xs
xsm
sm
md
lg

ตามหานายหนังตะลุง : นักเล่านิทานในยามวิกาล “หนังจรูญน้อย หัวไทร” / จรูญ หยูทอง-แสงอทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอทัย 
--------------------------------------------------------------------------------
 
“หนังจรูญ จันทร์นุ่น”  เป็นนายหนังตะลุงคนหนึ่งแห่งจังหวัดพัทลุง ใช้ชื่อคณะหนังตะลุง “หนังจรูญ น้อยหัวไทร” เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ ที่บ้านเลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๗ ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ นายดำ มารดาชื่อ นางริ่น มีพี่น้อง ๗ คน ชาย ๓ คน หญิง ๔ คน นายจรูญเป็นคนที่ ๔ ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๑๙๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลโคกชะงาย อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง สมรสกับนางประคิ่น ชาวจังหวัดพัทลุงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ มีบุตร ๓ คน
 
จรูญ จันทร์นุ่น เริ่มเข้าโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดโคกสูง ตำบลแหลม จบชั้นประถมปีที่ ๔ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนไพรัชศึกษา ตำบลเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
 
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วออกไปทำนา จนกระทั่งอายุ ๑๙-๒๐ ปี เริ่มหัดหนังตะลุง โดยไปขอเป็นศิษย์หนังเคล้าน้อย อยู่ได้ ๑ ปี จนหนังเคล้าน้อยบวชเลิกเล่นหนังตะลุงชั่วคราว นายจรูญ จึงไปขอเป็นศิษย์หนังแคล้ว เสียงทอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อีก ๑ ปี กลับไปอยู่บ้านเดิมที่อำเภอหัวไทร เพื่อคัดเลือกทหาร
 
จากนั้นก็กลับมาอยู่พัทลุงอีกครั้งในราว พ.ศ.๒๕๑๒ โดยมาเช่าบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองพัทลุง ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๓ จึงเริ่มออกโรงแสดงครั้งแรกที่วัดแพรกหา ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในงานบวชนาค จากนั้นก็แสดงเรื่อยมา มีการประชันโรงก็หลายครั้ง มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง
 
การประชันได้รับรางวัลครั้งแรกคือ ประชันกับ หนังประเสริฐน้อย ที่ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง หนังที่มีชื่อเสียงที่เคยประชันโรงด้วย เช่น หนังจูลี้ เสียงเสน่ห์ ตรัง, หนังวิเชียร สงวนศิลป์ นครศรีธรรมราช, หนังรุ่งฟ้า พัทลุง, หนังศรีพัฒน์ เกาะสมุย, หนังฉิ้น ธรรมโฆษ สงขลา, หนังนครินทร์ ชาทอง สงขลา และหนังเดะแม ยะลา เป็นต้น
 
หนังจรูญน้อย แสดงมาแล้วเกือบทั่วภาคใต้ และเคยไปแสดงที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทด้วย  นอกจากนั้น หนังจรูญน้อย ยังเคยไปแสดงในประเทศมาเลเซีย ในงานสมโภชอุโบสถวัดศรีมะลิวัลย์ รัฐเคดาห์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นเวลา ๕ คืน
 
แนวการแสดงของหนังจรูญน้อย จะแสดงเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ บ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะแสดงเรื่องทำนองนวนิยายร่วมสมัย บทหนังเขียนขึ้นมาเองบ้าง จากหนังเคล้าน้อย ซึ่งเป็นอาจารย์บ้าง ซื้อมาบ้าง ผู้ที่เขียนบทหนังขายหนังจรูญ คือ ครูกลิ่น หัสดินทร แห่งโรงเรียนบ้านลานข่อย และนายสมชาย  ใจเหล็ก สำนักงานชลประทานจังหวัดพัทลุง ถ้าเขียนขึ้นเองจะเอาแนวจากละครวิทยุ จากภาพยนตร์จีน จากนวนิยายในนิตยสารต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องขึ้น
 
การแสดงของหนังจรูญน้อย มีตัวตลกเฉพาะของตน นอกเหนือจากตัวตลกทั่วไปคือ ตัว “โมงใน”
 
โมงในนี้หนังจรูญน้อยแกะขึ้นโดยเลียนแบบบุคลิกของคนในหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อ เขียวโมง ลุงเขียวโมงเป็นคนไม่เต็มเต็ง และค่อนข้างตะกละคล้ายอ้ายโถของหนังนครินทร์ ชาทอง ลุงเขียวโมงชอบกินแกงวัว ถ้ามีงานเจ้าของงานแกงหมูแกไม่ชอบ ถ้าแกงวัวแกจะอยู่จนกระทั่งงานเลิก หนังจรูญแอบถ่ายภาพด้านข้างของลุงเขียวโมงขณะยังมีชีวิตอยู่เอาไว้ พอแกตายจึงเอามาเป็นแบบแกะเป็นตัวตลก และใช้โมงในนี้เป็นตัวตลกเอกประจำคณะตน โดยให้อยู่กับไอ้สีแก้ว ไอ้ยอดทองบ้าง กับไอ้นุ้ย ไอ้เท่งบ้าง การตลกตัวอื่นๆ ก็เหมือนธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับอ้ายโมงในให้ตลกเรื่องกิน
 
แต่หนังจรูญถือคติว่า ตลกอย่างไรก็ตาม แต่จะไม่ปล้นศีลธรรมของประชาชน ดังนั้น แนวตลกหนังจรูญน้อย จึงเป็นแบบให้ผู้ชมได้คติข้อคิดในเชิงสร้างสรรค์ เช่น ตลกเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า การรักษาความสะอาด การทำลายธรรมชาติ การป้องกันรักษาสุขภาพ เป็นต้น
 
โดยหนังจรูญน้อย ถือว่า โดยลักษณะนิสัยคนเราไม่ชอบการห้าม และการบอกตรงๆ แต่ถ้าหนังตะลุงบอก หรือเสนอผ่านไปทางรูปตลกนั้นคนดูจะรับได้ดีกว่า 
 
หนังจรูญน้อย หัวไทร โดยเชื้อสายศิลปินแล้ว นับเป็นเชื้อสายศิลปินชื่อดังของภาคใต้ทีเดียว คือฝ่ายมารดามาทางสายหนังปานบอด หนังประวิง หัวไทร ฝ่ายทางบิดา เชื้อสายเดียวกับหนังจันทร์แก้ว หนังแคล้ว เสียงทอง และเพลงบอกเผียน
 
หนังจรูญน้อย นอกจากแสดงหนังตะลุงแล้ว ยังช่วยเหลือราชการ และงานสังคมหลายด้าน เช่น เคยเป็นตัวแทนของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง เข้ารับการอบรมการสื่อสาระบันเทิงที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
 
ก่อนเสียชีวิต  หนังจรูญน้อย  หัวไทร  ช่วยงานศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุงในฐานะที่ปรึกษาด้านศิลปินพื้นบ้าน นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของกระทรวงสาธารณสุข  เป็นกรรมการศึกษานอกโรงเรียนวัดโคกม่วง เป็นต้น
 
--------------------------------------------------------------------------------
 
เอกสารอ้างอิง 
 
- ครื่น  มณีโชติ.  “จรูญ  จันทร์นุ่น : หนังตะลุง”,  ใน  สารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ภาคใต้  เล่ม  ๓.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ธนาคารไทยพาณิชย์,  ๒๕๔๒.  หน้า  ๑๔๖๓.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น