนับไข่ไหม ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เกาตรกรได้รับไข่ไหมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศซึ่งช่วยพยากรณ์ได้ว่าเหมาะสมที่จะเริ่มเลี้ยงไหมหรือยัง มีเครื่องควบคุมคุณภาพการฟัก” นายสฤษดิพรระบุ

รองอธิบดีกรมหม่อนไหมยังกล่าวถึงข้อดีของการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยไทยว่า เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยเอง ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากมาราคาแพงกว่าแล้วยังมีอุปสรรคในเรื่องการซ้อมบำรุง อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาเองยังสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรไทยมากกว่า

ทางด้าน ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวถึงความร่วมมือกับกรมหม่อนไหมว่า เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเนคเทค เพราะเนคเทคไม่มีความรู้เรื่องหม่อนไหมเลย จึงได้ลงพื้นที่เพื่อขอความรู้เพิ่มเติมและพิจารณาว่ามีโจทย์ใดบ้างที่เนคเทคเข้าไปช่วยเหลือได้ ซึ่งงานด้านหม่อนไหมนั้นดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทสเลย แต่เทคโนโลยีสารสนเทศก็ช่วยให้งานสะดวกและรวดเร็วขึ้น

“บางอย่างเราสั่งซื้อเข้ามาได้เลย แต่ทางกรมเลือกที่จะเริ่มจากโจทย์ในไทย เพื่อต่อยอดและบำรุงรักษาได้เอง ซึ่งเราไม่เคยยุ่งกับการเกษตรขนาดนี้ เป็นการแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทส ปูพื้นฐานให้คนของเราทำอะไรได้เอง ซึ่งในอาเซียนก็มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมคล้ายกับไทย อนาคตเราอาจขยายเทคโนโลยีของเราไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้” ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าว
ไข่แผ่น ซึ่งได้จากไข่ไหมที่เกลี่ยลงบนแผ่นกระดายทากาวแป้งเปียก เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกร
เครื่องตรวจนับไข่ไหมซึ่งใช้บันทึกภาพไข่แผ่นด้วยเครื่องสแกนเพื่อตรวจนับด้วยโปรแกรม
วัชรพงษ์ แก้วหอม และไข่แผ่น
เจ้าหน้าที่แยกดักแด้หนอนไหมจากรัง ก่อนคัดแยกเพศเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์เมื่อกลายเป็นผีเสื้อ
เจ้าหน้าที่คัดแยกเพศดักแด้หนอนไหม
ดักแด้หนอนไหมตัวผู้ (ซ้าย) มักมีขนาดเล็กกว่าและมีสีที่คล้ำกว่าดักแด้หนอนไหมตัวเมีย (ขวา)
บริเวณส่วนคัดแยกเพศดักแด้หนอนไหม ตัดภาพแสดงลักษณะอวัยวะเพศเมีย (ซ้าย) และเพศผู้ (ขวา) กำกับไว้
เครื่องคัดแยกเพศดักแด้หนอนไหมด้วยแสงและโปรแกรมคอมพิวเตอร์
บริเวณอวัยวะเพศเมียจะโปร่งแสงกว่าเพศผู้ ซึ่งค่าแสงที่วัดได้เป็นตัวกำหนดการแยกเพศ ในภาพคือตัวเมีย







แม่คำนาง ศรีสะอาด ชาวบ้านในพื้นที่บ้านคำปลาหลาย จ.ขอนแก่น ปรับตัวรับแล้งด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ดาวเรือง มะลิ รัก มะนาว พริก แทนการปลูกข้าว สร้างรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท โดยใช้น้ำจากสระเก็บกักในหมู่บ้าน หน้าแล้งนี้จึงไม่มีอดตาย อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #savewater #adtvscience #kohkhean #thailand #farmer #water #crisis #flower #garden

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น